"สุขุม นวลสกุล" ชี้จุดเสี่ยงรัฐบาลทหาร "เสียสัตย์เมื่อไหร่ กลายเป็นจำเลย"
 


"สุขุม นวลสกุล" ชี้จุดเสี่ยงรัฐบาลทหาร "เสียสัตย์เมื่อไหร่ กลายเป็นจำเลย"



สัมภาษณ์พิเศษ

เมื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" รับตำแหน่ง "ประมุขฝ่ายบริหาร" ด้วยตัวเอง เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ควบตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังเป็นผู้เลือกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจล้นกระดาน ทั้งบริหาร-นิติบัญญัติอยู่ในมือของ "พล.อ.ประยุทธ์"

ยิ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังประกอบด้วย "นายพล" ไม่น้อย ทำให้หลายฝ่ายมองว่าจะนำไปสู่การใช้อำนาจที่ "เบ็ดเสร็จ" แม้จะมีรูปแบบการบริหารประเทศแบบรัฐบาลปกติก็ตาม




"สุขุม นวลสกุล" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิเคราะห์ผ่านหน้ากระดาษ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึง "จุดเสี่ยง" ที่ "พล.อ.ประยุทธ์" และพวกพ้องต้องเผชิญ แม้ "นายกฯนายพล" เคยกล่าวไว้ว่า "ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งต้องทำตัวให้เล็กลง" แต่ปัจจัยที่ทำให้โรดแมปคืนความสุขไขว้เขวก็มี และอาจถูกเช็กบิลย้อนหลังตามทรรศนะของ "อาจารย์สุขุม" ปรากฏในบรรทัดถัดไป


วิเคราะห์โฉมหน้ารัฐบาลใหม่อย่างไร

เป็นรัฐบาลในเครื่องแบบ คงเห็นบรรดาขุนศึก นายพล เห็นข้าราชการประจำ จะคิดว่ายังไงก็แล้วแต่ แต่หน้าตาจะเหมือนกับตัวแทนข้าราชการประจำ คณาธิปไตยในเครื่องแบบ ส่วนจะส่งผลกระทบหรือไม่ คงกระทบในลักษณะสากล แต่ในประเทศอยากให้คนเชื่อมั่นว่าคืนความสุข กลุ่มนี้ที่ยึดอำนาจมาจะเป็นผู้คืนความสุข ภาพเหล่านี้ไม่ผิดกับกลุ่มยึดอำนาจ เพียงแต่ถอดเสื้อออกมาใส่สูทผูกไท

แต่ในสากลถ้ารัฐมนตรีต่างประเทศเป็นทหาร ภาพก็อาจไม่ค่อยดี ไม่ค่อยสร้างความมั่นใจให้กับโรดแมป คือ การคืนประชาธิปไตย เพราะความน่าเชื่อถืออาจไม่เท่ากับรัฐบาลพลเรือนสมัยก่อนที่มาหลังการยึดอำนาจคือ คุณอานันท์ (ปันยารชุน) พล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์) ก็นอกราชการ แต่หนนี้เป็นข้าราชการก็เป็นได้ เพราะบางครั้งมีปัญหาเหมือนกันว่า ตัวเป้งๆ ที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมามีที่ลงให้เขาไหม เพราะมันแน่นเหมือนกัน กระทรวงสำคัญๆ เช่น กลาโหม คงไม่มีปัญหา แต่พอมาถึงกระทรวงการต่างประเทศ ถ้าเป็นทหารอาจมีความรู้สึก


พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จะเหมือนหรือต่างกับรัฐบาลที่มีนายกฯเป็นทหารในอดีตหรือไม่


ความต่างต้องถามว่าต่างจากรัฐบาลชุดไหนเพราะรูปแบบของทหารที่เป็นนายกฯมีหลายรูปแบบ แต่เท่าที่ดู พล.อ.ประยุทธ์เหมือนอยากให้เป็นแบบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือพระเอกคนเดียว สังเกตได้จากการพบประชาชนต่างๆ ออกมาคนเดียว ไม่มีลักษณะนั่งเป็นคณะบุคคล เป็นรูปแบบเด็ดขาดเหมือนจอมพลสฤษดิ์


