"คสช." ล้างไพ่-สลายขั้วใหม่ จัดทัพประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์
 


"คสช." ล้างไพ่-สลายขั้วใหม่ จัดทัพประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์



ถูก ชะลอระนาว เมื่อ "คตร.-คณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ" จัดเต็มให้ทุกหน่วยส่งโครงการมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ให้ตรวจสอบก่อนที่จะเดินหน้า ทำให้ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ "คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" แบบไม่ขาดสาย

รื้อยกพวงประมูลงานรถไฟ

โฟกัสโปรเจ็กต์สังกัดกระทรวงคมนาคมแทบจะโดนถ้วนหน้า ตั้งแต่รถเมล์ยันรถไฟ รถไฟฟ้า สนามบิน คิดเป็นมูลค่าโครงการแล้วนับแสน ๆ ล้านบาท อาจจะเป็นเพราะโครงการเริ่มต้นมาจาก "รัฐบาลเพื่อไทย" จึงทำให้สปอตไลต์สาดส่องมาเป็นพิเศษ

เริ่มที่"ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" มีถึง 25-27 โครงการ มูลค่ากว่า 6-7 หมื่นล้านบาท ที่บิ๊กม้าเหล็กส่งให้ "คตร." ตรวจสอบ เช่น ซื้อโบกี้บรรทุกสินค้า 308 คัน รถไฟทางคู่ จัดหาระบบและรถสายสีแดง จัดซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ใหม่ 7 ขบวน

นอกจากลอตแรกที่ส่งให้ "คตร." สแกน ทั้งรถโดยสารรุ่นใหม่ 115 คัน ก็กำลังลุ้นจะถูกยกเลิกหรือไม่ หลังมีชื่อบริษัทเครือญาตินักการเมืองดังได้งานไปและกำลังจะเซ็นสัญญาเร็วๆนี้ ซึ่งโครงการนี้คาบเกี่ยว 2 ผู้ว่าการ จาก "ยุทธนา ทัพเจริญ" มาถึง "ประภัสร์ จงสงวน"



จัดซื้อหัวรถจักรชะงักยกเข่ง

สำหรับ "ซื้อหัวรถจักร" 126 คัน แยกเป็นรถจักร 20 คันที่ประมูลไปแล้ว 2,130 ล้านบาท มี บจ.ป่าไม้สันติ เป็นผู้แทนจำหน่ายจากโรงงานผลิตหัวรถจักร CSR จากประเทศจีน เซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2556 จะส่งมอบลอตแรกเดือนก.ค.นี้

การที่โครงการนี้รวมอยู่ในบัญชีด้วย ไม่รู้เกี่ยวกับกระแสข่าวที่ว่าบริษัทที่ชนะขาดสภาพคล่องถึงขั้นแบงก์ไม่เปิดแอลซีให้ เลยหวั่นจะทำให้การส่งมอบล่าช้าออกไป จึงต้องมาดึงกลับมาดูใหม่

ส่วนรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 50 คัน "ร.ฟ.ท." ขายเอกสารประมูลแล้วถึงวันที่ 8 ก.ค.นี้ จะเปิดยื่นซองวันที่ 5 ส.ค. เคาะราคาวันที่ 9 ต.ค.นี้ ยังมีบริษัทเดียวมาซื้อเอกสาร ล่าสุด "คตร." สั่งให้ทบทวนทีโออาร์และราคากลางใหม่ว่ากันว่า...โปรเจ็กต์นี้มี "บริษัทไทยและต่างชาติ" วิ่งกันฝุ่นตลบอบอวลตั้งแต่หัวลำโพงยันดอนเมือง

ด้าน "ซ่อมบำรุงรถจักรอัลสตอม" 56 คัน ที่ผ่านมา "ร.ฟ.ท" ประมูลมาแล้ว 2 ครั้งแต่ไปไม่ถึงฝั่ง ล่าสุด "คตร." ให้ยกเลิกจาก "ซ่อม" เป็น "ซื้อใหม่" แทน เมื่อเทียบราคาแล้วไม่ต่างกัน ราคาซ่อมอยู่ที่ 60 ล้านบาทต่อคัน หากซื้อใหม่อยู่ที่ 100 ล้านบาทต่อคัน แถมยังได้ของใหม่กิ๊ก

