ย้อนไทม์ไลน์ 12 ชะตาชีวิต "นายกฯทหาร" จากพ.ศ.2475 จนถึง "พล.อ.ประยุทธ์" พ.ศ.2557
 


ย้อนไทม์ไลน์ 12 ชะตาชีวิต "นายกฯทหาร" จากพ.ศ.2475 จนถึง "พล.อ.ประยุทธ์" พ.ศ.2557


ย้อนไทม์ไลน์ 12 ชะตาชีวิต

ประชาชาติธุรกิจ รวบรวมย้อนไทม์ไลน์ชะตาชีวิต "นายกฯทหาร" จะพบว่ามีทหารอาชีพขึ้นมาเป็นนายกฯเพราะการรัฐประหาร รวมถึงนายทหารที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองแล้วก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 จนถึง ณ วันนี้มีทั้งสิ้น 12 คน ประกอบด้วย

1."พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา"
นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ในวันที่ 20 มิ.ย. 2476 โดยให้เหตุผลว่า "ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎรแล้วงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นอันมากหลาย คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นต้องยึดอำนาจ เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนฯดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ" ก่อนขึ้นเป็นนายกฯด้วยตัวเอง

เขาอยู่ในตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารนานถึง 5 ปีเศษ ตั้งแต่ 21 มิ.ย. 2476 ถึง 21 ธ.ค. 2481 ก่อนจะตัดสินใจไม่รับตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง เป็นผลจากรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลฯตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะพ่ายแพ้มติเรื่องพิจารณาระเบียบงบประมาณเมื่อเดือนกันยายน 2481 พร้อมประกาศไม่รับตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารต่อในสมัยที่ 6 ทำให้ตำแหน่งผู้นำสูงสุดตกเป็นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกฯแทน



2.จอมพล ป.พิบูลสงคราม ครองเก้าอี้นายกฯถึง 2 ยุค รวมกัน 14 ปี ในยุคแรก 2481-2487 เป็นยุคที่จอมพล ป.มีอำนาจมากที่สุด การบริหารประเทศในช่วง 6 ปีแรก จอมพล ป.ได้ใช้นโยบายชาตินิยมที่เรียกว่า "นโยบายสร้างชาติ" จนถูกวิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเลียนแบบระบอบฟาสซิสม์ของอิตาลีและญี่ปุ่น และนำไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีคนทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายกองทัพไม่พอใจจำนวนมาก

จอมพล ป.ในยุคแรกต้องสิ้นสุดลง เพราะรัฐบาลถูกสภาผู้แทนราษฎรคัดค้านการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สำคัญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.จัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง และ พ.ร.ก.พุทธบุรีมณฑล โดยฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้การลงมติ จอมพล ป.ลาออกจากนายกฯ แล้วสภาก็ไม่ได้เลือกเขากลับมาเป็นนายกฯ

ยุคที่ 2 ในปี 2491-2500 จอมพล ป.ไม่ได้มีอำนาจล้นเหลือเหมือนยุคแรก เพราะเป็นนายกฯใต้เงาคณะรัฐประหาร 2490 ที่เชิญเขากลับมาสู่อำนาจ ในยุคนั้นจอมพล ป.ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมืองอย่างมาก ต้องเผชิญหน้ากับทหารในกองทัพเรือ-กลุ่มอดีตเสรีไทยที่พยายามดึง "ปรีดี พนมยงค์" กลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง เกิดเป็นกบฏวังหลวง จนถึงกบฏแมนฮัตตัน และวาระสุดท้ายทางการเมืองของ จอมพล ป.ก็ต้องพ้นไปจากการรัฐประหาร เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการยึดอำนาจในปี 2500

