ประภาส ชลศรานนท์ โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ
 


ประภาส ชลศรานนท์ โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ


ประภาส ชลศรานนท์ โดย ธนา เธียรอัจฉริยะ

ไอดอลทางความคิดของคุณคือใคร

เป็นคำถามยอดฮิตเวลามีคนมาสัมภาษณ์ผมตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งเป็นคำถามที่ผมไม่ต้องเสียเวลาคิดและตอบเหมือนเดิมทุกครั้ง ตั้งแต่ถูกถามคำถามนี้ครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน...

ผมรู้จักพี่จิก ประภาสครั้งแรกผ่านบทเพลงของเฉลียงตั้งแต่ผมเรียนมัธยม เป็นวงที่กระตุกความคิดของเด็กในรุ่นผมอย่างมากในความแปลกในเนื้อหา การมองมุมที่ต่างออกไป ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ในยุคนั้น หลาย ๆ เพลงชี้นำวิธีคิดใหม่ ๆ ให้กับเด็กที่อยู่ในกรอบความคิดเดิม ๆ อย่างผม เริ่มสับสนและอยากจะลองคิดตามในแนวทางนั้นบ้าง ยิ่งคิดตามก็ยิ่งสนุก ยิ่งทำให้ผมค้นหาเบื้องหลังความคิดของวงนี้ด้วยการอ่านรายละเอียดทุกอย่างของวง

ที่น่าประหลาดเข้าไปอีกก็คือ ในวงเฉลียงจะมีชื่อประภาส ชลศรานนท์ อยู่เป็นเงาทางความคิดโดยตลอด แต่ไม่เคยเห็นประภาส ชลศรานนท์ บนเวทีเลย ทำให้ผมยิ่งอยากค้นหาความเป็นประภาสมากเข้าไปอีก

หลังจากนั้น ผมก็ตามอ่าน ตามรอยของพี่จิก ประภาสมาตลอด ไม่ว่าจะผ่านหนังสือทุกเล่มที่พี่จิกเขียน นิตยสารสุดแนวที่พี่จิกร่วมสร้างอย่างไปยาลใหญ่ งานเพลงทุกเพลงไม่ว่าจะใช้นามปากกาอะไร เรียกได้ว่าเป็นสาวกแบบเต็มตัว ความคิดต่าง ๆ ของพี่จิกก็เข้ามามีอิทธิพลกับผมเยอะมาก

วิธีคิดแบบอื่น ๆ อีกมากมายเป็นวิธีคิดแรก ๆ ที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยน อื่น ๆ อีกมากมายเป็นเพลงในยุคแรก ๆ ของเฉลียงที่ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นที่เห็นในมุมอื่น ๆ พี่จิกเขียนท่อนหนึ่งไว้ว่า "เด็กหนีไม่ยอมเรียน โดดเรียนเพราะเหตุใด ใครตอบได้ไหม เด็กไปเพราะใจเบ่ง แม่ให้ไปขายของ ครูสอนไม่ดีเอง เด็กรักเป็นนักเลง อื่น ๆ อีกมากมาย...อื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่รู้ อาจจะจริง เราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ที่ยังไม่เห็น"

พี่จิกแต่งเพลงนี้ตั้งแต่อายุยังไม่ยี่สิบเลยมั้งครับ

ที่มาของเพลงนี้ก็แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่สำคัญมากๆ ประการหนึ่งที่ทำให้พี่จิกเป็นนักคิดที่แหลมคม พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง หนึ่งในสมาชิกของเฉลียงเคยเล่าให้ฟังในการบรรยายเรื่องคิดนอกกรอบว่า วันหนึ่งพี่จุ้ยอยากมาหาพี่จิกมาก และมาดักเจอเพื่อพูดคุย พี่จิกก็ถามว่าไม่ต้องเรียนเหรอ พี่จุ้ยก็บอกว่าโดดเรียนมา พี่จิกก็ถามว่าทำไมถึงโดดเรียนล่ะ พี่จุ้ยก็เล่าโน่นเล่านี่ไป พี่จิกฟังด้วยความสนใจแล้วก็ไม่พูดอะไร อีกอาทิตย์หนึ่งต่อมาก็เอาเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย เพลงนี้มาให้พี่จุ้ยฟัง

พี่จุ้ยเล่าต่ออีกว่า พี่จุ้ยเคยขอเขาไปนั่งฟังเวลาพี่จิกกับชาวคณะนั่งประชุมคิดงานครีเอทีฟกันที่บริษัทเวิร์คพอยท์ฯ ที่พี่จิกทำงานอยู่จะได้เห็นความเป็นอัจฉริยะทางความคิดอันแหลมคมของพี่จิก

ไปนั่งฟังจริง ๆ ก็ได้เห็นแต่พี่จิกถามน้องคนโน้นที คนนี้ที แล้วก็ทำหน้าเอ๋อ ๆ นั่งฟังน้อง ๆ ทุกคนทุกประโยคอย่างตั้งใจ แต่ไม่ได้เห็นไม่ได้ฟังอะไรคม ๆ จากพี่จิกเลย แต่อีกไม่กี่อาทิตย์ก็จะเห็นงานดี ๆ จากพี่จิกออกมา