รถไฟทางคู่แปดริ้วติดร่างแห

มาที่รถไฟทางคู่ "ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย" เจอโรคเลื่อนไม่มีกำหนด จนกว่า "คตร." จะส่งสัญญาณมา ไม่รู้ว่าเบื้องหน้า-เบื้องหลังโครงการนี้จะเป็นเกมยื้อของใครระหว่าง "การเมือง" ที่เปลี่ยนทิศกับ "ผู้รับเหมา" 6 บริษัทที่คุยกันไม่ลงตัว ได้แก่ อิตาเลียนไทยฯ, ช.การช่าง ร่วมกับช.ทวีก่อสร้าง, ซิโน-ไทยฯ, ยูนิค ฯ, ทิพากร ร่วมกับบ.ไชน่าฮาร์เบอร์ จากจีน และเอ.เอส.แอสโซซิเอทฯ ตามแผน "ร.ฟ.ท." จะเคาะราคาวันที่ 9 มิ.ย. แต่พอถึงวันที่ 6 ม.ย. "อิตาเลียนไทย" ทำหนังสือส่งตรงถึงผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ "ทิพากรร่วมกับไชน่าฮาเบอร์" หลังก่อนหน้านี้กลุ่มนี้จะไม่ผ่านพีคิว แต่สุดท้ายกลับมีชื่อติดอยู่ในโผ

จากปฏิบัติการสายฟ้าแลบของพี่ใหญ่ ทำเอาอีก 5 บริษัทออกอาการอึ้ง ทั้งที่ทีโออาร์ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว ทำไม "บิ๊กอิตาเลียนไทย" เพิ่งมาร้องดัง ๆ วินาทีสุดท้าย หรือหวังเตะสกัดคู่แข่ง เพราะชั่วโมงนี้งานมีน้อย ไม่ว่าค่ายใหญ่-เล็กต่างหิวงาน การแข่งขันจึงสูง

ขณะที่ "ประภัสร์" ก็รับลูกสั่งเลื่อนวันเคาะราคาออกไปถึงวันที่ 23 มิ.ย.แต่สุดท้ายก็สะดุด เมื่อต้องส่งโครงการให้ "คตร." ตรวจสอบอีกครั้ง ยังไม่รู้จะได้ข้อสรุปทันเคาะราคาวันที่ 15 ก.ค.นี้ ตามที่แจ้งบริษัทรับเหมาไว้หรือไม่

ที่น่าจับตา โครงการติดอยู่ในวังวนเดิม ๆ จะสะดุดหรือให้ได้ไปต่อ ทั้ง "รถบรรทุกสินค้า 308 คัน" กำลังตรวจสอบคุณสมบัติ และสัญญาที่ 3 สายสีแดง รอลุ้น "ไจก้า-องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น" จะให้เปิดซองเทคนิคและราคา "กลุ่มกิจการร่วมค้ามิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-ซูมิโตโม ตามที่ "ร.ฟ.ท." เสนอ

จี้ลดค่าก่อสร้างเฟส 2 สุวรรณภูมิ

ส่วนโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 ของ "ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย" กว่า 6.2 หมื่นล้านบาทก็ติดโผ ด้วยมูลค่าสูงจึงถูกจับตา ทั้งที่ยังไม่เริ่มขายแบบประมูล หรืออาจจะเป็นเพราะ "คตร." ได้รับสัญญาณบางอย่างว่าอภิโปรเจ็กต์นี้ ถึงยังไม่ประกาศร่างทีโออาร์ แต่ล็อกสเป็กกันตั้งแต่ในมุ้ง หวังใส่พานให้ยักษ์รับเหมาเจ้าเก่าที่มีสายสัมพันธ์กับเพื่อไทยมายาวนาน

ทั้งนี้ "เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย" เอ็มดี ทอท.ระบุว่า โครงการจะไม่ล่าช้าไปจากแผนเดิม จะเปิดประมูลก่อสร้างได้ทันภายในปีนี้

รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหี่ยวเฉา

ส่วน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) หลังถูก "ยูนิคฯ" ป่วน ให้ปรับเกณฑ์ทีโออาร์รายได้รวมย้อนหลัง 3 ปี 1 หมื่นล้านบาท ที่"รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" กำหนดไว้ จะมีแค่ "อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง-ซิโน-ไทยฯ" ที่เข้าได้ ที่เหลือต้องหาพาร์ตเนอร์ ซึ่ง "รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล" ประธานบอร์ด รฟม. ก็เด้งรับสั่งเลื่อนวันยื่นซองราคาจากวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อประธานบอร์ดลาออกกะทันหัน ทั้งที่ยังสางปัญหาไม่เสร็จ จะให้เดินหน้าหรือจะเปิดขายซองใหม่ ที่จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน

ขณะที่กรรมการในบอร์ดเสียงแตก มีทั้งให้เดินหน้าต่อและให้ชะลอ ตอนนี้เลยทำให้รถไฟฟ้าสายนี้ยังลูกผีลูกคน ไม่รู้จะเปิดประมูลทันปีนี้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ อยู่ที่ "คสช." เท่านั้นจะตัดสิน




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.