"สราวุธ"ชี้นศ.จบป.โท7มหา′ลัยดัง ยื่นอุทธรณ์ขอสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ ก่อนสนามเล็กเริ่มสอบต้น ก.ย.
 


"สราวุธ"ชี้นศ.จบป.โท7มหา′ลัยดัง ยื่นอุทธรณ์ขอสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ ก่อนสนามเล็กเริ่มสอบต้น ก.ย.



เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่สำนักงานศาลยุติธรรม นายสราวุธ  เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ ก.ต.  เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)  มีมติเพิกถอนและไม่รับรองหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาของมหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งว่า สาเหตุที่ทาง ก.ต.ไม่รับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งดังกล่าวนั้น เนื่องจากหลักสูตรไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือ สกอ. และหลักเกณฑ์ของทาง ก.ต. ตามที่กำหนด  โดยเฉพาะบางมหาวิทยาลัยไม่มีอาจารย์ประจำหลักสูตรครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนด และคุณวุฒิของอาจารย์ก็ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนจะต้องเป็นระดับปริญญาเอกหรือรองศาสตราจารย์ขึ้นไป รวมทั้งจะพิจารณาถึงสัดส่วนระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ประจำหลักสูตรด้วย  หากหลักสูตรของมหาวิทยาลัยใดไม่ผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทาง ก.ต.ก็จะมีมติไม่รับรองหลักสูตร  และแม้ว่ามหาวิทยาลัยใดจะเคยผ่านเกณฑ์มาแล้ว แต่หากพบในภายหลังว่ามาตรฐานต่ำกว่าที่กำหนด ทางก.ต.ก็สามารถมีมติเพิกถอนได้


นายสราวุธ  กล่าวอีกว่า  สำหรับผู้สมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาที่จบปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งดังกล่าวนั้น  หากยื่นสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามเล็ก ในวันที่ 6-7 กันยายนนี้  ทางก.ต.ก็จะไม่มีการประกาศรายชื่อเพราะถือว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ แต่อย่างไรก็ตามทางผู้สมัครสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ ก.ต.พิจารณาเป็นรายบุคคลไป  โดยทาง ก.ต.จะเริ่มพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ทันก่อนที่จะเริ่มการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาต่อไป


เมื่อถามว่านักศึกษาที่กำลังเรียนหลักสูตรปริญญาโททางกฎหมายของมหาวิทยาลัยทั้ง7แห่งดังกล่าว จะสามารถได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างไรบ้าง  นายสราวุธ  กล่าวว่า  เป็นเรื่องที่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับทาง ก.ต.  เพราะ ก.ต.เป็นเพียงผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาเท่านั้น  เพราะผู้ที่ประกอบวิชาชีพผู้ช่วยผู้พิพากษาถือว่ามีความสำคัญ ดังนั้นจะต้องมีการพิจารณาอย่างเข้มงวด  ส่วนนักศึกษาที่จบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งนั้น ยังสามารถไปประกอบวิชาชีพอื่นๆได้ทุกสาขาวิชาชีพ   แต่หากใครตั้งใจที่จะสมัครสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาโดยเฉพาะ  ก็คงจะต้องเรียนปริญญาโทใบใหม่ในมหาวิทยาลัยที่ทาง ก.ต.รับรองหลักสูตร ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อมหาวิทยาลัยได้จากทางเว็ปไซด์ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.