คุยกับ "จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์" เบื้องหลังหนังผี GTH
 


คุยกับ "จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์" เบื้องหลังหนังผี GTH


คุยกับ

จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ผู้กำกับหนุ่มที่สร้างชื่อมาจากการทำหนังผี ไล่มาตั้งแต่การเขียนบท ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, แฝด, สี่แพร่ง, ห้าแพร่ง จนควบตำแหน่งผู้กำกับ-เขียนบท โปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต และประสบความสำเร็จมาก ๆ กับ "ลัดดาแลนด์" หนังแห่งปี 2554 ที่ได้ทั้งเงินและกล่อง ทำให้ชื่อของเขาต้องถูกจับตามองอย่างมากในผลงานชิ้นต่อมาที่กำลังฉายอยู่ตอนนี้ก็คือ “ฝากไว้ในกายเธอ” ที่ยังคงเป็นหนังผี ...ทางถนัด

จิมบอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะต้องทำหนังผีตลอด เพียงแต่ตัวเขาชอบดูหนังผี โตมากับหนังผี ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากหนังผี และด้วยความที่เป็นคนกลัวผี จึงทำให้คิดมุกหนังผีได้มากกว่าคนอื่น มีต้นทุนในการทำหนังผีมากกว่าคนอื่น

จากความสำเร็จของ "ลัดดาแลนด์" สู่ผลงานเรื่องใหม่ จิมบอกว่าสำหรับเขาการทำหนังแต่ละเรื่องมันคือการเริ่มใหม่ ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะสำเร็จเท่าเดิม เขาจึงไม่กดดันในเรื่องความสำเร็จ แต่กดดันในแง่ความคาดหวังของคนดูมากกว่า เพราะไม่รู้ว่าคนดูชอบแค่ไหนยังไง เขาตั้งใจทำสิ่งใหม่ แต่คนดูอาจจะติดภาพหรือคาดหวังให้เป็นอย่างที่เคย จึงกลัวว่าคนดูจะไม่สนุก แต่เขาก็ยืนยันจะไม่ย่ำอยู่จุดเดิม

"ผมว่าเป็นธรรมดาของการทำงานทุกชิ้น มันเป็นโจทย์ของคนทำงานทุกคนอยู่แล้ว ไม่ว่างานหนังหรืออะไรก็ตาม งานชิ้นต่อมาต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ ก็ไม่รู้ว่าจะทำสิ่งที่ตัวเองเคยประสบความสำเร็จไปแล้วทำไม"

ถึงแม้จะทำหนังผีมาตลอด แต่หนังผีในแบบของเขาก็ไม่สักแต่ว่าจะส่งผีโผล่ออกมาหลอกหลอนคนดูเพียงอย่างเดียว ในลัดดาแลนด์เขาแทรกปมปัญหาครอบครัวเอาไว้ได้อย่างลงตัว พอมาถึงเรื่องใหม่ล่าสุด "ฝากไว้ในกายเธอ" เขาก็สะท้อนปัญหาวัยรุ่นลงไปอีก



ในประเด็นนี้จิมบอกว่า "การคิดหนังผี มันเริ่มจากคอนเซ็ปต์ก่อน แต่พอลงรายละเอียดตัวละคร มันจะมีเรื่องที่อยากเล่าใส่ลงไปโดยอัตโนมัติ เช่น ตอนทำลัดดาแลนด์ผมสร้างบ้าน แล้วคนงานก่อสร้างตกรถบรรทุกที่หน้าบ้านผม ผมก็คิดหนักมากว่าถ้าเขาตายที่บ้านผม ผมจะทำไง กว่าจะสร้างบ้านได้หนึ่งหลังผ่านการเก็บเงินมาทั้งชีวิต ผ่านการทะเลาะกันมาเยอะมาก ถ้าเขาตายหน้าบ้านแล้วเรามองออกนอกหน้าต่างเห็นเขาอยู่หน้าบ้าน เราจะเลือกอยู่บ้านหนังนี้ต่อไหม มันไม่ใช่เรื่องที่ตัดใจง่าย ๆ หัวหน้าครอบครัวเขาจะเลือกยังไง มันจะมีความรู้สึกร่วมบางอย่างในหนังแต่ละเรื่องที่เราอยากเล่า เราก็สอดแทรกเข้าไป"

