ไม้ต่อ ซีอีโอ AIS ยุค "คสช." Next step และความท้าทายใหม่
 


ไม้ต่อ ซีอีโอ AIS ยุค "คสช." Next step และความท้าทายใหม่


ไม้ต่อ ซีอีโอ AIS ยุค

ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย หลังการก้าวลงตำแหน่ง "ซีอีโอ" ค่ายมือถือ "เอไอเอส" ของ "วิเชียร เมฆตระการ" กับการส่งไม้ต่อมายัง "สมชัย เลิศสุทธิวงศ์" ซีเอ็มโอที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งแม่ทัพ 1 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา เพราะนอกจากเป็นลูกหม้อยุคก่อตั้งแล้วยังไต่เต้าพิสูจน์ฝีมือในตำแหน่งที่ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญมาครบถ้วน ตั้งแต่ฝ่ายขาย, รัฐกิจสัมพันธ์, พัฒนาธุรกิจ, บริการเสริม มาถึงการตลาด เรียกได้ว่าครบเครื่อง

ที่ผ่านมา "เอไอเอส" ไม่ได้เผชิญแค่การแข่งขัน ต้องฝ่าแรงเสียดทานจากปัจจัยภายนอก ซึ่งมีผลกระทบต่อองค์กรครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่บริบทธุรกิจได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ "เอไอเอส" ยุค "คสช.-คุณสมชัย" จะเป็นอย่างไร "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ 2 ซีอีโอเอไอเอส หนึ่งคนเป็นอดีตที่จะนั่งที่ปรึกษาต่ออีก 2 ปี อีกหนึ่งเป็นซีอีโอใหม่เอี่ยม

- ทำงานที่นี่มากี่ปีก่อนเป็นซีอีโอ


สมชัย
: จริง ๆ คำว่าขึ้นมาจุดสูงสุดไม่จำเป็นต้องเป็นซีอีโอ ตอนนั่งซีเอ็มโอ (Chief Marketing Officer) ก็ถือว่าใหญ่แล้ว ไม่ใช่แค่ผมหรือพี่วิเชียร ผู้บริหารหลายตำแหน่งของเราก็ไต่ระดับขึ้นมา การขึ้นมายังมีการเปรียบเทียบกับคนนอก มีการแข่งขัน และใช้ระบบโปรเฟสชั่นนอลในการวัดทั้งสิ้น

ผมทำงานปีนี้ปีที่ 30 แต่อยู่ที่นี่มา 24 ปี ก่อนเอไอเอสให้บริการ 1 ปี สิ่งที่ภูมิใจคือ บริษัทให้โอกาสจากพนักงานธรรมดาไม่มีเส้นมีสาย ต้องทำงานตอกบัตรปกติเหมือนทุกคน ไต่เต้าจาก Manager ขึ้นมาจนมาถึงวันนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทนี้ให้โอกาสคนทำงานอย่างมาก ถ้ามีฝีมือ มีความตั้งใจและทุ่มเท

- ช่วงเป็นซีอีโอทำอะไรที่เปลี่ยนองค์กร


วิเชียร
: ช่วงที่ผมมานั่งตรงนี้ เป็นช่วงที่องค์กรมีปัญหา มีแรงกดดันจากข้างนอกมาก สิ่งที่ต้องทำอย่างหนักคือ การสื่อสารกับพนักงาน ให้กำลังใจ เรียกความเชื่อมั่นกลับมา มีกิจกรรมที่เรียกว่า "ป๋าสัญจร" พบพนักงานทั่วประเทศ ถือเป็นวิกฤตพอสมควร

- ยิ่งโดนทุบหุ้นยิ่งขึ้น


วิเชียร
: ผมบอกพนักงานเสมอว่า ขอให้ทำในสิ่งที่ทำอยู่ มุ่งเน้นบริการ อย่าเอาแต่พูด ไม่ต้องไปเถียงแต่ทำให้เห็น ให้บริการลูกค้าอย่างดีที่สุด เปลี่ยนแรงกดดันเป็นแรงผลักดันทำให้เติบโตมาได้ทั้งลูกค้าและรายได้ ส่งผลถึงผู้ถือหุ้นทั้งปัจจัยภายนอก ทั้งปัญหาเทคนิคจากคลื่นไม่พอ แต่ทุกคนก็ช่วยกันจึงผ่านมาได้ กับข้างนอกไม่ยากเท่าข้างใน นักลงทุนอาจหวั่นวิตกแต่เห็นตัวเลขผลประกอบการแล้วก็โอเค

- 3G กว่าจะได้ทำก็ช้าไปมาก


วิเชียร
: ใช่ ดีเลย์ไป 2 ปี เมื่อประมูลคลื่นได้มาจึงเร่งทำไม่คิดชีวิตเลย ในฐานะซีอีโอขณะนั้นก็ต้องบอกว่าโล่ง เพราะการไม่มีความถี่เป็นข้อจำกัดในการให้บริการเราเป็นเบอร์ 1 ที่โดนท้าทายจากการแข่งขันรอบด้าน ซึ่งต้องเอาชนะด้วยการทำให้เห็น ถ้าคุณมีเน็ตเวิร์กเราต้องมีดีกว่า บริการต้องดีกว่า

- ความท้าทายที่ส่งต่อไปซีอีโอใหม่


วิเชียร
: ถ้าส่งต่อได้ก็คงเป็นเรื่องการบริหารคน บริหารวัฒนธรรมองค์กร ผมเชื่อมั่นว่าทีมเราแข็งแรง แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง องค์กรเหมือนร่างกายที่มีไขมันส่วนเกินบ้าง

