ปลุก "รากหญ้า" รู้ทันเรื่องเงิน
 


ปลุก "รากหญ้า" รู้ทันเรื่องเงิน


ปลุก

คอลัมน์ Look Around


คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ร่วมกับโครงการทาวเซนด์สไทย ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิ เจ.พี. มอร์แกน เชส จัดตั้งศูนย์ให้ความรู้และฝึกอบรมด้านการเงินแก่ชุมชนในชนบท ในชื่อ "Financial CommunicationCenter"

โครงการนี้ "ดร.สันติ ถิรพัฒน์" ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสังคม คณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ เล่าว่า จากงานวิจัยพบว่า การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เท่านั้นไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงิน แต่ต้องมีการสื่อสาร (Communication) มีการสนับสนุน (Facilitate) สำหรับสร้างการตัดสินใจทางการเงินที่ดี

"ผลที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้คือ เราอยากเห็นคนไทยรากหญ้ากินดีอยู่ดี ขณะที่สถาบันการศึกษาก็มีความเข้ารู้ความเข้าใจต่อการตัดสินใจของคนรากหญ้าในเรื่องการเงิน และอาจารย์ รวมถึงนิสิตจุฬาฯได้มีมุมมองที่เปิดกว้างว่า ประเทศไทยไม่ใช่แค่ในจุฬาฯ" ดร.สันติกล่าว

โครงการระยะ 5 ปีนี้จึงเกิดขึ้น และมีโครงการนำร่องใน 4 เมือง ของ 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา และลพบุรี โดยเบื้องต้นศูนย์จะจัดฝึกอบรมผู้ให้คำแนะนำทางการเงิน ซึ่งก็คือนิสิตจุฬาฯ จำนวน 50 คน เพื่อเข้าไปให้ความรู้และสื่อสารด้านการเงินแก่ชุมชนใน 600 ครัวเรือน ของ 4 จังหวัดเป้าหมาย

ขณะที่ "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในวันเปิดศูนย์ว่า โครงการนี้น่าจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนฐานรากได้มีข้อมูลความรู้ ความเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการวางแผนทางการเงิน พร้อมส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมและส่งเสริมการพัฒนา

"จากงานวิจัยของ ธปท.พบว่า การจะให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้น ณ จุดขาย (Point of Sell) ถึงจะเชิญคนมานั่งฟังบรรยาย ฝึกอบรมมากมายอย่างไร ก็เก็บสิ่งที่ฟังได้ไม่ถึง 5% ดังนั้นการสื่อสารจึงจำเป็นและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงเกิดขึ้นที่จุดขายด้วย" ดร.ประสารกล่าว

อีกไม่นาน ศูนย์ฯนี้จะจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลและความคืบหน้าโครงการ เพื่อวัดผลสิ่งที่ลงแรง ลงทุน และลงใจไป เพื่อวัดว่า "รากหญ้า" เข้าใจเรื่องเงินๆ ทองๆ

และวางแผนการเงินเป็น ...ว่าแต่จะทันดักทางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ตอนนี้สูงถึง 82.3% ของจีดีพีหรือไม่ ต้องรอดู




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.