ท้ายสุด แต่ไม่สุดท้าย โดย วิเชียร เมฆตระการ
 


ท้ายสุด แต่ไม่สุดท้าย โดย วิเชียร เมฆตระการ


ท้ายสุด แต่ไม่สุดท้าย โดย วิเชียร เมฆตระการ

คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ

บทความนี้คงเป็นชิ้นสุดท้ายในฐานะ CEO AIS แต่อาจจะไม่ท้ายสุดในแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมของไทย ตามประสาผู้ผ่านร้อนหนาวควบคู่กับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ของประเทศมาโดยตลอด

มากกว่า 30 ปีของการทำงาน ผมดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ในการร่วมทำให้บ้านเรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสื่อสารที่เป็นเสมือนสะพานเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบนฟ้า ในอากาศ หรือแม้แต่ใต้ดิน แบบที่เรียกได้ว่าไม่น้อยหน้าระดับสากล

ครั้งนี้จึงแอบขอย้อนถึงอดีตตามประสา สว.ว่า ผมเดินผ่านอะไรมาบ้าง และความอิ่มใจเกิดขึ้นจากอะไร



ด้วยชีวิตที่พลิกผันจากเหตุการณ์ทางการเมือง (คงคิดว่าผมเป็นนักการเมือง เปล่าครับ ผมเป็นนักศึกษารุ่นเข้าป่าไปตามหาความหมายในปีཌ ครับ) ดังนั้น แทนที่จะได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ตามที่เลือกเรียนครั้งแรก กลับได้เป็นวิศวกรและได้ทำงานในอุตสาหกรรมสื่อสารยุคเริ่มต้น ตั้งแต่ที่อเมริกาจนกลับมาที่เมืองไทย เพราะอยากจะได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องนี้ในบ้านเรา

ก่อนเริ่มต้นกับไทยคม หลังจบการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ผมได้เริ่มงานกับ Hughes Aircraft ในฝ่าย Airborne Radar บริษัทเทคโนโลยีอันดับต้นของอเมริกา ที่เป็นของมหาเศรษฐี Howard Hughes และจากนั้นก็มาทำงานกับฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ AT&T ประเทศไทย ช่วงกลับมาเมืองไทย

สิ่งที่ได้ในตอนนั้นก็คือ นวัตกรรมทางความคิดและจินตนาการ สามารถกลายเป็นสินค้าที่สร้าง Breakthrough ได้ในทางธุรกิจ หากมันสามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง Function และ Emotion ในขณะที่บางงานวิจัยที่ดูเท่ขึ้นหิ้ง อาจถูกทิ้งให้ฝุ่นจับในฐานะต้นแบบของอะไรบางอย่าง...เท่านั้น

จากนั้นผมจึงได้ทำงานกับไทยคม มีส่วนในการสร้าง "ดาวเทียมไทย" ดวงแรกของประเทศ ได้มีส่วนในการเป็นผู้บรรยายร่วมในวันที่ดาวเทียมไทยคม 1 ถูกส่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ที่นี่ย้ำให้ผมรู้อย่างลึกซึ้งถึงคำว่า "ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ หากคุณกล้าและมุ่งมั่นมากพอ"

และเส้นทางของผมในการมีส่วนสร้างเครือข่ายไร้สายที่กำลังเปลี่ยนชีวิตคนไทยให้สามารถ Work on the go, Life on the go เพียงปลายนิ้ว ก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อผมมาเป็นนายช่างที่ AIS

ความท้าทายในทาง Engineer สำหรับผมอาจไม่ได้ซับซ้อนในทางเทคนิค แต่ที่สนุกและบ้าพลังสุดสุดก็คือ การมีทรัพยากรความถี่ของคลื่น 900 MHz ในมือให้ใช้แบบกระเบียดกระเสียร ซึ่งพวกเราก็ซาดิสม์พอที่จะสู้กับสภาวะนี้ และประยุกต์ทุกวิถีทางที่จะทำให้เราสามารถส่งมอบบริการให้ลูกค้าให้ได้อย่างดีที่สุด โดยรางวัลที่ได้กลับมาก็คือ ยุค 2G เครือข่าย AIS ซึ่งสมัยนั้นก็คือ GSM 900 ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นว่าครอบคลุมกว้างไกลที่สุด และกลายเป็นปัจจัยสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้ Model การใช้ชีวิตและสื่อสารของคนในสังคมเปลี่ยนโฉมกันเลยทีเดียว

