ส่องแบงก์กำไรQ2พุ่ง5.3หมื่นล้าน นักวิเคราะห์ชี้แรงส่ง "รายได้ค่าฟีโต-ลดต้นทุน" ดัน
 


ส่องแบงก์กำไรQ2พุ่ง5.3หมื่นล้าน นักวิเคราะห์ชี้แรงส่ง "รายได้ค่าฟีโต-ลดต้นทุน" ดัน


ส่องแบงก์กำไรQ2พุ่ง5.3หมื่นล้าน นักวิเคราะห์ชี้แรงส่ง

นักวิเคราะห์ส่องไตรมาส 2 ทำกำไรกลุ่มแบงก์ 5.3 หมื่นล้าน ขยายตัว 5% แรงส่ง "รายได้ค่าฟีโต-ลดต้นทุน" เจาะรายตัว SCB มีกำไรพิเศษ ส่วนกรุงไทย กลับมาสวยแม้ตั้งสำรองสูง โดยรวมครึ่งปีแรกโต 3% นายแบงก์มั่นใจครึ่งปีหลังรุ่ง ดันทั้งปีกำไรรวมทะลุ 2 แสนล้าน


นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในช่วงไตรมาส 2/57 คาดการณ์ว่าจะสามารถทำกำไรได้เติบโตต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิรวมประมาณ 53,000 ล้านบาท หรือเติบโต 5% ทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาส 1/57 ที่ทำได้ 50,400 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงแบงก์แอสชัวรันซ์ และหลายธนาคารมีการลดต้นทุนหลังจากที่รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิชะลอตัว

Q2 แบงก์ยังตั้งสำรองสูง

สำหรับธนาคารที่คาดว่ากำไรสุทธิเติบโตโดดเด่นในไตรมาส 2 นี้ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกรุงไทย (KTB) เนื่องจาก SCB จะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายบริษัทลูก บมจ.ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย ราว 3,000 ล้านบาท และต้นทุนค่าใช้จ่ายก็ปรับตัวลดลง ส่วน KTB แม้คาดว่าภาระการตั้งสำรองหนี้ในไตรมาสนี้จะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าสินเชื่อยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับยังได้รับอานิสงส์จากต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง หลังเงินฝากมีดอกเบี้ยแพงจะทยอยหมดอายุลง จะช่วยทำให้กำไรกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น

นายธนเดชวิเคราะห์ถึง ภาระการตั้งสำรองหนี้ของกลุ่มแบงก์ในช่วงไตรมาส 2 นี้ว่า ภาระการตั้งสำรองหนี้คาดจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามปัจจัยด้านสินเชื่อและหนี้เสียที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่คาดว่าทั้ง SCB และ KTB จะมีการตั้งสำรองพิเศษในไตรมาส 2 เช่นกัน เพราะ SCB จะมีการตั้งสำรองพิเศษหลังมีการรับรู้รายได้จากการขายบริษัทลูก เพื่อไม่ให้ตัวเลขกำไรสูงจนกระทบต่ออัตราการเติบโตของกำไรในงวดผลดำเนินงาน ถัดไป ขณะที่ KTB จะมีการตั้งสำรองพิเศษตามตัวเลขหนี้เสียจากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อย ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปกติแล้ว KTB ชอบตั้งสำรองพิเศษในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ส่วนแบงก์อื่น ๆ คาดว่าจะมีการตั้งสำรองหนี้ที่ทรงตัวถึงระดับลดลง หลังจากบรรยากาศทางการเมืองผ่อนคลายลง


ครึ่งปีแรกกำไร 1.04 แสนล้าน

ส่วนกำไรสุทธิโดยรวม ในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่ากลุ่มแบงก์จะมีกำไรรวมประมาณ 104,000 ล้านบาท หรือเติบโต 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 101,446 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังขยายตัวได้ดี ขณะที่แบงก์ใหญ่ยังคงควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่อยู่ในระดับดีไว้ได้

"ด้านตัวเลขหนี้เสียหรือ NPL ในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 2.9% มาอยู่ที่ระดับ 3% หลังเศรษฐกิจในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่ถือว่ายังไม่มีนัยสำคัญอะไร แต่ก็ยังกังวลต่อหนี้เสียในกลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและนโยบายรถคันแรก ซึ่งฉุดกำลังซื้อและส่งผลให้สภาพคล่องปรับตัวลดลง" นายธนเดชกล่าว


