"สมศ." ร่วม "สำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม" ระดมความคิดแก้วิกฤติการศึกษาไทย
 


"สมศ." ร่วม "สำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม" ระดมความคิดแก้วิกฤติการศึกษาไทย



สมศ. ร่วมตกผลึกสำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ใช้ผลประเมินคุณภาพการศึกษา กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษา ให้มหาวิทยาลัยไทยเข้มแข็งเทียบเท่าระดับโลกได้ เผยกังวลปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในขั้นวิกฤต เสนอกระทรวงศึกษาธิการออกมาตรการคุมกำเนิดมหาวิทยาลัย แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพตั้งแต่รากฐานก่อนส่งต่ออุดมศึกษา พร้อมประกาศตัวบ่งชี้รอบสี่เน้นคนดีมีศักยภาพ

"ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์" ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดเผยผลการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม เกี่ยวกับการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะของมหาวิทยาลัยไทย เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย ที่ได้นำเสนอให้เห็นภาพรวมของปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยในปัจจุบันซึ่งถือเป็นจุดอ่อนจนอาจถึงขั้นวิกฤติ เพราะมีสาเหตุหลักสำคัญ 3 ประการคือ 1.ขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย 2.ขาดการกำกับเชิงปริมาณในทุกระดับ และ3.ขาดการควบคุมเชิงคุณภาพ"จากการที่มหาวิทยาลัยใหม่ ๆ หลายแห่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบไร้ทิศทาง ทั้งในเรื่องของการบริหารโครงสร้างการเรียนการสอนและหลักสูตร การเปิดสอนทั้งในเวลา นอกเวลา ในที่ตั้ง และนอกที่ตั้ง ที่เป็นไปในลักษณะเชิงธุรกิจมากขึ้น รวมถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีการแข่งขันสูงมาก ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ แต่ยังการขาดการควบคุมเชิงคุณภาพ เกิดจากการกระจายอำนาจให้กับสภามหาวิทยาลัย ในขณะที่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีคุณภาพแตกต่างกัน เช่น บางแห่งมีการบริหารงานลักษณะระบบครอบครัว เป็นต้น""การอนุมัติหลักสูตรจัดการศึกษานอกที่ตั้งมีจำนวนมากขึ้นแต่กลับไม่มีคุณภาพ มีการตกเขียวเด็กตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพื่อให้ได้จำนวนเด็กเข้าเรียนโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ ถือเป็นประเด็นปัญหาที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อผู้เรียนในเรื่องการยอมรับและการได้งานทำ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องหามาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยกำกับควบคุมคุณภาพและจำนวนที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของไทย"
"ศ.ดร.ชาญณรงค์" กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการทดสอบเด็กไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพที่แท้จริง เห็นได้จากการที่นำ G-PAX มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสอบ Admission เพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าผลสอบ G-PAX เฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยขณะนี้ทั้งประเทศมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3 กว่า เป็นเพราะสถานศึกษาต้องการให้เด็กของตนเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้"นอกจากนี้การผลิตบัณฑิตไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของตลาดหรือสังคม แต่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ดังนั้นในอนาคตจะมีบัณฑิตจำนวนมากที่ตกงาน แต่ในขณะเดียวกันสังคมกลับขาดแคลนแรงงานหรือวิชาชีพที่จำเป็นเมื่อเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน""ส่วนเรื่องโยบายเพิ่มระดับรายได้ของคนจบปริญญาตรี 15,000 บาท ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางกลับกันได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายการเพิ่มผู้เรียนเข้าศึกษาต่อด้านการอาชีวศึกษาโดยตรง เพราะเด็กทุกคนจะมุ่งเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี  ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน และต้องการเพิ่มสัดส่วนอาชีวศึกษาให้มากขึ้นเพื่อรองรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม อีกนโยบายที่เป็นการทำลายระบบคุณภาพคือ การไม่มีตกซ้ำชั้น ซึ่งสถิติเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในปัจจุบันมีมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ แต่นักเรียนสามารถเลื่อนชั้นได้เพราะดำเนินตามนโยบายนี้"
ถึงตรงนี้ "ศ.ดร.ชาญณรงค์" บอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงเรียนขั้นพื้นฐานกว่า 30,000 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 14,000 แห่ง และมีครูไม่ครบชั้น ดังนั้นทางออกของการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ควรเร่งบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนในชนบท ให้มีความพร้อมด้านงบประมาณ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนให้มากกว่าโรงเรียนในเมือง เพราะมีความขาดแคลนมากกว่า แต่ปัจจุบันยังคงจัดสรรให้เท่ากัน ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพที่ควรจะเป็น"สำหรับบทบาทการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.อย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี ที่ผ่านมาได้สร้างให้เกิดการพัฒนาต่อสถานศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจมีหลายหน่วยงานที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด คิดว่า สมศ.ไปแย่งเวลาสอนของครู  และไม่เห็นด้วยกับการมี สมศ. แต่ความจริง สมศ.ทำหน้าที่ยืนยันผลการประเมินภายในของสถานศึกษา พบว่ามีเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่ประสบผลสำเร็จในการประกันคุณภาพภายใน จึงอาจต้องมีการทบทวนระบบการประกันคุณภาพภายในให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น"

"ในส่วนการพัฒนาตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การให้คะแนนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (ปี 2559 - 2563) ของทั้ง 3 ระดับคือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้, ด้านการอาชีวศึกษามุ่งเน้นเรื่องทักษะที่เหมาะสมสำหรับอาชีพและการมีงานทำ และระดับอุดมศึกษาจะสะท้อนเรื่องความเป็นคนดีของนิสิตนักศึกษาและคุณภาพอาจารย์"
โดยภาพรวมของทุกระดับจะมีตัวบ่งชี้เท่ากันคือ 20 ตัวบ่งชี้ และมีการเชื่อมโยงกับนโยบายของ คสช. ทั้งเรื่องวินัย คุณธรรม จริยธรรม ทักษะชีวิต การมีงานทำ และน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ซึ่งในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ยังคงเน้นที่ผลลัพธ์และผลผลิตเป็นสำคัญ




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.