ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว
 


ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว


ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

คอลัมน์ พร้อมรับAECหรือยัง ณกฤช เศวตนันทน์ [email protected]

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นกระแสดังอยู่พอสมควรกับข่าวแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาและชาวพม่าที่แห่เดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งแรงงานต่างด้าวจากทั้งสองประเทศนี้เป็นแรงงานหลักที่มีความสำคัญกับหลาย ๆ อุตสาหกรรมในประเทศไทย ส่งผลให้ในขณะนี้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โดยสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยขณะนี้ พบว่าแรงงานต่างด้าว 3 ชาติหลัก ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา เป็นแรงงานต่างด้าวที่นำมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้ง 3 สัญชาติ รวม 408,507 คน และแบ่งเป็นแรงงานจากกัมพูชามากที่สุดถึง 241,673 คน แรงงานจากพม่า 111,492 คน และแรงงานลาว 55,342 คน

ส่วน แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย และผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ทางการไทยบริหารจัดการขึ้นทะเบียนและส่งให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สถานะบุคคล หลังจากพิสูจน์แล้วจะให้เอกสารรับรองบุคคล โดยแรงงานประเภทนี้มาจากพม่ามากที่สุดถึง 1,603,279 คน กัมพูชา 153,683 คน และลาว 40,546 คน

จากกระแสข่าวที่ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีคำสั่งให้ทุกพื้นที่เอาจริงกับขบวนการค้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ก็ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากเกิดความหวาดกลัวและหนีกลับประเทศ ซึ่งแต่ละด่านมีรายงานว่าพบแรงงานต่างด้าวกลับประเทศเฉลี่ยสูงถึงวันละ 1,000 คน

โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชาที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดสระแก้ว ผลักดันกลับประเทศในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมมีกว่า 35,000 คนแล้ว ล่าสุดมีข่าวว่าแรงงานกัมพูชาเดินทางกลับประเทศรวมทุกด่านสูงถึง 150,000 คน

ปัญหาเรื่องการตื่นตระหนกของแรงงานต่างด้าวนั้นส่งผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม อาทิ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่ออกมายอมรับว่า ขณะนี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวเข้าขั้นรุนแรง โดยแรงงานต่างด้าวในส่วนของผู้ส่งออกข้าวและโรงสีหายไปถึงร้อยละ 80 ทำให้การส่งมอบสินค้าเกิดความล่าช้า และหยุดชะงักช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือบริษัทก่อสร้างต่าง ๆ ที่ออกมากล่าวว่า ในไซต์งานต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ สมุทรปราการ หาดใหญ่ ภูเก็ต ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขาดแคลนแรงงาน

อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมประมง เช่น ที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร จันทบุรี และตราด โดยประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาครให้ข้อมูลผลกระทบจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในสมุทรสาครทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ตื่นตระหนกและทยอยกลับประเทศเฉลี่ยวันละ 1,000 คน

และแนวโน้มยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องลดกำลังผลิตลงกว่าร้อยละ 50 สอดคล้องกับนายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยที่เปิดเผยว่า ภาคการประมงได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเรือประมงใช้แรงงานต่างด้าวถึงร้อยละ 99

จากเหตุการณ์ที่แรงงานต่างด้าวแห่กลับประเทศนี้ ส่งผลให้ต้องหยุดออกหาปลาแล้วกว่าร้อยละ 15 ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าธุรกิจประมงอาจต้องหยุดชะงัก และกระทบในวงกว้างแน่นอน

ล่าสุด คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 68/2557 ซึ่งเป็นมาตรการผ่อนผันโดยมีสาระสำคัญว่า ให้ผู้ประกอบการ นายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองในการทำงานและไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน

โดย คสช.มีมาตรการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง จัดทำบัญชีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความดูแลให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดระเบียบในห้วงต่อไป และให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด เพื่อให้ทางการไทยสามารถให้การคุ้มครอง ดูแล ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม

กับทั้งให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ และขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

สอดคล้องกับคำยืนยันจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ว่า ประเทศไทยไม่มีนโยบายขับไล่แรงงานชาวต่างด้าว รวมถึงไม่ได้สั่งการให้กวดขัน กดดัน หรือขับไล่แต่อย่างใด ส่วนกรณีที่มีข่าวลือจนแรงงานแห่กลับประเทศนั้นจะต้องตรวจสอบสืบหาที่มาของข่าว เพื่อดำเนินการแก้ไข ระงับข่าวลือต่อไป

แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นข่าวที่ออกไปว่า รัฐบาลมีการกวาดล้างหรือจับกุมแรงงานต่างด้าวเพื่อส่งกลับประเทศทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ

แต่ต้นตอของข่าวลือน่าจะมาจากเจตนาดีที่ทางการไทยต้องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศ เพื่อให้แรงงานที่ผิดกฎหมายได้เข้าสู่ระบบและได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายของไทย รวมถึงไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือตกเป็นเหยื่อของนายจ้างหรือขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งหากเป็นแรงงานที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ย่อมทำงานได้ตามปกติและไม่ควรกลัวข่าวลือไปก่อนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่สถานประกอบการใดที่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวได้กลับประเทศไปแล้ว แต่ประสงค์จะให้แรงงานเหล่านั้นกลับมาทำงานใหม่ ก็สามารถทำได้ โดยการยื่นขอโควตานำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านบันทึกความร่วมมือระหว่างประเทศกับกรมการจัดหางาน ตามกระบวนการปกติ ซึ่งจะมีผลทำให้แรงงานกลุ่มที่เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้วสามารถกลับเข้ามาทำงานได้อีกครั้ง อย่างถูกต้องตามกฎหมาย






ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/prachachat
ทวิตเตอร์ @prachachat





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.