อันตราย! เห็ดพิษ เมื่อผู้บริโภคไม่รู้ (ไม่เชื่อ)
 


อันตราย! เห็ดพิษ เมื่อผู้บริโภคไม่รู้ (ไม่เชื่อ)


อันตราย! เห็ดพิษ เมื่อผู้บริโภคไม่รู้ (ไม่เชื่อ)

โดย วารุณี สิทธิรังสรรค์ [email protected]

ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่าหลากหลายชนิดเพื่อนำไปจำหน่ายและบริโภค จึงไม่แปลกที่ช่วงนี้ มักจะพบเห็นข่าวสารเกี่ยวกับผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการกินเห็ด จนกลายเป็นวาระประจำปีของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องออกโรงเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการกินเห็ด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. ให้ข้อมูลว่า ในช่วงฤดูฝน เห็ดทุกชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีทุกพื้นที่ของประเทศ แต่ที่พบปัญหาจากการกินเห็ดมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวบ้านใน 2 ภาคนี้ นิยมกินแกงเห็ดต่างๆ ประกอบกับบ้านเรือนอยู่ใกล้กับพื้นที่เกษตร ทั้งพื้นที่ทำนา และพื้นที่ป่า ทำให้ชาวบ้านมีความคุ้นเคยในการออกไปเก็บเห็ดบริโภคกันเอง ซึ่งก็จะมีความคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเห็ดชนิดใดกินได้หรือเห็ดชนิดใดกินไม่ได้

"ชาวบ้านเหล่านี้มีความเชื่อว่า หากนำเห็ดไปต้มกับข้าวสาร หรือต้มกับช้อนเงินแล้ว เปลี่ยนเป็นสีดำก็จะไม่กิน เพราะแสดงว่ามีพิษ อีกทั้งหากเก็บเห็ดที่มีรอยแมลงกัดกินให้มั่นใจว่าปลอดภัย ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ข้อเท็จจริง หลายครั้งก็ยังพบเห็นผู้ป่วยจากการกินเห็ด และที่น่ากลัวคือ บางคนเก็บไปขายโดยไม่รู้ว่ามีพิษหรือไม่มีพิษ ซึ่งหากผู้ซื้อไม่ทราบด้วยก็อาจกินเห็ดพิษเข้าไปได้" นพ.โอภาสกล่าว

ประเด็นคือ ที่ยังพบผู้ป่วยจากการบริโภคเห็ดพิษ เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ ไม่รู้จักชนิดของเห็ด

 

 

เห็ดสีมีพิษ

 


นพ.โอภาสบอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชื่อเรียกจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น เห็ดพิษที่อันตรายที่สุดและพบปัญหามากที่สุด คือ "เห็ดระโงกหิน" มีชื่อเรียกหลายอย่าง ทั้งเห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก เห็ดไข่เป็ด จะมีลักษณะสีขาวถึงขาวนวล มีวงแหวนที่ลำต้น ปัญหาอยู่ที่การแยกเห็ดระโงกหิน คือหลายคนมักจำสลับ เนื่องจากชื่อคล้ายกัน ข้อแตกต่างของเห็ดระโงกที่กินได้ คือขอบหมวกมักจะเป็นริ้วคล้ายรอยหวี มีกลิ่นหอมและก้านดอกกลวง ส่วนเห็ดระโงกหินที่เป็นพิษ กลางดอกหมวกจะนูนขึ้นเล็กน้อย ก้านดอกตัน มีกลิ่นเอียนและกลิ่นค่อนข้างแรงเมื่อดอกแก่ มีทั้งแบบดอกสีเหลืองอ่อน สีเขียวอ่อน สีเทาอ่อน และสีขาว สำหรับข้อควรระวังคือ เห็ดทั้งสองชนิดนี้จะแยกยากในช่วงอ่อนๆ หรือเริ่มโต ดังนั้น หากไม่แน่ใจอย่ากิน