ปี′57 กำไรโต 4%

แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังของกลุ่มแบงก์ นายธนเดชประเมินว่า น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากจะเห็นการเร่งตัวของสินเชื่อมีการเติบโตมากขึ้น และภาพรวมของกำไรสุทธิทั้งปี 2557 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 4% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

จากปีก่อนที่ทำได้ 190,800 ล้านบาทรายงานข่าวจากบทวิเคราะห์ของ บล.เอเซีย พลัส (ดูตารางประกอบ) ระบุว่า คาดการณ์ผลประกอบการของ KTB ไตรมาส 2/57 กำไรสุทธิ เติบโต 6.2% จากไตรมาสแรก และเติบโต 36.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลง 12% จากไตรมาสก่อน ด้านต้นทุนต่อรายได้ (Cost to income ratio) มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 41.92% จากไตรมาสแรกที่อยู่เกือบ 50% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังเติบโตกว่า 3.1% เทียบจากไตรมาสก่อน และ 10.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง KTB มีโอกาสที่จะอ่อนตัวจากครึ่งปีแรก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เพิ่มขึ้น จึงประมาณการกำไรทั้งปีของ KTB หดตัว 12.3% จากปี"56 เพราะปีนี้ไม่มีรายได้พิเศษจากการขายเงินลงทุนในวายุภักษ์เช่นปี"56

ส่วน KBANK คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2หดตัว 3.8% จากไตรมาสแรก แต่ครึ่งปีหลังมีทิศทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น จึงทำให้การเติบโตของสินเชื่อสุทธิสูงกว่าเป้าหมาย 6% ที่เคยคาดไว้


นายแบงก์หวังครึ่งปีหลังรุ่ง

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่าการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 2/57 ของธนาคารจะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ส่งผลให้ครึ่งปีแรกสินเชื่อเติบโตได้ 2-3% แต่คาดหวังว่าครึ่งปีหลังสินเชื่อน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น แต่คงไม่ถึง 10% โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของภาครัฐ

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวมั่นใจว่า ในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อชะลอตัวลง แต่ในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้จะเติบโตได้ดีขึ้น และดันสินเชื่อทั้งปีขยายตัว 5-6% โดยมองว่าสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอีจะกลับมาฟื้นตัวก่อน ส่วนสินเชื่อขนาดใหญ่ยังต้องรอโครงการต่างๆ ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

"จีดีพีคงเติบโต 1.5-2% แต่ความคาดหวังต่อเศรษฐกิจต้องใจเย็นๆ โดยความรู้สึกของลูกค้าดีขึ้นและพร้อมที่จะใช้จ่าย แต่การเติบโตสินเชื่อน่าจะชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ที่เข้าสู่ฤดูกาลสินเชื่อ"

สำหรับภาระการตั้งสำรองในปีนี้ นางกรรณิกาประเมินว่า จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยปัจจุบันธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 15.6% ซึ่งแบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ประมาณ 12% ที่เหลือเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2

ด้านนายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ทิศทางการปรับตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จะหันไปเน้นการเติบโตจากสินเชื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น และเน้นการเติบโตจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการต่างๆ เป็นหลัก ทำให้แม้สินเชื่อจะเติบโตในระดับไม่สูงมากนัก แต่รายได้โดยรวมยังอยู่ในระดับสูง และน่าจะทำให้สามารถรักษาระดับอัตราการทำกำไรไว้ได้

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า หากดูแนวโน้มการทำกำไรของแบงก์ทั้งระบบ พบว่ายังทำกำไรได้สูงต่อเนื่อง และทุบสถิติทุกไตรมาส โดยไตรมาส 2/57 นี้ก็ยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงที่ชะลอตัว แสดงให้เห็นว่าแบงก์มีการบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี

ขณะที่การกระจายของสินเชื่อโดยรวม มีสัดส่วนที่ดีเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยสินเชื่อรายใหญ่มีสัดส่วน 30% ของสินเชื่อรวม สินเชื่อเอสเอ็มอีไต่ระดับจากอดีตที่อยู่ 30% ต้นๆ ขึ้นมาเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อรายย่อย




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.