“มังคุดทิพย์พังงา”...ผลไม้ไทย อนาคตที่สดใส
 


“มังคุดทิพย์พังงา”...ผลไม้ไทย อนาคตที่สดใส


 “มังคุดทิพย์พังงา”...ผลไม้ไทย อนาคตที่สดใส

จิรวรรณ โรจนพรทิพย์ (เรื่อง/ภาพ)









“มังคุด” นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดพังงา เพราะมีตัวเลขพื้นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 3 รองจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน ลักษณะเด่นของมังคุดพังงาคือ มี “ผิวสีน้ำตาลอมแดง รสชาติหวานอมเปรี้ยว” กลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญของจังหวัดพังงา ปลูกง่าย ขายดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งคนไทยและต่างชาติ จากคุณลักษณะเด่นดังกล่าว ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จึงตั้งชื่อมังคุดพังงาว่า “ทิพย์พังงา” หมายถึง ผลไม้ที่เป็นของเทวดา มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา

 
ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เข้าช่วยประชาสัมพันธ์สินค้ามังคุดทิพย์พังงาอย่างเต็มที่ โดยจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิญนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ เข้ามากินมังคุดในช่วงฤดูกาลผลไม้ ระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา มังคุดทิพย์พังงา สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจแก่ชาวพังงาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สู่ครอบครัวเกษตรกรและกระจายรายได้ก้อนโตเข้าสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องทุกปี


“รวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองราคามังคุด”


โดยทั่วไปมังคุดทิพย์พังงาจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคมของทุกปีแต่ปีใดมังคุดพังงามีผลผลิตเข้าตลาดในช่วงเวลาเดียวกับภาคตะวันออกมักเสียเปรียบในเรื่องการขนส่ง และถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรจะขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ เพียงกิโลกรัมละ 5-6 บาท เท่านั้น


ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดจึงได้รวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มพัฒนามังคุดเพื่อการส่งออกจังหวัดพังงา” เพื่อรวบรวมผลผลิตมังคุดเกรดส่งออก คือมังคุดที่มีน้ำหนักเฉลี่ยผลละไม่น้อยกว่า 90 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 12 ลูก/กิโลกรัม ประมูลขายให้กับพ่อค้า เพื่อส่งออกไปขายที่ประเทศจีน


ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เป็นต้น ปรากฏว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย เพราะเกษตรกรขายผลผลิตให้ผู้ส่งออกได้ในราคาดีกว่าเดิม เกือบ 2 เท่าตัว คือขายส่งในราคากิโลกรัมละ 42 บาท ขณะที่ตลาดในประเทศขายได้แค่กิโลกรัมละ 25 บาท 


ที่ผ่านมา มีพ่อค้ามารับซื้อมังคุดถึงสวน แต่เกษตรกรมักโดนกดราคารับซื้อจากพ่อค้า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดจึงรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มพัฒนามังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออก” เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการตลาดในช่วงที่ราคามังคุดตกต่ำ ที่ผ่านมาทางกลุ่มเปิดจุดรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิก และนำไปต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางเพื่อให้ได้ราคาที่สูงโดยวิธีการประมูลราคา



มังคุดทิพย์พังงา เป็นที่ต้องการตลาดผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออก เพราะเป็นผลไม้ที่ปลูกและดูแลในลักษณะสวนเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ปัจจุบันมังคุดทิพย์พังงามีคุณภาพดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) 


 ปัจจุบันเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติดูแลรักษามังคุดที่ถูกวิธีจากสำนักงานเกษตรอำเภอกะปงเพื่อยกระดับการผลิตมังคุดให้ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออกรวมทั้งเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสบริโภคมังคุดทิพย์พังงาที่สุกแก่พอดีและมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว 

 
อย่างไรก็ตามภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงทำให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดจังหวัดพังงาต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ทางสำนักงานเกษตรฯ จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้เรื่องการผลิตปุ๋ยหมัก เพื่อนำมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูปมังคุดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำมังคุด มังคุดกวน สบู่สมุนไพร เป็นต้น


นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรให้เป็น Smart Officer ต้นแบบในทุกพื้นที่ ควบคู่กับระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ (MRCF System) ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนามากที่สุด ทั้งต่อเกษตรกร ตัวสินค้า และพื้นที่ทำกินเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีที่สุด


สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ได้นำระบบ “MRCF System” มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรภายในจังหวัด โดยเฉพาะ “การผลิตมังคุดคุณภาพทิพย์พังงา” ซึ่งแนวทางปฏิบัตินั้นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะใช้ M : Mapping เช่น ข้อมูลแผนที่ระดับตำบล แผนที่ชุดดิน และแหล่งน้ำ แผนที่ปริมาณน้ำฝนมาร่วมวิเคราะห์ข้อมูลการผลิต ส่วน R : Remote Sensing คือ วิธีการติดต่อสื่อสารข้อมูลจากระยะไกลส่งถึงตัวเกษตรกร เช่น ใช้ GPS จับพิกัดพื้นที่การระบาดของศัตรูพืช ส่งข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์ อี-เมล (E-mail), เฟซบุ๊ก (Face Book) และระบบไลน์ (Line) เป็นต้น

  


“มังคุดทิพย์พังงา” เพื่อการส่งออก


ปัจจุบันต้นมังคุดที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว มีอายุเฉลี่ย 25 ปี เนื่องจากมังคุดจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ ยิ่งอายุมาก ยิ่งให้ผลผลิตสูงเป็นเงาตามตัว ซึ่งทางสภาเกษตรฯ คาดว่าภายใน 5-10 ปีข้างหน้า จะมีผลผลิตมังคุดทิพย์พังงาเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 1-2 เท่าตัว หากไม่วางแผนจัดการผลิตและการตลาดอย่างเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดจำนวนมาก 


ดังนั้น คณะไม้ผล สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา มีนโยบายเร่งผลักดันโครงการพัฒนามังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออกของจังหวัดพังงา โดยเชิญกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้สนใจ ณ ศูนย์พัฒนาอาชีพและรายได้ตำบลเหมาะ หมู่ที่ 2 ตำบลเหมาะ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา



โดยธรรมชาติ มังคุดเป็นไม้ผลที่ต้องการอุณหภูมิสูงและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงตลอดช่วงของการเจริญเติบโต ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี มีความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 5.5-6.5 ที่สำคัญคือ พื้นที่ปลูกต้องมีน้ำเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้ง เพราะต้องมีการกระตุ้น เพื่อชักนำให้เกิดการออกดอก ที่ผ่านมา ทางกลุ่มไม้ผลฯ ได้เดินหน้าจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการดูแลจัดการสวนมังคุดอย่างเหมาะสมแก่เกษตรกรเจ้าของสวนมังคุด เพื่อให้ผลผลิตมังคุดฤดูการผลิต ปี 2558 มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น 

 
หลังจากสิ้นสุดฤดูมังคุดในช่วงเดือนกรกฎาคม จะใส่ใจให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยเคมี เพื่อบำรุงต้นมังคุดให้มีสภาพสมบูรณ์ และสะสมอาหารอย่างเต็มที่ก่อนเริ่มต้นให้ผลผลิตในช่วงฤดูถัดไป ประมาณช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ต้นมังคุดจะเริ่มแตกยอด เกษตรกรต้องคอยดูแลไม่ให้หนอนแมลงทำลายยอด ช่วงระยะแตกใบอ่อน ประมาณเดือนมกราคม ควรใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารตัวกลางสูงๆ เพื่อช่วยให้ต้นมังคุดออกดอกได้อย่างเต็มที่ ช่วงนี้เสี่ยงเจอปัญหาการแพร่ระบาดของหนอน ไร และเพลี้ย จึงควรฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงทุกๆ 10 วัน หรือประมาณ 10 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 เดือน

  
เมื่อต้นมังคุดเริ่มออกผล ควรให้ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 เพื่อเร่งพัฒนาเนื้อ และให้น้ำต้นมังคุดอย่างสม่ำเสมอจนกว่าฝนจะตก มังคุดทิพย์พังงาจะสามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคม


และสุดท้ายการเก็บเกี่ยวก็นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เกษตรกรควรใช้ไม้สอยเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี ไม่ปล่อยให้ผลมังคุดตกดิน นำผลมังคุดที่เก็บเกี่ยวมาคัดแยกเป็น 6 เกรด ในช่วงปลายปีนี้ หากชักชวนให้เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดเข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพมังคุดส่งออกได้เป็นจำนวนมากก็จะช่วยระบายผลผลิตไปยังตลาดต่างประเทศและทำให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.