สำหรับเห็ดระโงกหินนั้น ถือเป็นเห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุด เพราะมีสารพิษ 2 ชนิด คือ "อะมาท็อกซิน" และ "ฟาโลท็อกซินส์" (Phallotoxins) สารเหล่านี้ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง แต่โดยปกติอาการจะปรากฏหลังกินประมาณ 1-3 ชั่วโมง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งในท้อง และหากกินพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะยิ่งเป็นตัวนำทางให้พิษเห็ดกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งในรายที่กินเห็ดหรือกินร่วมกับสุรา จะมีอาการรุนแรงโดย 3-5 วัน จะเกิดอาการตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตในที่สุด

ยังมีเห็ดพิษอื่นๆ ที่รู้จักกันในชื่อ "เห็ดเมา" ซึ่งมีหลายชนิด โดยส่วนใหญ่พิษไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ได้แก่ เห็ดเพิ่งข้าวก่ำ (Boletus santanas) เห็ดคันจ้อง หรือเห็ดเซียงร่ม และเห็ดหมากหม่าย (คล้ายเห็ดโคน) เป็นต้น โดยฤทธิ์นั้นจะทำให้ปวดท้อง อาเจียน พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จากข้อมูลการที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดเฉลี่ยประมาณ 1,500-2,000 รายต่อปี โดยปี 2556 มีรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษ 1,381 ราย เสียชีวิต 3 ราย ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึง วันที่ 23 มิถุนายน 2557 พบผู้ป่วย 214 ราย จาก 40 จังหวัด เสียชีวิต 3 รายแบ่งเป็น จ.เชียงใหม่ 2 ราย และ จ.พิษณุโลก 1 ราย โดยข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ จ.เลย รองลงมา จ.แม่ฮ่องสอน จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.มุกดาหาร จ.นครพนม จ.เชียงราย จ.เพชรบูรณ์ และ จ.สุรินทร์

ความจริงปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รู้ข้อมูลปัญหาในพื้นที่ดี และมีการประกาศเตือนภัยชาวบ้านในพื้นที่เป็นระยะๆ โดยมีทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำหน้าที่แจ้งเตือนชาวบ้านในพื้นที่เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเห็ดชุกชุม ขณะเดียวกัน ในส่วนกลาง เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนจะมีการแจ้งย้ำเตือนไปตามพื้นที่ โดยกรมควบคุมโรคได้แจ้งไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้มีการย้ำเตือนชาวบ้านในพื้นที่ให้เข้าใจและตระหนักถึงอันตรายจากการกินเห็ดพิษ เห็ดป่าเหล่านี้

สำหรับข้อพึงระวัง คือหญิงแม่ลูกอ่อนและกำลังให้นมไม่ควรกินอาหารที่ปรุงจากเห็ดป่า เพราะหากเป็นเห็ดพิษ เด็กที่ดูดนมแม่จะได้รับสารพิษของเห็ดทางน้ำนมตามไปด้วย หรือหากบริโภคเห็ดพิษและมีอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือหากไม่แน่ใจในชนิดของเห็ดอย่ากิน ไม่ควรซื้อหาเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมากิน และควรจำลักษณะเห็ดพิษ สังเกตง่ายๆ มีสีเข้มจัด สีฉูดฉาด แต่บางครั้งก็ไม่มีสี มีแผ่น หรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ด มีขน หรือหนามเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่น และการนำเห็ดไปต้มด้วยความร้อนไม่สามารถล้างพิษได้

ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้ที่กินเห็ดพิษ ต้องทำให้อาเจียน โดยให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง 3 ช้อนชา แล้วล้วงคอ แต่ห้ามทำในเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ จากนั้นรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล หากมีข้อสงสัยสอบถามสายด่วน 1422

ก็ได้แต่หวังว่า การให้ความรู้แก่ชาวบ้านจะลดจำนวนผู้ป่วยลงได้บ้าง!

 

ที่มา : นสพ.มติชน

 





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.