- Next AIS


สมชัย
: ตลาดโทรคมนาคมบ้านเราเปลี่ยนไป ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปมาก จากเน็ตเวิร์กโพรไวเดอร์หรือเทเลคอมโพรไวเดอร์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ดังนั้นสิ่งแรกที่เอไอเอสต้องปรับคือปรับจากเทเลคอมเซอร์วิสโพรไวเดอร์ไปเป็น "ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรไวเดอร์" เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ารุ่นใหม่

อันที่ 2 คือวัฒนธรรมองค์กรที่ผ่านมา เราเก่งเรื่องการวางเน็ตเวิร์กรวดเร็ว เก่งเรื่องไอที แต่วันนี้อาจไม่พอองค์กรที่แข็งแรง ใหญ่ ต้องรวดเร็วด้วย เพิ่มความสามารถใหม่ ๆ สกิลเซตใหม่

เรามีทีมที่แข็งแรง ซึ่งหาได้ยากที่องค์กรไหนจะมีทีมที่ทุ่มเท ทุกคนเข้ามาทำงานด้วย 2 เหตุผล คือทำแล้วมีความสุขเหมือนอยู่กับเพื่อนพี่น้อง ตื่นมาอยากมาทำงาน 2.เพราะเปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้ ทุกวันนี้พนักงานทุ่มเทอยู่แล้วแต่ต้องตัดแฟตออก ผมพูดตรง ๆ ไปว่า เอไอเอสเหมือนเรือใหญ่ที่แข็งแรงเวลาไปในทะเล พายุพัดก็ไม่ล่ม แต่มีข้อเสียคือเวลาสั่งการมีขั้นตอนมากทำให้ช้า ต้องปรับปรุง

- งานหนักเงินน้อยแต่มีความสุข


สมชัย
: ผมมั่นใจว่าเอไอเอสให้ผลตอบแทนพนักงานเหนือกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรม แต่ในการแข่งขันมีการดึงตัวกันอาจได้รับการเสนอให้เงินมากกว่าเท่าตัว เพราะเราสร้างคนคุณภาพในแต่ละแอเรีย คู่แข่งก็จะดึงตัว คนที่ออกไปจึงเงินเดือนเยอะ แต่ 5-6 ปีที่ได้ติดตามดู เงินเดือนมากกว่าแต่อยู่ 5-6 เดือนอยากกลับ

- ซีอีโอสไตล์สมชัย


1.ผมคิดแบบเจ้าของจึงไม่ต้องห่วงเรื่องกระบวนการทำงานว่าจะช้า และใช้ข้อมูลบวก gut feeling แต่ตอนทำจะทำแบบโปรเฟสชั่นนอล เรียกว่าเป็นสไตล์ Think like owner do like professional ทำให้การขับเคลื่อนองค์กรไปได้เร็ว 2.ผมเป็นคนที่มีความสามารถในการนำความรู้ความสามารถของทุกคนมาประมวลผลแล้วกำหนดออกมาได้ว่าเราต้องทำอะไร และลงไปทำงานด้วยไม่ใช่แค่สั่งแล้วปล่อยเด็กไปทำ 3.เน้นการสร้างอีโคซิสเต็ม ในยุคต่อไปการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มีความสำคัญเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ต้องรู้จักลูกค้าให้ดีมากขึ้นกว่าที่เรารู้จัก

- การแข่งขันปัจจุบัน


สัมปทานกำลังจะหมด ทุกคนจึงอยู่ในช่วงของการปรับสู่ระบบใหม่ เป็นการมูฟลูกค้าของตนเองไปสู่ระบบไลเซนส์ให้เร็วที่สุด การแข่งขันราคาหรืออะไรต่าง ๆ ก็จะทำไปเพื่อมูฟลูกค้าการแข่งขันจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงหลังระบบใหม่เกิดขึ้นแล้ว

- คิดว่าจะมีประมูลคลื่นปีนี้


วิเชียร
: ผมเชื่อว่าน่าจะมี แต่เงื่อนไขบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลง

- ถ้าไม่มี

สมชัย
: ต้องหาวิธีในการดูแลลูกค้า ถ้าเลื่อนประมูลไปก็ต้องหาโซลูชั่นมารองรับลูกค้า เหมือนตอน 3G ที่ช้าไป 2 ปี เราประเมินและเตรียมการเผื่อไว้แล้ว แต่ถ้าถามใจผมก็อยากให้มีประมูลเพราะดีกับทุกฝ่าย ทั้งประเทศชาติ ผู้บริโภค และบริษัท ครั้งที่แล้วเราช้าไป 2 ปี ถึงวันนี้เราก็ไม่ได้เสียเปรียบใคร ถ้ามีประมูลก็จะได้ใช้ 4G เร็วขึ้น

- คู่แข่งแข็งแรงขึ้นจากการมีพันธมิตร

สมชัย
: ผมกลับมองว่าเป็นแง่ดี การมีพาร์ตเนอร์ทำให้เกมกลับมาสู่โหมดโปรเฟสชั่นนอลมากขึ้น ทำอะไรต่าง ๆ ก็ต้องทำในเกมของมืออาชีพ ซึ่งผมเชื่อว่าเราแข่งขันได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำ




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.