การบริหารสไตล์เด็ดขาดแบบจอมพลสฤษดิ์ในยุคนี้จะมีจุดบวกจุดลบอย่างไร


คือมันจะมีคนต่อต้านเยอะ...แต่เวลาเดียวกันก็เป็นจุดให้คนพอใจดูจากโพล ความพอใจ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งหลาย ชอบอะไร...ชอบความเด็ดขาด เพราะไอ้ความที่เบื่อรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทำให้หันมาชอบความเด็ดขาด แต่ความเด็ดขาดมันสร้างกลุ่มต่อต้านไม่ยอมรับกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเด็ดขาดบนความถูกต้อง เช่น กับพวกรุกป่า เสียงเชียร์มันต้องดัง แต่ถ้าเด็ดขาดในเรื่องคลุมเครือ หรือเด็ดขาดในเรื่องที่ไม่ควรจะเด็ดขาด เอ๊ะ...ใช่เหรอ มันก็อาจเป็นอีกแบบ อาจเป็นคำกล่าวหาเรื่องเผด็จการ เช่น เด็ดขาดในเรื่องปฏิรูปพลังงาน ประกาศใช้อำนาจจำคุกอย่างนี้จะเสียหาย เพราะเรื่องนี้คนดูว่าน่าจะรับกันได้ อย่างเช่น การแสดงความเห็น แต่ถ้าเด็ดขาดกับพวกที่ไปยึดทำเนียบ อย่างนี้คนยอมรับได้ เพราะความเดือดร้อนที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นอยู่ การทำมาหากิน มันต้องฟัง ต้องให้โอกาส ถือเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ ราคาข้าว ราคายางตกต่ำผมก็มีสิทธิ์โวยวาย


การที่ ครม.และ สนช.มีแต่ทหาร ภาพลักษณ์จะกลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือไม่

อาจจะดูแบบนั้นได้ แต่สิ่งที่ถูกจับตาน่าจะเป็นไปตามโรดแมป อย่างแค่ท่านประยุทธ์พูดว่าจะมี ครม.เดือนตุลาคม แค่นี้ก็ชักตั้งข้อสงสัย ตอนหลังที่ให้คุณวินธัย สุวารี (โฆษก คสช.) ออกมาแถลงแก้ ผมไม่แน่ใจว่าพูดผิดจริง หรือเห็นว่ามันพลาดไปแล้ว (หัวเราะ)


การตั้งรัฐบาลและตั้ง สนช.ทำไมถึงเน้นแต่ทหาร

เพราะเขายึดอำนาจมา เมื่อก่อนเขาปล่อย จึงมีคำว่า "เสียของ" ตามมา หนนี้เขาเชื่อว่าทหารเท่านั้นที่จะเป็นฐานสนับสนุนเขา ที่ตั้งขึ้นมาเรียกง่ายๆ ว่าเป็นรูปแบบเพื่อสนับสนุน เออ...เราก้าวเข้าสู่การเป็นนิติรัฐ แต่มองไปกองนี้ก็เป็นทหารที่สั่งการได้ ถ้าเกิดมีคนคิดใช้ สนช.แสดงบทบาทถ่วงดุล เขามั่นใจได้ว่าจะคอนโทรลหรือดูแลได้


แต่ทหารร่วมร้อยคนใน สนช.ก็เพียงพอแล้ว ทำไมต้องมีรัฐมนตรีจำนวนมากเป็นทหารอีก


ความไว้ใจ แต่พอมาดูจริงๆ คนที่ไม่ใช่ทหาร ตัวแสดงต่างๆ ในบ้านเราถือข้างเกือบทั้งนั้น แต่อันนี้มันเป็น คสช. เหมือนกับเน้นว่ามาจากกองทัพนะ เขาคิดว่าคนเชื่อมั่นทหารอันนี้อาจจะมีส่วน เพราะสังเกตว่าระยะก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ นิยมใส่ชุดทหาร ให้เกิดความเชื่อมั่นทหารเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ สมัยนั้นชอบใส่ชุดทหารพับแขน


เป็นไปได้ไหมที่ คสช.ย้อนไปดูในยุค คมช.ปี′49 ที่มีแต่พลเรือนบริหารประเทศจนทำให้เกิดเสียของ

ก็นั่นสิ ก็มีส่วนตรงนี้ ความเป็นทหารคล้ายๆ ให้คนเชื่อว่าทหารนะที่เป็นคนยึดอำนาจ ทหารที่เป็นคนดำเนินต่อไป คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้มันคงเกิดขึ้นจริง เพราะกลุ่มเดียวกันเป็นคนทำ ไม่เหมือน คมช.ยึดอำนาจปั๊บ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ทำ มันออกมาในรูปนั้นได้


