ผ่าแผนปฏิรูป ปตท. ตัดขาย "โรงกลั่น - ท่อก๊าซ" ลดผูกขาด
 


ผ่าแผนปฏิรูป ปตท. ตัดขาย "โรงกลั่น - ท่อก๊าซ" ลดผูกขาด


ผ่าแผนปฏิรูป ปตท. ตัดขาย

ทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายใต้คณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่นับจากนี้ไปน่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะว่าที่ประธานบอร์ดที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน ปตท.ที่กำลังอยู่ในยุคภาพลักษณ์ตกต่ำให้กลับมาดีดังเดิม และเป็นองค์กรเพื่อประโยชน์ของคนในชาติเป็นหลัก "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์" ซึ่งสาธารณชนคาดหมายว่าจะได้รับแต่งตั้งให้นั่งในตำแหน่งดังกล่าว ถึงการนำพา ปตท.สู่องค์กรสมถะ โปร่งใส และธรรมาภิบาล

- การล้างภาพผูกขาดของ ปตท.

ต้อง นำหลักการ สมถะ โปร่งใส และธรรมาภิบาลมาใช้ ส่วนของ "สมถะ" นั้นแม้ ปตท.จะมีกำไรมาก แต่มีบางประเด็นที่ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย เช่น การดำเนินการเรื่อง CSR ที่ผ่านมาใช้เงินมาก แต่ภาพลักษณ์กลับไม่ดีขึ้น ไม่มีใครเข้าใจ ปตท.มากขึ้น และเข้าทางนักการเมืองที่เข้ามาหาผลประโยชน์ ฉะนั้นต้องเข้ามาดูรายละเอียดให้พอดี และลดข้อกังขาของสังคม ส่วนของความ "โปร่งใส" คือต้องมีการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะราคาพลังงาน ยกเว้นกรณีที่เป็นข้อมูลทางธุรกิจ เช่น ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่จำหน่ายให้กับโรงงานปิโตรเคมี หรือต้นทุนราคาก๊าซที่หน้าโรงแยกก๊าซ

หรือ แม้แต่อัตราค่าผ่านท่อก๊าซที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แจ้งว่า ปตท.ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลชัดเจน ทำให้มีปัญหาการคำนวณค่าผ่านท่อที่เหมาะสม ทั้งที่ควรให้ความร่วมมือ รวมถึงกระแสการตั้งข้อสังเกตการลงทุนในต่างประเทศของ ปตท.ที่มีการวิจารณ์กันมาก ในฐานะกรรมการ ปตท.จะต้องเข้าไปดูรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น หากเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องมาหารือว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และ ปตท.ต้องระวังเรื่องการลงทุนมากขึ้น

สำหรับ "ธรรมาภิบาล" โดยเฉพาะการแต่งตั้งกรรมการ ที่ผ่านมาการเมืองเป็นคนแต่งตั้ง ฉะนั้นการแก้ปัญหาคือ รัฐบาลและกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นจะต้องจัดระบบให้รอบคอบ หากไม่ทำ ปตท.ก็ต้องทำเท่าที่จะทำได้ อาจออกระเบียบเพิ่มเติม อาศัยข้อมูลจากบริษัทชั้นนำของโลกว่าดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ได้กรรมการที่ดีเข้ามาทำงาน เพราะแนวทางเดิมที่ใช้อยู่ไปไม่รอด คุณสมบัติกรรมการของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด การเมืองแทรกแซงได้ง่ายด้วยซ้ำ

- เรื่องการอ้างความเป็นรัฐ และ บมจ.เพื่อประโยชน์


มอง ว่าเป็นปัญหาของคนภายใน ปตท.และเป็นวัฒนธรรมองค์กร จริง ๆ แล้วบุคลากรโดยรวมของ ปตท.เป็นคนดี แต่อาจมาจากความคิด ความไม่โปร่งใส หรือการเป็นธุรกิจใหญ่ อาจจะเอาเปรียบคู่ค้ามากเกินไปหน่อย ทำให้คนไม่รัก เหล่านี้ต้องเปลี่ยน ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ทำธุรกิจด้วย ภาพมันชัดเจนเวลา ปตท.ถูกกระแสโจมตี ถามว่ามีคู่ค้า ปตท.ออกมาช่วยชี้แจงหรือไม่

