2 ทีมเด็กไทยคว้าชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ
 


2 ทีมเด็กไทยคว้าชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ


2 ทีมเด็กไทยคว้าชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ
ม.เกษตร-มหิดลวิทยานุสรณ์ 2 ทีมเด็กไทยคว้ารางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการระดับนานาชาติ หรือ ไอครีเอท 2014 ที่สิงคโปร์

รายงานข่าวจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  (เนคเทค) แจ้งว่า จากงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ครั้งที่ 8

(i-CREATe 2014)ได้จัดระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2557 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งมีการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งมีการส่งข้อเสนอโครงงานเข้าประกวดจำนวน 32 โครงงาน จาก 6 ประเทศ คือ ไทย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย และออสเตรเลีย และมีทีมนักศึกษาจากประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 10 ทีม

ทั้งนี้ผลการตัดสินจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ เพื่อคัดเลือกผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปรากฏว่าผลงาน “ระบบตรวจวัดน้ำหนักแรงกดฝ่าเท้าและสมดุลร่างกาย เพื่อตรวจสอบโอกาสการเกิดการล้มในผู้สูงอายุ” ซึ่งพัฒนาโดย นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ นางสาวปวีณา มั่นบัว จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบสมดุลร่างกาย แสดงผลเป็นกราฟให้เห็นทิศทางการเอนตัวของผู้ทดสอบ เมื่อตรวจพบปัญหา สามารถออกแบบเพื่อป้องกันการล้มได้ ปัจจุบันระบบนี้ได้นำไปใช้งานในโรงพยาบาล 12 แห่ง สำหรับตรวจสอบเท้าผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อดูการกระจายน้ำหนักและโครงสร้างเท้า ในการจัดทำแผ่นรองรองเท้า (Insole) และรองเท้า

สำหรับด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ผลงานชื่อ โปรแกรมคีย์บอร์ดบนสมาร์ทโฟนสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่พัฒนาโดย นางสาวศิรภัสสร พงศ์พิริยะกาญจน์ นางสาวภัทริน ศรีวัฒนศักดิ์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 โดยเป็นโปรแกรมคีย์บอร์ดบนสมาร์ทโฟนสำหรับผู้พิการทางสายตา จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสื่อสารเป็นเสียงหรือเขียนตัวอักษรโดยใช้การลากนิ้วเป็นสัญลักษณ์ลงบนหน้าจอ ผู้ใช้งานสามารถลากเส้น 3 ครั้ง บนหน้าจอสัมผัสของสมาร์ทโฟน จะได้เป็น 1 ตัวอักษร โดยสัญลักษณ์ที่คิดขึ้นนั้นอ้างอิงจากอักษรเบรลล์ซึ่งเป็นภาษาสำหรับผู้พิการทางสายตา คีย์บอร์ดที่พัฒนาขึ้นนี้ทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถพิมพ์ตัวอักษรบนสมาร์ทโฟนได้เร็วขึ้น 22.93% เมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดที่ผู้พิการทางสายตาใช้อยู่ปกติ.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.