การมีทหารจำนวนมากทำดีอาจเสมอตัว แต่ถ้าพลาดก็เสียของทันที

แต่แบบเก่ามันเสียของไปแล้ว อันนี้ก็ลองไง ลองดู ถ้าจะว่าไปในประวัติศาสตร์บ้านเราก็ยังมีคนเก่าๆ ที่ชอบจอมพลสฤษดิ์ ถือเป็นนายกฯ คนหนึ่งที่นำความเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่ประเทศไทยหลายอย่าง เช่น กระจายการศึกษาออกชนบท ตั้งมหาวิทยาลัยตามภูมิภาค จอมพลสฤษดิ์ค่อนข้างกระจายความเจริญ


การใช้อำนาจแบบจอมพลสฤษดิ์ในยุคปัจจุบันจะไปด้วยกันได้หรือไม่

มันไปกันไม่ได้เพราะตอนนั้นปี 2500 การสร้างกระแสมันไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้ วันนี้ถ้าท่านทำพลาดปั๊บ แป๊บเดียวรู้ทั้งประเทศ ประเด็นจุดขึ้นมาถ้าถูกใจคน ทั้งประเทศขานรับได้ มันสื่อสารเป็นพลังอย่างหนึ่ง


การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทั้งนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร มันก็อาจไม่เป็นผลดี

มันอาจสะใจในบางเรื่อง ตัวอย่างง่ายๆ สมมติอยู่ดีๆ ออกมาประกาศประหารชีวิตคนที่ข่มขืนบนรถไฟ คนปรบมือทั้งประเทศ ยิ่งระยะจับได้คนกำลังอยากเห็น แต่ถ้าประกาศทันทีจำคุกคนที่เดินขบวนพลังงานก็จะถูกต่อต้าน คนก็จะรู้สึกว่าทำไมขนาดนี้ แต่ที่ผ่านมาคนพอใจ แค่ยึดอำนาจแล้วกลุ่มที่ยึดพื้นที่อยู่สลายหมดคนก็พอใจแล้ว รัฐบาลทำไม่ได้เห็นไหม คสช.ทำได้ จากนี้ไปพอเป็นรัฐบาลในรูปแบบนายกรัฐมนตรี กระแสผู้คนที่เรียกร้องสิ่งต่างๆ จะมีเพิ่มขึ้น ก็ต้องดูท่าทีรัฐบาล


1 ปีจากนี้ สิ่งไหนรัฐบาลควรแตะหรือไม่ควรแตะ


เรื่องไม่ควรแตะผมไม่ทราบ แต่เรื่องสำคัญคือท่านสัญญาอะไรไว้อย่าเผลอปล่อย เผลอแป๊บเดียวมันถึงเวลา ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ผมกลัวจะเพลินแต่กับตรงนี้จนลืมแก้ปัญหาที่เป็นจุดหมายของการยึดอำนาจ ดังนั้น ทุกอย่างต้องไปเป็นตามโรดแมป


สิ่งที่เสี่ยงที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะเผชิญคืออะไร


ก็นี่แหละการใช้อำนาจ ถ้าใช้อำนาจมากเกินไปจนคนเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน หลังจากพ้นภาวะคับขันช่วงนี้ไปแล้ว มันต้องเปลี่ยนท่าทีเหมือนกัน เช่น ตั้งสภาปฏิรูปฯ (สปช.) ไปแล้ว มีบางกลุ่มที่ไม่ใช่สมาชิก สปช. แต่อยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลง จัดชุมนุม แต่ไปห้ามเขามันมองดูว่าเผด็จการนะ เรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพระวังให้ดี ถ้าจะเอาอำนาจไปคุมสิ่งเหล่านั้น เพราะวันนี้ประชาชนชอบความเด็ดขาด และเน้นไปยังเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ปัญหาแท้จริงที่ทำให้วุ่นวายคือปัญหาการเมือง ปัญหาการเลือกตั้ง ปัญหาการบริหารราชการ ปัญหายุติธรรม คนทั่วไปอาจไม่รู้สึกอะไร แต่คนที่สร้างความเดือดร้อนทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เขาติดใจสิ่งเหล่านี้ วันนี้รัฐบาลอย่ามัวแต่แก้ปัญหาเศรษฐกิจเพลิน ปัญหาที่คืบคลานมาคล้ายกับที่ท่านประยุทธ์บอกว่า เป็นคลื่นใต้น้ำอยู่