ตัวอย่างใกล้ตัวก็คือ การมีเครือข่ายไร้สาย ทำให้เราสามารถรายงานสภาพการจราจรได้ระหว่างขับรถ มีคำศัพท์ที่คนธรรมดาสามารถใช้สื่อผ่านรายการอย่าง จส.100 ถึงเส้นทางการเดินทางได้ไม่ต่างจากตำรวจจราจร วัฒนธรรม Real Time ได้เริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แม้จะเริ่มต้นจาก "เสียง" ก่อนจะถึงยุค "ดาต้า" ในวันนี้

ในช่วงนี้ผมเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในสายงานวิศวกรรม เป็นช่วงการทำงานแบบที่เรียกว่าเหนื่อยกาย แต่สบายใจ เพราะงานไม่ซับซ้อน คนของเราก็ยิ่งไม่ซับซ้อน เพราะกระหายที่จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดแบบที่บอกมา อาจมีเรื่องขำ ๆ แบบหา Logic ไม่ค่อยได้ระหว่างทางบ้าง อย่างประเด็นข่าวลือว่าคลื่นมือถือทำให้เกิดผลกระทบกับสมอง และยิ่งคลื่นแรงอย่าง 2 วัตต์ของ AIS ก็อาจยิ่งทำให้มีผลมากยิ่งขึ้น !

ช่วงนั้นเลยเหมือนก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง (555) เพราะเดินสายออกรายการชี้แจงประชาชนจนเกือบเป็นดารา และจนถึงตอนนี้ก็ยังขอยืนยันอีกครั้งนะครับว่า คลื่นมือถือก็คือคลื่นความถี่ซึ่งได้รับการจัดมาตรฐานจากหน่วยงานระดับสากลแล้วว่า ในระดับที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันทั้ง 2100, 900, 1800, 2300 ฯลฯ สามารถนำมาใช้งานเพื่อการสื่อสารได้ และไม่มีผลกับสุขภาพ

ดังนั้น สำหรับวันนี้บางท่านที่ยังมีความกังวลเรื่องนี้ เวลาที่มีเสาสัญญาณมือถือไปตั้งใกล้บ้านท่าน แล้วรู้สึกว่าอาจทำให้ปวดศีรษะ มีผลกับสมอง ผมขอรับประกันด้วยหัวของผมเองว่า ไม่มีผลแน่นอนครับ ขอให้ไว้ใจได้

เลยจาก Milestone มาซะไกล เอาเป็นว่าในปี 2552 ผมก็ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทให้ขึ้นมาเป็น CEO จนกระทั่งวันนี้ที่ถึงเวลาในการส่งมอบหน้าที่ให้แก่ทีมงานรุ่นใหม่ ไฟแรง อย่าง คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ซึ่งผมขอรับประกันด้วยหัวของผมเอง (อีกครั้ง) ว่า เก่งรอบด้าน แถมยังหนุ่ม เพราะฉะนั้น พลังเหลือเฟือแน่ ๆ ในการทำให้อุตสาหกรรมนี้เดินหน้าต่อไปอย่างมีสีสัน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

ถามว่าความท้าทายตลอดเวลาที่ผมทำงาน และผมอยากจะทำให้ดีจนวันสุดท้ายที่ยังเป็น CEO ก็คือเรื่องของ "คน"

อย่างที่ผมเคยคุยให้ฟังหลายครั้งว่า พวกเรารู้และเข้าใจเสมอว่า "คน" เป็นหัวใจสำคัญของทุกเรื่องในโลกนี้ หลายเรื่องที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดจาก "คน" เช่นเดียวกัน หลายเรื่องที่แย่สุดสุดก็สามารถเกิดจาก "คน" ได้เช่นเดียวกัน ศาสตร์เรื่องการรู้และเข้าใจ รวมถึงสร้างพลังจาก "คน" จึงยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องศึกษากันอยู่เสมอ

