ภูฏาน จะทะยานสู่โลกออนไลน์?
 


ภูฏาน จะทะยานสู่โลกออนไลน์?


ภูฏาน จะทะยานสู่โลกออนไลน์?

โดย ปฐม อินทโรดม

ภูฏานในจินตนาการของนักท่องเที่ยวทั่วโลกคงหนีไม่พ้นภาพธรรมชาติอันสวยงาม รายล้อมด้วยผู้คนสมถะ รักความสันโดษ และเฝ้าทะนุบำรุงพุทธศาสนารวมถึงวัฒนธรรมของชนชาติตัวเองอย่างเข้มแข็ง หากใครที่ยังยึดติดกับภาพดังกล่าวคงต้องเปิดใจให้กว้างขึ้น ภูฏานในวันนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เพราะ ดัชนีมวลรวมความสุข หรือ GNH (Gross National Happiness) ที่เคยใช้เป็นนโยบายหลักมาก่อนนั้นดูจะต้องถอยให้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เฉกเช่นประเทศอื่นๆ

เมื่อความเจริญทางวัตถุหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ อาคารสำนักงาน โรงแรม ฯลฯ จึงเริ่มผุดให้เห็นทั่วไปในเมืองหลวงอย่างทิมพู รวมถึงพาโรเมืองด่านหน้าที่เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติก็มีการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ มากมายทั่วเมือง

เช่นเดียวกับอุปกรณ์สื่อสารทันสมัยอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ก็กลายเป็นเทคโนโลยีคู่ตัวหนุ่มสาวภูฏานรุ่นใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว การกระโจนเข้าใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ รอบตัวของชาวภูฏานในเวลานี้จึงเป็นที่น่ากังวลสำหรับคนรุ่นเก่าที่ยังถวิลหาดัชนีมวลรวมความสุขเหมือนในอดีต



งานBhutan International IT & Training Event 2014 (BIITTE) จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบปัญหาดังกล่าว โดยงานนี้นับเป็นงานไอทีระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศภูฏานช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลภูฏานกับองค์กรด้านไอทีของประเทศต่างๆ ทั้งอินเดีย เนปาล มาเลเซีย สิงคโปร์ บังกลาเทศ และประเทศไทยที่รวบรวมผู้บริหารและนักวิชาการจากหลายองค์กรผ่านการประสานงานของสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย(ATCI) เป็นหลัก

หัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ เช่น ไอซีทีสำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการมี คุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ได้เปิดวิสัยทัศน์ของไทยในการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะโครงการบ่มเพาะ StartUp เป็นตัวอย่างให้ภูฏานได้เห็นการใช้พลังของคนรุ่นใหม่ในการสร้างธุรกิจด้านไอซีที ซึ่งพร้อมที่จะเติบโตไปสู่ระดับโลกได้หากได้รับการส่งเสริมถูกจุดและทันท่วงที รวมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนผ่านโครงการ Incubator ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา เพื่อเฟ้นหาดาวเด่นที่พร้อมจะก้าวเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

คุณไตรรัตน์ยังทิ้งท้ายถึงเรื่องSocial Enterprise ซึ่งอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับภูฏานแต่เชื่อได้ว่าจะเป็นพลังสำคัญที่มีแนวทางจากหลายๆ ประเทศให้ได้ศึกษา และอาจใช้เป็นก้าวถัดไปในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านไอซีทีสมัยใหม่

ถัดมาในหัวข้อการพัฒนาไอซีทีเพื่อการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมคุณสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แนะนำการจับใจนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มีพฤติกรรม 6S ที่อาศัยสื่อออนไลน์ในการ Search เพื่อหาแหล่งท่องเที่ยวที่ตรงกับใจ, Sense จับความรู้สึกผ่านเว็บบอร์ดและเครือข่ายสังคมทุกรูปแบบ, Score โหวตให้คะแนน, Selection การเลือกสรรโดยบทความหรือรีวิวในโลกออนไลน์เป็นหลัก, Self booking นิยมจองที่พักสายการบินด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์ และ Share เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้กลไกของสื่อออนไลน์เป็นหลักทั้งหมด

หัวข้อเสวนาที่เปิดประเด็นให้ถกกันได้มากที่สุดคือเรื่อง โซเชียล มีเดีย กับความสุขในสังคม มี ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี ขึ้นอภิปรายพร้อมชี้ให้เห็นความรวดเร็วของข่าวสารที่คนรุ่นใหม่ได้รับตลอดเวลา แม้แต่ตัวผู้บรรยายเองก็ยังได้รับข่าวสารจากเมืองไทยผ่านทางเครือข่าย 3G ของภูฏานได้ตลอดเวลา แม้ขณะที่อยู่บนเวทีเองก็ตาม แต่ความรวดเร็วเช่นนี้จะนำพาความสุขหรือความกังวลใจมาให้มากกว่ากันเป็นคำถามปลายเปิดที่ต้องให้แต่ละคนหาคำตอบด้วยตัวเอง

กรณีศึกษาด้านเทคโนโลยีในหลายๆประเทศจึงเป็นเหมือนบทสรุปและทางลัดให้ภูฏานไม่ต้องก้าวซ้ำความผิดพลาดเดิมๆ ที่เคยเกิดในประเทศอื่น และยังมีตัวอย่างความสำเร็จให้ชาวภูฏานเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของตัวเองได้ด้วย

อีก 5-6 ปีข้างหน้า ภาพของภูฏานที่เราเห็นคงจะเปลี่ยนแปลงไปจากทุกวันนี้มากมาย ซึ่งสีสันของเทคโนโลยีสมัยใหม่คงเข้าไปเติมเต็มส่วนประกอบต่างๆ ให้ภูฏานดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลกได้ โดยที่ยังคงแก่นแท้คือความสวยงามทางธรรมชาติเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน นี่คือสิ่งที่เราหวังเอาไว้ในประเทศเล็กๆ แห่งนี้...




ที่มา นสพ.มติชน





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.