สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปฏิรูปท้องถิ่น
 


สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปฏิรูปท้องถิ่น


 สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปฏิรูปท้องถิ่น

ปฏิรูปท้องถิ่น

โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์



ไม่ว่าผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปจะมีจำนวนมากน้อยบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ สุดท้ายแล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเคาะชื่อใคร หน้าตาเป็นอย่างไรก็ตาม

สถานการณ์มีแนวโน้มว่า ประเด็นที่จะเป็นข้อถกเถียงในขั้นตอนของสภาปฏิรูปจนถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คงจะค่อยๆพัฒนาความดุเดือดเผ็ดมัน หน้าดำคร่ำเครียดขึ้นไปตามลำดับ

สาขาหนึ่งในจำนวน 11 แนวทางปฏิรูปซึ่งสะท้อนบรรยากาศดังกล่าวคือ การปกครองท้องถิ่น

เหตุเริ่มจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 85 และ 86/2557 ที่ให้ชะลอการได้มาซึ่งฝ่ายบริหารและสภาท้องถิ่นจากการเลือกตั้งโดยประชาชนโดยตรง มาเป็นการสรรหาโดยกรรมการที่ประกอบด้วยข้าราชการเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุเนื่องมาจากมีผู้บริหารท้องถิ่นหมดวาระ 44 คน สภาท้องถิ่น 31 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 จนถึงสิ้นปีจะมีผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระ 213 คน และสภาท้องถิ่น 126 แห่ง และยังมีสภาที่หมดวาระก่อนหน้านี้ แต่ กกต.ยังไม่ได้จัดการเลือกตั้งประมาณ 100 แห่ง และหมดวาระภายในปีหน้าอีกจำนวนมาก ตามกระบวนการของกฎหมายเดิมต้องจัดการเลือกตั้งตามวาระ

การแข่งขันในการหาเสียง มีการชุมนุมผู้คนเกิน 5 คน จึงเป็นการขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก อาจสร้างแรงกระเพื่อมต่อการเมืองระดับชาติตามมา จนเป็นอุปสรรคต่อโรดแมปประชาธิปไตย 3 ขั้นตอนได้

ประกอบกับภาพลักษณ์ด้านลบของผู้บริหารและสภาท้องถิ่นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า คอร์รัปชั่นมากมาย ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสิ้นเปลือง การเลือกตั้งทำให้เกิดความแตกแยกจนถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกโต้ตอบจากผู้บริหาร สมาชิกและข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตลอดมาเช่นกัน

ล่าสุด ร้อนแรงถึงขั้น แต่งชุดดำประท้วง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฐานกล่าวหาโดยไม่ระบุชัดว่าเป็นใคร เหตุเกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน แม้เจ้าตัวจะออกมาชี้แจงและยืนยันว่าเสนอด้วยเจตนาดี ต้องการเห็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับทุกคนก็ตาม

ประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานและการปฏิบัติตนของบุคคล กับประเด็นเชิงโครงสร้าง ที่มา คุณสมบัติ องค์ประกอบ ขอบเขต อำนาจ หน้าที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงยังคงจะมีการอภิปราย โต้แย้ง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกว่าในสภาปฏิรูปอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะหลักการใหญ่ ข้อดี ข้อเสีย ของการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน กับการสรรหาโดยข้าราชการ จนถึงเรื่องการทับซ้อนของอำนาจระหว่างส่วนภูมิภาคกับท้องถิ่น ทับซ้อนทั้งพื้นที่และภารกิจ จนมีแนวความคิดให้ยุบราชการส่วนภูมิภาคเกิดขึ้น ฯลฯ

ที่ผ่านมาเคยมีคณะกรรมการศึกษาประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้และเสนอแนวทางออกแล้วหลายคณะ ล่าสุด คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ระบุไว้ชัดเจน

"ราชการส่วนภูมิภาคเป็นสายอำนาจบัญชาการที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งสามารถเข้าไปแทรกแซงหรือทับซ้อนกับอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น

ดังนั้น จึงเสนอให้ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยปรับบทบาทหน่วยราชการในระดับจังหวัดให้เหลือเพียง 3 รูปแบบ"

แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

สภาปฏิรูป จึงหนีไม่พ้นต้องผลิตซ้ำ หาบทสรุปในประเด็นเหล่านี้อีกรอบ

แต่สถานการณ์เฉพาะหน้าก่อนถึงขั้นตอนสภาปฏิรูป การหาทางออกด้านปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น จำเป็นต้องคอยผลผลิตของการปฏิรูปการเมืองระดับชาติก่อนหรือไม่

ควรจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นตามวาระที่หมดลงหลังมีรัฐบาลปัจจุบันแล้ว หรือต้องคอยให้มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่ก่อน ถึงยุติระบบสรรหา กลับมาใช้การเลือกตั้งโดยตรงอย่างเดิม

ขณะเดียวกัน มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการท้องถิ่น ลดความฟุ่มเฟือยและการทุจริตฯ อาทิ ลดปริมาณและลดประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงด้วยการควบรวม ควรดำเนินการทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอคอยการเมืองระดับชาติ ดีกว่าหรือไม่

เป็นต้นว่า ยุบเลิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต. และควบรวมให้เหลือรูปแบบเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง ส่วนเทศบาลนครให้เป็นภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยจังหวัดที่มีความพร้อมก็ให้เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แบบ กทม.และพัทยา ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯและสภาท้องถิ่น

พร้อมกันนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบ ควบคุมการบริหารไม่ให้มีการทุจริต ควรแสดงประจักษ์หลักฐานให้ชัดอีกครั้ง ระหว่างการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น กับในส่วนกลาง ระดับชาติ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนไหนมีปริมาณ และความแยบยล ซับซ้อนซ่อนเงื่อน มากกว่ากัน

การขาดข้อเท็จจริงเชิงเปรียบเทียบระหว่าง กินคำเล็ก กับกินคำใหญ่ ที่แท้จริง จึงเกิดข้อกล่าวหาแบบเหวี่ยงแห ทำให้ภาพลักษณ์ของท้องถิ่นตกต่ำย่ำแย่ จึงเป็นเงื่อนไขอันดีให้ระบบสรรหาดึงอำนาจกลับคืนส่วนกลาง มีพลังขึ้นมาอีกครั้ง

สภาปฏิรูปจะฝ่าด่านอรหันต์ ที่ว่านี้ไปได้หรือไม่ คำตอบยังอยู่ในสายลม

 

 

........

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 28 สิงหาคม 2557)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.