อจ.จุฬาแจงเลือก "น้องตั๊น" ถึงคิวสิงห์ดำนำปฏิญาณ
 


อจ.จุฬาแจงเลือก "น้องตั๊น" ถึงคิวสิงห์ดำนำปฏิญาณ


อจ.จุฬาแจงเลือก

กระแสต้าน "ตั๊น"จิตภัสร์ นำกล่าวคำปฏิญาณพิธีรับปริญญาของจุฬาฯ เริ่มบาน 2 อจ.สิงห์ดำโพสต์เฟซบุ๊กไม่ขอเข้าร่วมพิธีด้วย

หลายกลุ่มออกมาคัดค้าน น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือตั๊น แกนนำ กปปส. ที่เพิ่งจบการศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นผู้นำกล่าวคำปฏิญาณในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ประชาไท ระบุว่านายจักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และ น.ส.ณัฐนันท์ คุณมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ขออนุญาตไม่เข้าร่วมห้องประชุมในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรของคณะรัฐศาสตร์ ที่จะมีขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยอาจารย์ทั้งสองให้เหตุผลว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกนิสิตผู้เป็นตัวแทนกล่าวนำคำสัตย์ปฏิญาณในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่ง น.ส.จิตภัสร์ กฤษดากร หรือน้องตั๊น กปปส. เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว เนื่องจาก น.ส.จิตภัสร์เป็นผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ยังอยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินคดี อีกทั้งยังมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กล่าววาจาดูถูกชนบท ไม่เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ ขณะที่นายจักรกริชถึงกับใช้คำว่า เป็นการทรยศต่อวิชาหากตัวเองเข้าร่วมในพิธีการดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นนักมานุษยวิทยา และสอนวิชาว่าด้วยชาวบ้านและสังคมชนบท ปริญญาเอกและตำแหน่งทางวิชาการได้มาจากการเรียนรู้จากชาวบ้าน "ผมจะทรยศต่อวิชาและบรรดาครูชาวบ้านเหล่านี้ และจะไปชื่นชมยินดีกับผู้แทนบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยที่เคยอ้างตัวว่าเกียรติภูมิของตนคือการรับใช้ประชาชนเลือกขึ้นมากล่าวนำในพิธีรับปริญญาบัตรผู้ซึ่งเคยแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าดูถูกคนต่างจังหวัดและผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าตนได้อย่างไร"อย่างไรก็ตามเนื่องจากอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นผู้ดูแลการฝึกซ้อมบัณฑิตขึ้นรับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ จึงจะทำหน้าที่จัดแถวบัณฑิตเข้าสู่ห้องประชุมตามปกติ แต่จะไม่เข้าไปในห้องประชุมในช่วงพระราชทานปริญญาบัตร

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถาม น.ส.ณัฐนันท์ คุณมาศ จากกรณีดังกล่าวโดย นางณัฐนันท์กล่าวว่า เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการฝึกซ้อม จะทำหน้าที่ฝึกซ้อมจนถึงวันรับปริญญาและจะปฏิบัติหน้าที่จนเสร็จ คือส่งนิสิตเข้าไปนั่งในพิธีให้เรียบร้อย แต่จะไม่เข้าอยู่ร่วมพิธีในหอประชุมด้วย เป็นการแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากรู้สึกว่ากระบวนการเลือกนิสิตไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นกระบวนการ เป็นการเลือกของตัวประธานฝึกซ้อมเอง เชื่อว่าหลังจากนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคงจะมีความรัดกุมมากขึ้น

"กรณีนี้ไม่มีใครทราบเรื่อง นิสิตก็จะทราบในวันซ้อมครั้งสุดท้ายเลย การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น โดยหลักแล้วคนที่เป็นพระเอกนางเอกของงานจริงๆ คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรีเพราะเป็นปริญญาบัตรใบแรก การถวายสัตย์ปฏิญาณน่าจะนำคนที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ ส่วนทางผู้ใหญ่หากอยากให้รางวัลแก่ นส.จิตภัสร์ ในการช่วยเหลือประเทศชาติ ควรไปมอบรางวัลในทางอื่่น ไม่อยากให้บุคคลที่มีคู่ขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น นปช. หรือ กปปส. ได้รับการคัดเลือกทั้งสองฝ่าย" น.ส.ณัฐนันท์กล่าว

นายสกลธี ภัททิยะกุล อดีตแกนนำ กปปส. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Skoltee Phattiyakul" ว่า "2 อาจารย์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ คัดค้านน้องตั๊น จิตภัสร์ เป็นผู้แทนกล่าวปฏิญาณในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรและขอถอนตัวไม่เข้าร่วมพิธีรับปริญญา ให้เหตุผลว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนสร้างความขัดแย้งทางการเมือง ต้องคดีทางการเมืองที่อยู่ในการพิจารณาของศาล อยากรู้ว่าสำหรับคนที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแล้วให้จำคุกเพราะทุจริตและยังหลบหนีคดีไปต่างประเทศอีกอาจารย์มีความเห็นยังไงครับ"

ด้านตัวแทนจากคณะกรรมการบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีการศึกษา2556 รายหนึ่งกล่าวว่า การคัดเลือกตัวแทนบัณฑิตกล่าวคำปฏิญาณ เป็นการคัดเลือกของนายอนันตชัย คงจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ อาจารย์ผู้ฝึกซ้อมบัณฑิตฯ บัณฑิตที่เข้าร่วมงานก็เพิ่งทราบในวันซ้อมใหญ่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา และในวันดังกล่าวก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร หลังจากนั้นก็มีกระแสคัดค้านในสื่อสังคมออนไลน์ และการพูดคุยกันในกลุ่มบัณฑิตของคณะรัฐศาสตร์ ในส่วนของคณะกรรมการบัณฑิตฯก็ได้รับคำถามนี้เช่นกัน ขอชี้แจงว่าการคัดเลือกผู้แทนบัณฑิตกล่าวคำปฏิญาณ เป็นการเลือกโดยนายอนันตชัย ทางคณะกรรมการบัณฑิตฯไม่ได้เป็นผู้คัดเลือก ขณะนี้ขอยืนยันว่า น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ยังเป็นผู้แทนกล่าวคำปฏิญาณอยู่ ยังไม่มีการเปลี่ยนตัว ส่วนจะมีการเปลี่ยนตัวแทนบัณฑิตหรือไม่นั้น ทางคณะกรรมการบัณฑิตฯไม่มีปัญหา จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็ได้ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าควรเปลี่ยนตัว เพราะเห็นด้วยกับนายจักรกริช สังขมณี และ น.ส.ณัฐนันท์ คุณมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นายอนันตชัย คงจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในฐานะอาจารย์ผู้ฝึกซ้อมบัณฑิต กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้แทนกล่าวคำปฏิญาณ จะคัดเลือกจากบุคลิกภาพ ต้องเป็นบุคคลพูดจาฉะฉาน สามารถนำคนในหอประชุมได้ แต่ละปีจะเป็นการหมุนเวียนคัดเลือกตัวแทนของแต่ละคณะ สำหรับปีนี้ก็เวียนมาที่คณะรัฐศาสตร์ น.ส.จิตภัสร์จบการศึกษาพอดี ไม่ได้มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ปีที่ผ่านมาก็เลือกจากคุณสมบัตินี้เช่นกัน อาทิ ดารา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่นำคนจำนวนมากได้โดยไม่เคอะเขิน ส่วนกรณีที่มีอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์คัดค้าน โดยการจะไม่เข้าร่วมในพิธีในระหว่างที่ น.ส.จิตภัสน์กล่าวคำปฏิญาณนั้น ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และขอยืนยันว่ายังให้ น.ส.จิตภัสร์เป็นตัวแทนกล่าวนำปฏิญาณเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะ น.ส.จิตภัสร์ ไม่ได้ทำอะไรผิด การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การคัดค้านถือเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลที่สามารถกระทำได้ ส่วนการคัดเลือกผู้แทนดังกล่าว เป็นเรื่องของกรรมการบัณฑิต ที่ผ่านมากรรมการบัณฑิตจะมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่เหมาะสม โปร่งใสอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าขณะนี้เมื่อมีคนออกมาคัดค้าน ทางกรรมการบัณฑิตคงจะพิจารณาหารือกันถึงเหตุและผลที่เกิดขึ้นก่อนจะตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนผู้แทนกล่าวคำปฏิญาณหรือไม่การตัดสินใจใดๆต้องสามารถตอบคำถามสังคมได้ด้วย โดยส่วนตัวคิดว่าจริงๆ แล้วการศึกษากับการเมืองเป็นคนละส่วนกัน ไม่ควรนำมาโยงเป็นเรื่องเดียวกัน

นพ.ภิรมย์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังการประชุมสภามหาวิทยาลัยว่าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าวเพราะถือว่าเป็นเรื่องของนักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการ ยืนยันเช่นเดิมว่าสภาฯไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นอำนาจของคณะกรรมการบัณฑิตคัดเลือก

"ที่ผ่านมาในงานพระราชพิธีพระราชทานปริญญาบัตรทุกๆ ปี คณะกรรมการบัณฑิตจะเป็นผู้คัดเลือกตัวแทนบัณฑิตขึ้นกล่าวคำปฏิญาณฯ ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เพียงแต่ปีนี้บังเอิญว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน เลยมีกระแสต่างๆ ตามมา เชื่อว่าทางคณะกรรมการบัณฑิตจะมีคำอธิบายถึงเหตุผลที่ดีในการคัดเลือก"

นพ.ภิรมย์กล่าว และว่า ส่วนกรณีอาจารย์คัดค้าน ถึงขั้นไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงที่ น.ส.จิตรภัสร์กล่าวคำปฏิญาณนั้น ตนเคารพในสิทธิและการแสดงออกของทุกคน แต่โดยปกติในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจะมีนักศึกษาเข้ารับปริญญาบัตรจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น อาจารย์ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่เข้าร่วมอยู่แล้ว

ด้าน น.ส.จิตภัสร์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องดังกล่าว กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ยังไม่ทราบว่าเรื่องทั้งหมดเป็นอย่างไร ส่วนความเห็นของ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุถึงการคัดเลือกตัวแทนนั้น กรรมการบัณฑิตปีการศึกษา 2556 เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก ไม่ได้เป็นการตัดสินใจของอธิการบดีนั้น ตนไม่ขอแสดงความเห็น ขอกลับไปอ่านในรายละเอียดเรื่องทั้งหมดก่อน เพราะวันนี้ตนมีประชุมกับผู้ใหญ่จึงยังไม่ได้อ่านรายละเอียดต่างๆ





ที่มา : นสพ.มติชน




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.