นั่นหมายถึงหนังแต่ละเรื่องก็เติบโตไปตามอายุและประสบการณ์ชีวิตของเขาด้วย

"ตอนทำโปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาตเราอยากทำหนังผีที่เป็นผีเยอะๆพอมาลัดดาแลนด์เราใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง เริ่มมาเล่าเรื่องครอบครัว ในวันที่เราเป็นเด็กอยู่เราอาจไม่สามารถทำเรื่องหัวหน้าครอบครัวได้ พอโตขึ้นมันก็มีต้นทุนมากขึ้น เรื่องใหม่นี้มันเป็นเรื่องของวัยรุ่นก็จริงแต่มันเป็นมุมมองที่เราเป็นผู้ใหญ่แล้วเรามองเห็นภาพรวมของวัยรุ่นถ้าตอนที่เราเป็นวัยรุ่นเราก็จะทำเรื่องวัยรุ่นอีกแบบหนึ่งเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรผิดถูก อะไรคือสิ่งที่ควรทำ พอเราโตแล้ว เรามองย้อนกลับไปเราเห็นโลกของวัยรุ่นมากขึ้น ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ มันก็โตตามวัยเรื่อย ๆ" เขาว่า

หนังผี หนังตลก หนังรัก เป็นหนังไทยเพียงสามแนวที่ได้ตังค์ หลายคนว่าอย่างนั้น ในประเด็นนี้ผู้กำกับหนังผีคนนี้แสดงความเห็นว่า หนังไทยมีหลากหลายแนว แต่ด้วยธรรมชาติคนไทยเป็นคนสบาย ๆ ไม่ได้จริงจังกับชีวิตมาก มันก็เลยส่งผลต่อรสนิยมความชอบ ทำให้หนังสามแนวนี้มีคนดูกว้างที่สุด

"ถามว่าหนังสามแนวนี้เป็นหนังที่ไม่ดีมั้ย... ไม่ใช่ครับ มันอยู่ที่ว่าจะทำยังไงให้หนังสามแนวนี้มันออกมาดี ซึ่งมันก็แล้วแต่มุมมอง บางคนถ้าอยากบอกเล่าสาระเรื่องปัญหาครอบครัว เขาอาจจะทำหนังสาระ ในขณะที่ผมอยากเล่าสิ่งเดียวกัน แต่ผมเลือกที่จะนำเสนอผ่านหนังบันเทิง ก็เหมือนผัก มันมีประโยชน์ แต่จะบังคับให้คนกินผักมันยาก เราก็เอามาประกบบนขนมปังใส่เนื้อบดเข้าไปกลายเป็นเบอเกอร์ ให้คนดูได้ประโยชน์จากการที่ไม่ต้องฝืนกินผัก ไม่ต้องฝืนดูหนังเครียด ๆ

หนังผี หนังรัก หนังตลกก็มีสาระได้ไม่แพ้กัน อยู่ที่ว่าเราจะเล่าแบบไหน ผมกลับเชื่อว่าการใช้สื่อหนังบันเทิงในการบอกเล่าเรื่องมีสาระ คนดูจะรับมากกว่าการตั้งเป้าว่าจะต้องมาสอนเขา ด้วยความที่ผมโตมากับการดูหนังบันเทิง ผมเกิดการเรียนรู้ได้จากการดูหนังบันเทิง และเวลาเราเจอแง่คิดในหนังบันเทิงเราจะจำมากกว่าด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่เราคิดได้เอง เราค้นพบมันท่ามกลางความสนุกตรงนั้น ทำให้ผมชอบทำหนังแนวแมส" ผู้อยู่เบื้องหลังหนังผีแห่งค่าย GTH แสดงความเห็น






// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.