- แผนขายหุ้นโรงกลั่นลดผูกขาด

ควร นำ ปตท.เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เหมือนกับผู้ค้าน้ำมันรายอื่น เพราะการเป็นรัฐวิสาหกิจจึงได้รับการยกเว้น คือ ทำอะไรก็ได้ เอาเปรียบผู้บริโภค หรือคู่แข่งขัน ก็ได้รับการยกเว้น ควรจะแก้กฎหมายดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจทุกแห่งรวมถึงเตรียมเสนอ ให้ ปตท.ลดการถือหุ้นใน บมจ.บางจาก ปิโตรเลียม และในโรงกลั่น
น้ำมัน สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด หรือ SPRC ซึ่งขั้นตอนจากนี้ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด อาจกระจายหุ้นในส่วนที่ ปตท.ถืออยู่เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรขายหุ้นให้หมด เพราะเราต้องการลดส่วนแบ่งการตลาดในตลาดค้าส่งน้ำมันของ ปตท.ทั้ง 2 โรงนี้ เพราะ ปตท.เองก็ยังถือหุ้นในส่วนของ บมจ.ไทยออยล์ และ บมจ.ปตท.โกลบอลเคมิคอล หรือ PTTGC ฯลฯ

- แยกธุรกิจท่อก๊าซยังไม่เสร็จ

ควร ตั้งออกมาเป็นบริษัทใหม่ที่ กกพ.สามารถตรวจสอบดูแลได้ และเริ่มให้มีบุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ท่อก๊าซได้ แต่จะมีการแยกเป็นอีกองค์กรหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลด้วย แนวคิดที่ผมเสนอชัดเจนคือ องค์กรบริหารท่อก๊าซไม่ควรเป็นรัฐวิสาหกิจ ถ้าเป็นแบบนั้นการเมืองก็จะเข้ามาแทรกแซงได้ ให้แยกเป็นองค์กรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำกับดูแลด้วยพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน

- เปิดให้บุคคลที่ 3 ใช้ท่อได้


สามารถ ทำได้ และต้องร่างกฎเกณฑ์ให้ชัด ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ปตท.และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แต่นโยบายมันไม่ชัด คิดว่า ปตท.ต้องให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้บริการทางท่อ และระเบียบนี้มีประเด็นอื่นที่ต้องพิจารณาร่วมคือ การกำหนดราคาก๊าซ ต้องทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบนี้ ต้องดูพร้อมกันไป ผมจะผลักดันสิ่งเหล่านี้เท่าที่ทำได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาติและ ปตท.

- ลดการแข่งขัน ปตท.เป็นปัญหาหรือไม่

ตอน นี้ ปตท.ก็ถูกต่อต้านมากแล้ว ต้องปรับทัศนคติคนทำงาน แม้ว่าบุคลากรของ ปตท.จะเก่ง แต่ก็ถูกใส่ร้ายป้ายสีไปเยอะเช่นกัน ภาพที่ ปตท.เป็นผู้ร้ายมาจากการใส่ร้าย อาจจะมีความไม่โปร่งใสอยู่บ้าง ซึ่งต้องแก้ วันนี้พนักงาน ปตท.ไม่ได้มีความสุขที่ถูกต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานและ ปตท.ต่างประเมินสื่อออนไลน์ต่ำเกินไป ปล่อยให้มีการให้ข้อมูลเท็จมากจนเกินไป หรือกระทรวงพลังงานก็ทำ ๆ หยุดๆ อย่างวันนี้ถามว่าทำอย่างไรบ้างที่จะชี้แจงข้อมูลที่มันผิด ๆ อยู่ ทำน้อยมาก และตั้งรับอยู่ตลอดเวลา

ต้องจับตาดูช่วงนับถอยหลังสู่ยุคฟื้นภาพลักษณ์ขององค์กรแห่งนี้ว่าจะฟื้นศรัทธาและความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้มากน้อยแค่ไหน




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.