ปิ๊งไอเดียธุรกิจใหม่ ส่ง "เบียร์ไฮโซออนไลน์" ถึงมือนักดื่ม
 


ปิ๊งไอเดียธุรกิจใหม่ ส่ง "เบียร์ไฮโซออนไลน์" ถึงมือนักดื่ม


ปิ๊งไอเดียธุรกิจใหม่ ส่ง

นยุคที่ทุกอย่างเนรมิตได้เพียงปลายนิ้วคลิก ไม่เว้นเครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง "เบียร์" ที่วันนี้เริ่มมีการจัดจำหน่ายผ่านออนไลน์แล้วหลายเว็บไซต์

Highend Beer เป็นหนึ่งในหลายเว็บไซต์ที่มีความโดดเด่น คือ ความหลากหลายของเบียร์ จัดจำหน่ายเบียร์จากทั่วโลกให้เลือกมากกว่า 100 รสชาติ ทั้งเบียร์พรีเมียม และ เบียร์ประเภท Craft



เกรียงไกร เลิศรุ่งเรือง อายุ 31 ปี ผู้ก่อตั้ง Highend Beer จัดส่งเบียร์ทางอินเทอร์เน็ต อธิบาย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเกี่ยวกับนำเข้า-ส่งออก ลักษณะงานประจำ คือ กลับบ้านดึก และด้วยความที่ชอบดื่มเบียร์ จึงซื้อเบียร์มาจิบที่บ้าน แต่เกิดความคิดว่าทำไมต้องกินเบียร์ซ้ำๆ หาเบียร์นอกยี่ห้ออื่นๆ กินยาก จึงเป็นที่มาของการจำหน่ายเบียร์ออนไลน์ เพื่อให้คนเข้าถึงเบียร์ได้ง่ายที่สุด

"ปัจจุบันนี้บางคนที่ไปร้านอาหาร ไม่ได้ต้องการไปนั่งร้านอาหาร อาจจะแค่อยากดื่มเบียร์ ผมเลยคิดว่าลูกค้าน่าจะมีทางเลือกทำให้คนเข้าถึงเบียร์ง่ายที่สุด"

เป็นที่มาของ Highend Beer ที่ตอนนี้เปิดเว็บไซต์ www.highendbeer.com มาได้ 2-3 เดือน และ เปิดตัวในเฟซบุ๊คเพจ Highend Beer Thailand ได้ราว 1 เดือนแล้ว โดย เกรียงไกร บอกว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีแฟนเพจเพิ่มขึ้นวันละ 100 คน ปัจจุบันมีแฟนเพจ 3,000 กว่าคนแล้ว

แม้ไม่ได้เป็นผู้นำเข้าเอง แต่เกรียงไกรได้ได้ติดต่อซัพพลายเออร์ และ ชิมรสชาติเบียร์ จนได้เบียร์จากทั่วโลกมาอยู่ในสต๊อกถึง 100 กว่ารสชาติ ที่สามารถจัดส่งให้ทุกที่ทั่วประเทศไทยด้วยระบบการแพ็ค และ การขนส่งที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันมีซัพพลายเออร์หลายเจ้าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนติดต่อนำเบียร์มาให้ทดลองถึงสต๊อกอยู่เรื่อยๆ



การเก็บเบียร์ เกรียงไกร บอกว่า ได้จัดเก็บในที่มาตรฐาน อุณหภูมิปกติ ไม่ให้โดนแดด ไม่ให้ร้อน เพราะปกติเบียร์จะมีวันที่ระบุไว้ว่าควรดื่มไม่ควรเกินวันไหน ที่จะได้รสชาติเป็นรสชาติเดิมมากที่สุด

"ผมแจ้งซัพพลายเออร์ว่าเผื่อเวลาให้ผมขาย และ เผื่อให้ลูกค้าจัดเก็บไว้ก่อนรับประทาน ซึ่งเบียร์ที่ส่งถึงผมจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน" เกรียงไกรว่า พร้อมกับเล่าเคล็ดลับการดื่มเบียร์ให้อร่อย