3.พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นั่งเก้าอี้นายกฯต่อจาก "ปรีดี พนมยงค์" ที่ไม่รับตำแหน่งนายกฯ เพราะเกิดมรสุมการเมืองรุมกระหน่ำ โดยเฉพาะคดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พล.ร.ต.ถวัลย์จึงได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ขึ้นเป็นนายกฯแทน "ปรีดี" แต่ก็บริหารประเทศได้เพียงปีเศษเท่านั้น เพราะถูกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านโจมตีว่ารัฐบาลทุจริต อภิปรายในสภานาน 7 วัน 7 คืน รวมถึงปมปัญหาจากคดีสวรรคตที่รัฐบาลไม่สามารถหาความคืบหน้าได้ สุดท้ายก็ถูกคณะรัฐประหาร 2490 ที่นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจ 8 พ.ย. 2490

4.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังการยึดอำนาจจอมพล ป.สำเร็จ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2500 เขายังไม่ได้นั่งนายกฯด้วยตัวเอง โดยตั้งนายพจน์ สารสิน อดีต รมว.ต่างประเทศ นั่งเก้าอี้นายกฯ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งในวันที่ 16 ก.ย. 2500 พร้อมจัดตั้งเลือกตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาลงเลือกตั้งด้วย โดยพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดคือ "พรรคสหภูมิ" ที่มีจอมพลสฤษดิ์ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาอีก 1 พรรค คือ พรรคชาติสังคม เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้เลือก พล.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) นั่งเก้าอี้นายกฯแทน ก่อนจอมพลสฤษดิ์จะกระทำรัฐประหารรัฐบาลที่ตัวเองอยู่เบื้องหลัง เพื่อขึ้นเป็นนายกฯ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในวันที่ 9 ก.พ. 2502 เขาอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 แล้วเก้าอี้นายกฯก็ถูกส่งต่อให้ จอมพลถนอม กิตติขจร

5.จอมพลถนอม สืบอำนาจต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ด้วยการครองอำนาจเผด็จการทหารที่ยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ที่สำคัญไม่มีรัฐธรรมนูญบริหารประเทศ จนเกิดกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากประชาชน-นักศึกษา แม้รัฐบาลจอมพลถนอมคลอดรัฐธรรมนูญปี 2511 และให้มีการเลือกตั้ง แต่กลับลงเอยด้วยรัฐประหารตัวเองในวันที่ 18 พ.ย. 2514 ฉีกรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นชนวนของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กระทั่งทิ้งเก้าอี้นายกฯ และลี้ภัยไปต่างประเทศ

6.พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯคนที่ 15 ที่เป็นประมุขฝ่ายบริหารต่อเนื่องหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรซึ่งถูกคณะรัฐประหารเชิญให้ลงจากตำแหน่ง แต่หลังจากบริหารประเทศได้ 2 ปี 3 เดือน พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯกลางสภา เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2523 จากกรณีที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลกจนถูกโจมตีจากหลายฝ่าย

7.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ก้าวขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย รวมทั้งสิ้น 8 ปี แต่ระหว่างนั้น พล.อ.เปรมต้องเผชิญทั้งวิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจมากมาย จนต้องยุบสภาหลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั่งเกิดกลุ่มทหารยังเติร์กก่อกบฏถึง 2 ครั้ง 2 ครา แต่รัฐนาวาของ พล.อ.เปรม ก็ฝ่ามรสุมการเมืองไปได้ วาระสุดท้ายบนกระดานการเมืองคือการที่เขาประกาศว่า "ผมพอแล้ว" เป็นวาทะการเมือง หลังจากพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เชิญ พล.อ.เปรมกลับเข้าสู่ตำแหน่ง แต่เขาปฏิเสธด้วยประโยคสั้น ๆ ประโยคนั้น อันนำมาสู่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

8.พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกฯทหารที่มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมเป็นต้นทุน แต่ติดกับดักภาพลักษณ์การทุจริต จนถูกตั้งฉายาว่า "บุฟเฟต์คาบิเนต" อีกทั้งคนในรัฐบาลอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก็ทำตัวเป็นสายล่อฟ้าขัดแย้งกับกองทัพ จนเกิดแรงกดดันจากกองทัพให้รัฐบาลปลดออกจากตำแหน่ง ทว่า ร.ต.อ.เฉลิมกลับถูกเลื่อนมาเป็น รมช.ศึกษาธิการ สร้างความไม่พอใจกับกองทัพมาก ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

