บทเรียน "ตัน ภาสกรนที" (2) โอกาสใหม่
 


บทเรียน "ตัน ภาสกรนที" (2) โอกาสใหม่


บทเรียน

เรื่องราวของตัน ภาสกรนที น่าสนใจมากขึ้น ในฐานะคนคนหนึ่งที่สามารถนำกิจการประเภทเดียวกันเข้าตลาดหุ้นได้ 2 ครั้ง ในช่วงเวลาห่างกัน 10 ปี

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น และความเป็นไปธุรกิจในปี 2547 กับ 2557 แตกต่างกันอย่างมาก บทเรียนที่ส่งต่อกัน และการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ จึงน่าสนใจมากขึ้นอีก

2547

สภาพตลาดหุ้นไทยก่อนหน้า (2542-2546) ถือว่าอยู่ในภาวะตกต่ำ ดัชนีราคาหุ้นเป็นเหตุและผลโดยตรงกับเหตุการณ์ปี 2540 รัฐบาลจำเป็นต้องลดค่าเงินบาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะซบเซาอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้นปี 2542 จนถึงสิ้นปี 2545 เป็นช่วงเวลาดัชนีคงอยู่ในระดับต่ำมาก ๆ เฉลี่ยประมาณ 400 จุด ต่อเนื่องติดต่อกันมา 4 ปีเต็ม ถือเป็นช่วงตกต่ำครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นไทย กินเวลาค่อนข้างยาวนาน

และแล้วสถานการณ์กลับพลิกฟื้นขึ้นมาในปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร ดัชนีสำคัญคือการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น ความเป็นไปนั้นสอดคล้องกับพัฒนาการขั้นใหม่ของ ปตท.

ปตท.ขยายตัวครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงเวลานั้น จากสินทรัพย์ระดับ 3 แสนล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท ในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาท ในปี 2548-9 ขณะเดียวกัน ราคาหุ้น จากไม่ถึง 50 บาท ในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาท ในปี 2547 จากนั้น ปตท.จึงกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลกของไทย อย่างที่ไม่มีกิจการไหนเป็นมาก่อน

ถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับโออิชิสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นได้ในเดือนสิงหาคม2547แม้ว่าโออิชิพยายามอรรถาธิบายให้แตกต่างออกไป "ปี 2547 แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะไม่เติบโตตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ อันเป็นผลกระทบจากสภาวะความผันผวนของราคาน้ำมัน การระบาดของโรคไข้หวัดนก" อ้างจากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2547 บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)

ความเป็นไปในปี 2546-2547 ถือเป็นความมหัศจรรย์ อันเนื่องจากสิ่งที่อาจเรียกว่า "ปรากฏการณ์ชาเขียว"

จากข้อมูลชุดที่อ้างถึงข้างต้น ยอดขายของโออิชิในปี 2445 มีเพียงประมาณ 700 ล้านบาท ทั้งหมดมาจากธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ในปี 2546 เป็นปีที่เปิดตัวสินค้าใหม่-เครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 1,300 ล้านบาท เครื่องดื่มชาเขียวมีสัดส่วนอยู่เพียง 13% ถือว่าการเติบโตส่วนใหญ่มาจากธุรกิจดั้งเดิม

ปี 2547 ปีที่โออิชิเข้าตลาดหุ้น เป็นปีที่เติบโตอย่างมหัศจรรย์ ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,000 ล้านบาท โดยที่เครื่องดื่มชาเขียวมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 60% โออิชิกลายเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวในทันที โออิชิกลายเป็นผู้สถาปนาสินค้ากลุ่มใหม่ขึ้นมาครั้งแรกในตลาดเมืองไทย เป็นสินค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

การเข้าตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้นถือเป็นจังหวะที่ดีมากว่ากันว่าตัน ภาสกรนที ได้ระดมเงินจากตลาดหุ้นครั้งแรกในชีวิตในระดับพันล้านบาท แต่ในเวลาต่อมาเพียงปีเศษ ๆ เมื่อมีข้อเสนอซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของเขาในโออิชิจากกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่ตื่นเต้นมากกว่ามาก

ตำนานภาคแรกของตัน ภาสกรนที จึงปิดฉากรวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจ

2557

แม้ว่าตอนที่แล้วจะกล่าวว่า ตัน ภาสกรนที ได้ใช้เวลาในการเริ่มต้นตำนานใหม่-อิชิตัน เป็นเวลา 5 ปีนั้นเป็นเวลาโดยรวม แต่เครื่องดื่มชาเขียวแบรนด์ใหม่-อิชิตัน เริ่มต้นในตลาดอย่างจริงจังเมื่อปี 2554 (เดือนพฤษภาคม) ถือเป็นช่วงเวลาไม่ค่อยดีนัก ด้วยยอดขายเพียงประมาณหนึ่งพันล้านบาท "เนื่องจากรายได้จากการขายในปี 2554 มาจากการว่าจ้างผลิตทั้งหมด และได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในเดือนตุลาคม" ในปีต่อมายอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงเกือบ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากโรงงานเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ อาจวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่า เป็นผลมาจากแรงกระตุ้นทางการตลาด มาจากอารมณ์ร่วมของผู้บริโภค เชื่อมโยงกับบุคลิก และภาพความเคลื่อนไหวอย่างมีสีสันของตัน ภาสกรนที (ในฐานะตัน ภาสกรนที เป็นแบรนด์ที่มีคุณค่ามากกว่าอิชิตันด้วยซ้ำ-โปรดอ่านบทวิเคราะห์ตอนก่อน ๆ) เป็นปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นและประทับใจผู้คนในช่วงวิกฤตการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ตลาดรวมของเครื่องดื่มชาเขียวเติบโตขึ้นอย่างมากอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

"ในปี2556ตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม (Ready to Drink Tea) มีมูลค่ารวม 16,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ และยังมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553 ถึงปี 2556) มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มมีอัตราเติบโตประมาณ 26% สำหรับปี 2555 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 39% เนื่องจากปี 2554 เป็นปีที่เกิดมหาอุทกภัย" สรุปข้อสนเทศบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ICHI) ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

จากรายงานอ้างจากการสำรวจ-ดัชนีค้าปลีกของ Nielsen ข้อมูลมกราคม 2557 ระบุว่า อิชิตันใช้เวลาไม่ถึง 3 ปี สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำเครื่องดื่มชาเขียว "ผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม 3 รายแรกของปี 2556 ได้แก่ อิชิตัน, โออิชิ และเพียวริคุ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 42% 39% และ 9% ตามลำดับ" ทั้ง ๆ ที่ในตลาดเครื่องดื่มชาเขียวเต็มไปด้วยคู่แข่งรายใหญ่ โดยเฉพาะโออิชิ-แบรนด์ที่เขาสร้างมากับมือ ซึ่งครองความเป็นผู้นำมากว่าทศวรรษอยู่เครือข่ายไทยเบฟเวอเรจ และเพียวริคุ หนึ่งในแบรนด์ดังของกลุ่มกระทิงแดง

หากพิจารณาเฉพาะความเป็นไปของธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวข้างต้น นับเป็นช่วงเวลาที่ดีอีกเช่นกัน ที่บริษัทอิชิตันได้เข้าตลาดหุ้นในเดือนเมษายน 2557 แม้โดยภาพรวมไม่ได้เป็นเช่นนั้น

"ในปี 2556 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการหยุดชะงักของหลายกลไกขับเคลื่อน ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกที่ประสบปัญหาในการฟื้นตัว ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2557 ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ สถานการณ์การเมือง แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เลื่อนออกไป และการส่งออกของไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวตามหลังเศรษฐกิจโลก

เนื่องจากการคลี่คลายของปมการเมืองที่ซับซ้อนในขณะนี้ยังมีประเด็นปัญหาในหลายด้านทําให้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าที่กลไกภาครัฐจะสามารถกลับมาเดินหน้าผลักดันแรงกระตุ้นเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งหมายความว่าแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในปีนี้คงต้องอาศัยภาคการส่งออกเป็นหัวใจสําคัญ" บทวิเคราะห์ของธนาคารกสิกรไทยเมื่อต้นปี 2557 เชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่รุนแรงต่อเนื่องของการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

อิชิตันเข้าตลาดหุ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นแรงเสียดทานสามารถระดมทุนเกือบๆ 4,000 ล้านบาท ในแผนการทางธุรกิจที่ดูยิ่งใหญ่กว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ดูเหมือนตำนานอิชิตันเพิ่งเริ่มต้นขึ้น มีแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้น จากทศวรรษที่แล้วมีแผนการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และตามมาด้วยแผนการใหม่ ๆ ที่ตื่นเต้นท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติ ก่อนการรัฐประหารไม่กี่วัน




ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.