พลิกแฟ้ม "สภานิติบัญญัติ" 5 ยุค ที่มา-ผลงานกฎหมาย...ใต้เงาท็อปบูต
 


พลิกแฟ้ม "สภานิติบัญญัติ" 5 ยุค ที่มา-ผลงานกฎหมาย...ใต้เงาท็อปบูต


พลิกแฟ้ม

แน่ นอนว่าธรรมนูญการปกครองชั่วคราวจะประกาศใช้ภายในเดือนกรกฎาคม ตามคำประกาศของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เป็นการเข้าสู่โรดแมประยะที่ 2 ด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อเข้าสู่การมีธรรมนูญปกครอง สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติ ก่อนจะนำไปสู่ระยะที่ 3 คือการเลือกตั้งให้มีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ในเดือนตุลาคม 2558

โดย เฉพาะส่วนสำคัญคือการตั้ง "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" หรือ สนช. อันทำหน้าที่เป็นทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อพิจารณาตรากฎหมายให้กับรัฐบาล คสช. ซึ่งเวลานี้จำนวนของ สนช.ถูกเซตขึ้นคร่าว ๆ ประมาณ 200 คน โดย คสช.จะคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ อาทิ ผู้แทนวิชาชีพ ผู้แทนภาคสังคม ผู้แทนจังหวัด นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม สนช.ในยุคของ "พล.อ.ประยุทธ์" อาจไม่ได้มีแค่อำนาจการออกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังสามารถยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ได้อีกด้วย ถือเป็นการใช้อำนาจเทียบเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรในภาวะปกติ

และเมื่อ พลิกแฟ้มรัฐประหารย้อนไปในยุคหลังปี 2500 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ไทยมีสภานิติบัญญัติทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งสภานิติบัญญัติได้รับการแต่งตั้งครั้งแรกในปี 2515-2516 ยุคที่ "จอมพลถนอม กิตติขจร" ทำการรัฐประหารตัวเอง เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2511 พร้อมยุบสภาผู้แทนราษฎรทิ้ง ก่อนออกธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 ตั้ง สนช.จำนวน 299 คน ทำหน้าที่รัฐสภา มี "พล.ต.ศิริ สิริโยธิน" เป็นประธาน สนช.

ไฮไลต์สำคัญของ สนช.ชุดนี้คือการเลือก "จอมพลถนอม" ขึ้นมาเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2515 อย่างไรก็ตาม สนช.ชุดนี้ต้องสิ้นสุดลงโดยพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวัน ที่ 16 ธันวาคม 2516 อันมีสาเหตุมาจากการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้มีสมาชิกขอลาออกเป็นจำนวน 288 คน จนไม่เพียงพอจะเป็นองค์ประชุมได้

ผลงานด้านนิติบัญญัติ สนช.ชุดที่ 1 ได้มีการตราพระราชบัญญัติประมาณ 46 ฉบับ มีพระราชบัญญัติที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516

ครั้งที่ 2 ในปี 2516-2518 แต่งตั้งขึ้นในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยมีการตั้ง สนช.ขึ้นใหม่ แทน สนช.ยุคจอมพลถนอม ที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากเกิดแรงต้านจากนิสิต นักศึกษา ประชาชน จนมี สนช.ขอลาออก 288 คน ทำให้ สนช.เหลือเพียง 11 คน ไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุม รัฐบาลสัญญาจึงมีการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และ แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้นใหม่ จำนวน 2,347 คน ตามพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2516 เพื่อให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติเลือกตั้งกันเองให้เหลือ 299 คน เป็น สนช.ชุดที่ 2 โดยมีประธาน สนช. 2 คน คือ 1. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายประภาศน์ อวยชัย เพื่อพิจารณาและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะใช้บังคับแทนธรรมนูญ ปกครองราชอาณาจักร 2515 โดย สนช.ชุดนี้ถูกเรียกขานกันว่า "สภาสนามม้า" จนถึงบัดนี้ เพราะเลือกกันที่สนามม้าราชตฤณมัยสมาคม

ทั้งนี้ สนช.ชุดที่ 2 ทำหน้าที่ระหว่าง 23 ธันวาคม 2516-25 มกราคม 2518 และสิ้นสุดลงเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตาม รัฐธรรมนูญ 2517 โดยผลงานด้านนิติบัญญัติ มีการตรารัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้จำนวน 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2518 และมีการตราพระราชบัญญัติประมาณ 120 ฉบับ พระราชบัญญัติที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517

พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดสระบุรีและจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2517 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517

ครั้งที่ 3 ในปี 2520-2522 เกิดขึ้นภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มี "พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่" เข้ายึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 โดยให้เหตุผลในการยึดอำนาจว่า เป็นเพราะมีความแตกแยกของข้าราชการและประชาชน ประกอบกับกรณีที่นายธานินทร์ประกาศ "ปิดประเทศ" เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย 12 ปี ถือว่านานเกินไป คณะผู้ยึดอำนาจจึงได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 จากนั้นได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 เป็นการชั่วคราวแทน

พร้อมกับตั้ง สนช.โดยให้มีสมาชิกจำนวน 360 คน ทำหน้าที่รัฐสภา ระหว่าง 15 พฤศจิกายน 2520-21 เมษายน 2522 มี พล.อ.อ.หะริน หงสกุล เป็นประธาน สนช. อย่างไรก็ตาม สนช.ชุดที่ 3 สิ้นสุดลงเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522

ผลงานด้านนิติบัญญัติของ สนช.ชุดนี้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 และมีการตราพระราชบัญญัติประมาณ 163 ฉบับ พระราชบัญญัติที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัติประถมศึกษา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521

ครั้งที่ 4 ในปี 2534-2535 ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี "พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์" เป็นผู้นำ รสช. ที่ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดย รสช.ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2521 และได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองพุทธศักราช 2534 แทน รสช.ได้มีการ แต่งตั้ง สนช.จำนวน 292 คน ทำหน้าที่รัฐสภา ระหว่าง 15 มีนาคม 2534-21 มีนาคม 2535 มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานสภา สนช. ก่อนจะสิ้นสุดหลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อ 22 มีนาคม 2535

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ สนช.จะมีมติเลือกให้นายอุกฤษทำหน้าที่เป็นประธานนั้น นายอุกฤษเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดต "3 อ" ที่มีโอกาสนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในยุค รสช. ร่วมกับ นายอานันท์ ปันยารชุน และ นายอาสา สารสิน ก่อนเก้าอี้นายกฯ จะมาตกอยู่ที่นายอานันท์ และนายอุกฤษก็ขยับมาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

ผล งานด้านนิติบัญญัติของ สนช.ชุดที่ 4 มีการตรารัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้จำนวน 1 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2534 และมีการตราพระราชบัญญัติประมาณ 247 ฉบับ พระราชบัญญัติที่สำคัญ อาทิ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3)

พระราช บัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

ครั้ง ที่ 5 ในปี 2549-2550 เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ เข็นรถถังออกมายึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พร้อมกับประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540

หลังจากยึดกุมอำนาจ ได้ราว 10 กว่าวัน พล.อ.สนธิ ในฐานะหัวหน้า คปค.ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งมีบทบัญญัติกำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ทำหน้าที่ของสภาผู้แทน ราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา พร้อมทั้งแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ คนที่ 24

อย่างไรก็ตาม สนช.ชุดที่ 5 แต่งตั้งตามมาตรา 5 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 242 คน ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่มเติมจนครบ 250 คน โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดำรงตำแหน่งประธาน สนช.

โดย สนช.ชุดที่ 5 ทำหน้าที่รัฐสภาระหว่าง 11 ตุลาคม 2549-22 ธันวาคม 2550 สิ้นสุดลงเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

ผล งานด้านนิติบัญญัติ สนช.ชุดที่ 5 คือการออกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมีการตราพระราชบัญญัติที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่าง ประเทศ พ.ศ. 2550

พระราชบัญญัติระเบียบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารทรัพย์สิน พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

ทั้งหมดเป็นที่มา-ผลงาน สนช. 5 ยุค 5 ชุด เมื่อธรรมนูญการปกครองชั่วคราวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ต้องดูว่าผลงานของ สนช.ยุค พล.อ.ประยุทธ์จะมีใครเป็นองคาพยพ และจะออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม หรือออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง

ที่สำคัญต้องจับตาว่า ธรรมนูญชั่วคราวจะเขียนให้ที่ประชุม สนช.เลือกนายกฯ ด้วยหรือไม่ เพราะนายกฯ ที่ตั้งตามมติ สนช.มีคนเดียวในประวัติศาสตร์คือ "จอมพลถนอม กิตติขจร" ต่างจาก นายกฯ ในรัฐบาลทหารทั่วไปที่จะได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้ยึดอำนาจ

อีกไม่นานเกินรอมีคำตอบ !




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.