พล.อ.ประยุทธ์ควรแก้ไขปัญหาคลื่นใต้น้ำอย่างไร

ผมแนะนำไม่ได้ คงไม่รู้ดีไปกว่าท่าน แต่อยากให้ท่านตั้งโจทย์ให้ถูก ความไม่เป็นธรรม การทุจริตคอร์รัปชั่น การเลือกตั้งฉ้อฉล การซื้อสิทธิ์ขายเสียง อย่างยึดอำนาจที่ผ่านมาไปตั้งโจทย์ว่าไล่อีกฝ่ายให้พ้นมันอาจไม่ใช่โจทย์นั้น พอมีการเลือกตั้งคนก็เลือกกลับเข้ามาอีก เช่น ก่อนที่ยึดอำนาจเราฝันเห็นว่าคนจะได้รับเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีการป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ป้องกันการใช้อิทธิพลบังคับการลงคะแนน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่ห้าม

พวกเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ให้มีสิทธิ์ทางการเมืองต่อ แต่คนเหล่านั้นบอกว่าฉันรับโทษครบแล้วนะ ทั้งที่ตนเองไม่อยากคิดว่าที่ผ่านมามันถูก อะไรวะ...คนหนึ่งทำแล้วเหมาทั้งพรรคเลยหรือ มันผิดหลักกฎหมาย ยุบพรรคที่ว่ามันกฎหมายย้อนหลังนะ แต่หลักกฎหมายบอกว่าจะย้อนหลังได้เฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่ใช่เหรอ อันนี้เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ถ้าเกิดรัฐธรรมนูญฉบับหน้าคนที่แม้จะติดคุก หรือรับโทษไปแล้วห้ามเข้ามาการเมืองอีก คนกลุ่มนั้นก็อาจจะเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว "กูยอมไม่ได้"


ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ตั้งโจทย์ไว้เช่นนี้ เป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดแต่แรกหรือไม่

ไม่ทราบหรอกครับ แต่นี่เขาอาจบอกว่า อยากให้คนที่ไม่ใช่นักการเมืองที่เคยสร้างความเสียหายมาเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ หรือมีส่วนปฏิรูปก็ได้


แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเกิดอะไรขึ้น


ความขัดแย้งยังไม่จบ


จะมีอะไรที่มาทำให้โรดแมป คสช.ไขว้เขวหรือไม่


ไม่ต้องห่วงเลยเรื่องนี้มีแน่ อย่างน้อยที่สุดเลยก็หมอดูยุอยู่ 5 ปี 6 ปี ไม่ต้องห่วงเลยกระบวนการนี้มีแน่ จะเสี่ยงเชื่อไหม ถ้าเสี่ยงเชื่ออย่างน้อยที่สุดก็เสียสัตย์ คำว่าเสียสัตย์อย่านึกว่าเบานะ ก็คุณสุจินดา (คราประยูร) ไง พูดไม่เป็นพูด อาจจะตามด้วยหลงอำนาจอะไรก็ตาม ทำให้ความน่าไว้ใจมันหมดไป ถ้าเสียสัตย์เมื่อไหร่อาจกลายเป็นจำเลยมากกว่าเป็นโจทก์เหมือนทุกวันนี้


ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยู่เกิน 1 ปี ตามที่พูดไว้ก็เป็นจุดเสี่ยงเป็นจุดเสี่ยง

ยกเว้นแต่เกินไปไม่
เท่าไหร่ ถึงวันนั้นมีกำหนดวันรัฐธรรมนูญประกาศใช้เลือกตั้งวันไหนวันนั้นก็ต้องกำหนด


ถ้า พล.อ.ประยุทธ์แก้ปัญหาเศรษฐกิจจนเผลอลืมปัญหาความขัดแย้งจนขอต่อเวลาออกไป


(สวนทันที) ก็เตรียมพร้อมถูกเช็กบิลทีหลังว่าทำเสียของอีกคนแล้วมั้ง ทีหลังทหารอย่าดีกว่า หลายหนแล้ว ช่วยไม่ได้เสียที



ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.