"คนไทยชอบดื่มเบียร์ใส่น้ำแข็ง มันจะทำเนื้อเบียร์เจือจาง รสชาติความเข้มข้นก็จะลดลง หรือ บางคนจะชอบดื่มแบบเย็นเจี๊ยบมันก็จะไม่ได้รสชาติเบียร์เหมือนกัน ควรแช่ตู้เย็นช่องปกติ พยายามอย่าใส่น้ำแข็ง มีเพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่งมาเห็นคนไทยดื่มเบียร์ใส่น้ำแข็งก็ประหลาดใจ ถามผมว่า เวลาดื่มนมใส่น้ำแข็งไหม ผมว่าบอกว่าเออ ไม่ใส่ ...ก็เหมือนกัน"เล่ายิ้มๆ





เกรียงไกร ยังบอกอีกว่า การจัดส่งสินค้าได้มาตรฐานไม่ว่าจะขึ้นเหนือลงใต้ การหีบห่อกันแตกอย่างดีและส่งกล่องบรรจุ  6 ขวดเท่านั้นเพื่อความสะดวกและปลอดภัย โดยจะจัดส่งฟรีหากสั่งสินค้าเกิน 1,000 บาท

"สินค้าเราสั่งวันนี้ส่งถึงมือพรุ่งนี้  แต่บางจังหวัดเช่น แม่ฮ่องสอน หรือ นราธิวาส อาจจะใช้เวลา 2 วัน ซึ่งลูกค้าสามารถวางแผนได้อยู่แล้ว ปัจจุบันตลาดระหว่างกทม. และ ต่างจังหวัด ถือว่าครึ่งๆ ลูกค้าหลักเป็นกลุ่มอายุ 30-40 ปี เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ"
 


โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่ชอบดื่มเบียร์ที่บ้านส่วนมากเป็นคนที่มีครอบครัวแล้วหรือไม่ชอบความวุ่นวายเสียงดังชอบละเลียดเบียร์แบบส่วนตัว หรือ กลุ่มเพื่อนที่ชอบแฮงเอ้าท์ที่บ้าน ที่จะมีแต่คนสนิท เพื่อนสนิท หรือคนรัก

นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่ชอบการดื่มเบียร์ที่บ้านแล้ว เกรียงไกร บอกว่า การจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ตนี้ยังตอบรับกับกิจกรรมของผู้คนด้วย

"เรามองเป็นกิจกรรมลูกค้า ส่งเบียร์ถึงมือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน คือ มีหลายคนไปเที่ยวที่สวยๆ แต่ขาดเครื่องดื่ม หรือ มีให้เลือกไม่เยอะ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งทำงานบนเกาะ เขาบอกว่าที่นั่นบรรยากาศดีหมด ยกเว้นไม่มีเบียร์อร่อยกิน ตรงนี้ลูกค้าสามารถวางแผนสั่งสินค้าไปที่โรงแรม หรือสถานที่ที่ไปเที่ยวได้ด้วย"เกรียงไกร เล่า

ปัจจุบันผลตอบรับค่อนข้างดี เกรียงไกร ยอมรับว่า อาจเป็นจุดเด่นการแนะนำเบียร์ที่ตรงกับความต้องการลูกค้า เป็นการบอกปากต่อปาก ซึ่งเป็นสังคมแห่งการแชร์






"เราจะมีเบียร์หลากหลายมาก เป็นระดับ B+ ขึ้นไป มีทั้งแบบพรีเมียม โรงงานมาตรฐานสูง จากยุโรป อาทิ เยอรมนี เบลเยี่ยม  เดนมาร์ค และ ประเภท Craft จากบริวเวอรี่เล็กๆ ที่จะมีรสชาติที่ไม่ยึดติดแบบเบียร์เดิมๆ มีการทดลองตามใจชอบ ซึ่งเบียร์ประเภทนี้กลุ่มที่เป็นนักทดลองชิมเบียร์หลากรสชาติจะชอบ เช่น เบียร์นกฮูก จากญี่ปุ่น ที่เขายังเรียกตัวเองว่า Craft แต่ก็เริ่มโตแล้ว ส่วนมากเป็นเอลเบียร์ มีตัวหนึ่งที่โดดเด่นคือ espresso stout เป็นเบียร์ดำผสมกลิ่นกาแฟ ที่มีมากหน่อยจะเป็นเบียร์จากเดนมาร์ค อย่าง Mikkeler ปีๆ หนึ่งจะทำเป็นร้อยรส เพราะเบียร์Craft จะไม่เหมือนพวกพรีเมียม จะทดลองไปเรื่อยๆ แล้วฉลากข้างขวดก็จะทันสมัยหน่อย จะเป็นศิลปะ"

ใครสนใจ เข้าไปเช็คที่เว็บไซต์กันได้เลย











 




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.