คุณสมบัติที่สำคัญของนักคิดที่ดีประการสำคัญอันหนึ่งก็คือ การให้ความสำคัญกับการฟัง พี่จุ้ยสรุปไว้แบบนั้นโดยมีพี่จิกเป็นตัวอย่าง


พี่จิกมีแง่มุมที่น่าสนใจแม้กระทั่งในมุมของธุรกิจไม่น่าเชื่อว่าบริษัทเล็ก ๆ ที่ชื่อ Workpoint ที่พี่จิกร่วมสร้างกับคุณปัญญา นิรันดร์กุล โดยถือหุ้นคนละครึ่งและมีทุนจดทะเบียนเพียงหนึ่งล้านบาท จะใช้เวลาไม่กี่ปีกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาทได้ เป็นบริษัทที่เติบโตมาด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่านผลงานต่าง ๆ โดยแท้

ไม่พูดถึงรายการดัง ๆ อย่างชิงร้อยชิงล้าน หรือ Thailand′s got talent รายการที่มีความคิดสร้างสรรค์ในมุมแบบพี่จิก เช่น แฟนพันธุ์แท้ที่เกิดจากความชื่นชมของพี่จิกในการนั่งฟังคนที่รู้ลึกรู้จริงในเรื่องแต่ละด้าน หรือเกมทศกัณฐ์ที่เกิดจากความจำที่ไม่ดีเอาอย่างมาก ๆ ของพี่จิกที่จำหน้าจำชื่อคนไม่ได้เลยต้องคิดเกมมาช่วยเตือนความจำของตัวเอง แต่ที่น่าทึ่งก็คือรายการที่สามารถผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ งานศิลปะ หรืองานที่เป็นไทยมาก ๆ ที่ไม่น่าจะสามารถทำให้อยู่รอดเชิงพาณิชย์ได้ แต่ก็สามารถทำรายการหรือชิ้นงานออกมาได้อย่างงดงามอย่างชิงช้าสวรรค์ หรือคุณพระช่วย เป็นต้น

ทำให้ช่างน่าคิดว่า พี่จิกและชาวคณะใช้กระบวนการคิดอย่างไรถึงมีงานสร้างสรรค์ดี ๆ ออกมาอยู่ตลอดเวลา

พี่จิกเคยมาบรรยายให้ทางหลักสูตร abc ในเรื่องนี้พี่จิกเรียกว่าเป็นวิธีตีหิน พี่จิกจะใช้แนวทางนี้สอนน้อง ๆ ที่เริ่มเข้ามาทำงานใน Workpoint ให้ลองคิดในมุมต่างออกไปจากโจทย์ที่มีอยู่ เช่น การทำลายกรอบลวงตาที่คิดไปเอง การมองย้อนศร วิธีคิดแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง วิธีคิดแบบจับคู่ผสมพันธุ์กัน วิธีคิดแบบสมมติ หรือถ้านึกไม่ออกก็ให้ลองขีด ๆ เขียน ๆ อะไรไปก่อน เป็นวิธีที่ผมแอบจำไปลองใช้เวลาทำงานบ่อย ๆ และได้ผลอยู่บ่อยครั้ง

ผมได้มีโอกาสรู้จักพี่จิก หรือจริง ๆ ต้องใช้วิธีว่าพยายามไปรู้จักพี่จิกมากกว่า และได้มีโอกาสได้นั่งฟัง ร่วมก๊วนกินข้าว และเคยได้มีโอกาสเล่นกอล์ฟกับพี่จิกด้วย พี่จิกก็เป็นเหมือนที่คิดไว้จริง ๆ เวลาพี่จิกอยู่ในก๊วนกินข้าวก็จะนั่งทำหน้าเอ๋อ ๆ เหมือนที่พี่จุ้ยแอบเมาท์ นั่งฟังทุกคนอย่างสนใจ และคิดสนุกสนานตามไปด้วย นอกจากนั้น พี่จิกยังให้ความกรุณาผมอย่างมากในหลายโอกาสตั้งแต่ตอนที่อยู่ดีแทคและไปขอเพลงพี่จิกมาใช้ จนมาทำหลักสูตรเรื่องความคิดสร้างสรรค์ พี่จิกเป็นชื่อแรกที่ผมและพี่ตุ้มหนุ่มเมืองจันท์อยากได้มาเป็นวิทยากร พี่จิกก็ตกปากรับคำมาบรรยายให้แบบไม่ลังเล มีโอกาสเจอกันที่ไหนพี่จิกก็จะเข้ามาทักทายด้วยความเมตตาเสมอ

ก่อนรู้จักพี่จิก เวลามีใครถามว่าไอดอลทางความคิดผมคือใคร ผมก็จะตอบเต็มปากเต็มคำว่า ประภาส ชลศรานนท์ เมื่อได้รู้จักพี่จิกตัวเป็น ๆ แล้ว เวลามีคนมาสัมภาษณ์แล้วไม่ได้ถาม ผมก็จะสะกิดผู้สัมภาษณ์ด้วยว่า ไม่ถามผมเหรอว่าไอดอลทางความคิดผมคือใคร

เพราะผมอยากจะตอบว่า ประภาส ชลศรานนท์...





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.