"Liberal Arts"
จึงน่าจะเป็นสาขาวิชาที่ผู้จะเป็นผู้นำและต้องการเข้าถึงความเป็น "คน" ควรสนใจศึกษา หรือแวะเวียนไป Update บ่อย ๆ

เจาะมาที่ธุรกิจ Telecom ซึ่งหลายคนมักพูดถึงในฐานะธุรกิจ Hi-tech แต่จริง ๆ แล้วเราคือ "ธุรกิจบริการ" ดังนั้น การ Lead คนให้มีจิตสำนึกเรื่องงานบริการ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ปัญหาของลูกค้าเสมือนหนึ่งปัญหาของเรา การจินตนาการให้ออกว่า อารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าเมื่อใช้บริการจะต้องรู้สึกอย่างไร สนุก สะดวก และมีประสิทธิภาพแค่ไหน เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังให้บุคลากรรู้สึก และออกแบบการส่งมอบบริการให้ลูกค้าได้แบบ Real Time ทันต่อการเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม

นี่คือความท้าทายสำหรับผม ตลอดชีวิตของการทำงาน และเชื่อเหลือเกินว่า ศาสตร์ของ How to ในการดึงพลังจาก "คน" จะเป็น Trend ที่มาแรงมาก ๆ จากนี้ต่อไปแน่นอน

มีน้อง ๆ ถามผมว่า แล้วมีอะไรที่ผมอยากเห็นในแวดวงนี้อีกบ้าง...ผมใช้เวลาหายใจครึ่งวิ แล้วตอบทันทีว่า อยากเห็นการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบคุ้มค่า โปร่งใส คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากที่สุด

เพราะความพิเศษของอุตสาหกรรม Telecom อยู่ที่ "ความถี่" ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติและเป็นสมบัติสาธารณะ เป็นสิ่งที่ใช้แล้วสามารถนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้เสมอ ไม่มีวันหมดไปแบบทรัพยากรประเภทอื่น ๆ ดังนั้น การจัดระเบียบ การตั้งเป้าหมายที่จะใช้ ตลอดจนเส้นทางของการนำมาใช้จึงมีความสำคัญมาก ๆ และเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้อง Balance ระหว่าง Process กับ Result อย่างสมดุลที่สุด เพื่อให้ประเทศเราสามารถนำทรัพยากรส่วนนี้มาเสริมศักยภาพของประเทศได้แบบไม่ล้าหลังใคร

ทั้งนี้ รวมไปถึงการจัดระเบียบโครงข่ายสื่อสารที่พาดอยู่บนศีรษะเรา ส่วนที่อยู่ใต้ดิน ใต้น้ำ อันนี้หมายความได้ทั้งการจัดระเบียบไม่ให้รกรุงรัง และจัดระเบียบในเชิง Business Model นะครับ เพราะเรื่องนี้เป็นอีกส่วนสำคัญของการบริหารจัดการ Infrastructure ทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งผมขอรับประกันด้วยหัวของผมเอง (อีกแล้ว) ด้วยความเอาใจช่วยพร้อมกับเชื่อมั่นว่า หากทำได้เราจะเดินหน้าไปเร็วยิ่งกว่านี้หลายพันเท่า

สุดท้ายสำหรับ CEO แต่ไม่ท้ายสุดสำหรับคนคุ้นเคยในแวดวงสื่อสาร ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้ขอบคุณทุกท่านอย่างเป็นทางการ สำหรับกัลยาณมิตรในทุกวงการที่อาจเคยได้ร่วมทำงานกัน หรือร่วมเป็นคู่แข่งกัน ผมสนุกและตื่นเต้นกับทุกนาทีแห่งการทำงานแบบ Operation (ก็ขนาดช่วงสุดท้ายของการทำงาน ก็ยังตื่นเต้นกับคุกกี้รันอยู่เลย...)

เอาเป็นว่า วันนี้สำหรับผมเมื่อถึงวัยที่พลังกายอาจจะถอยลง แต่พลังใจและความกระหายที่จะเห็นบ้านเราเดินหน้าต่อได้ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบสื่อสารที่ดีที่สุด จะยังคงอยู่ในใจผมเสมอ

ขอบคุณอีกครั้งครับ




ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat






// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.