9.พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกฯคนที่ 19 ผู้อยู่เบื้องหลัง รสช. แม้เขาไม่ได้นั่งตำแหน่งนายกฯหลังการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย เมื่อ 23 ก.พ. 2534 แต่เขาก็กลับมาเป็นนายกฯหลังมีการเลือกตั้ง 22 มี.ค. 2535 ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ แต่สุดท้ายเขาก็ยอม "เสียสัตย์เพื่อชาติ" นั่งเก้าอี้นายกฯ แต่ได้ลิ้มรสนายกฯเพียง 47 วัน เหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่ง

10.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือ "บิ๊กจิ๋ว" ได้เป็นนายกฯคนที่ 22 หลังจากพรรคความหวังใหม่ของเขาชนะเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ทว่ารัฐบาลบิ๊กจิ๋วอยู่ได้เพียง 1 ปี ก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะพิษเศรษฐกิจ 2540 ได้เป็นนายกฯทหารที่อายุสั้นที่สุด รองจาก พล.อ.สุจินดา ที่เป็นนายกฯได้เพียง 47 วัน

11.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกฯคนที่ 24 ถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เชิญมาเป็นนายกฯ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ได้รับฉายาว่ารัฐบาลขิงแก่ เพราะเต็มไปด้วยข้าราชการรุ่นลายครามที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไม่กล้าตัดสินใจ และไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จนทำให้รัฐประหาร 2549 เสียของแม้บนหน้าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยตลอด 82 ปี มีนายกฯนายพลทั้งสิ้น 11 คน อาจรวม พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายพลคนที่ 12 แต่จะเห็นว่านายกฯทหารหลังยุคจอมพลถนอม-จอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา นายกฯทหารไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนาน เหมือนยุคจอมพล ป.ที่ครองเก้าอี้นายกฯ 14 ปี อาจมี พล.อ.เปรมคนเดียวที่กล้านั่งนายกฯถึง 8 ปี

และล่าสุด 12. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยวันที่ 21 ส.ค. สภานิติบัญญัติ หรือ สนช.ได้มีมติเอกฉันท์เลือก พล.อประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

พล.อ.ประยุทธ์ เข้าสู่รั่วทหาร ที่ โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 และนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ “ทหารเสือราชินี” จากนั้นได้เติบโตในสายงาน เรื่อยมา

โดยดำรงตำแหน่งเสนาธิการ รองผู้บังคับการ จนไปถึงผู้บังคับการกรม จนได้ย้ายไปรับตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือในนาม “บูรพาพยัคฆ์” และพัฒนาสายงานอย่างต่อเนื่องจนเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1

จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2553 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีกำหนดเกษียณอายุราชการ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความสนิทสนมมากที่สุด ได้ขึ้นมารับตำแหน่ง เป็นผู้บัญชาการทหารบก

15 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงการณ์ 7 ข้อ ระบุถึงสถานการณ์ที่มีแนวโน้มการเกิดจลาจล ทำให้ทหารต้องออกมาระงับอย่างเต็มรูปแบบ และได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ทั่วราชอาณาจักร เพื่อรักษาความสงบ

และจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมาดูแลสถานการณ์ เพื่อเป็นตัวกลางในการนำผู้ขัดแย้งมาหาทางออกให้กับประเทศ แต่สุดท้ายก็หาข้อสรุปไม่ได้

ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศยึดอำนาจจัดตั้งคสช.เพื่อบริหารประเทศ จากนั้นได้มีการกำหนดแผนโรดแมป 3 ขั้นและให้มีการจัดตั้ง สนช.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศ
 




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.