เปิดรายงาน "การค้ามนุษย์" เจ้าหน้าที่ไทยคอร์รัปชั่น ถูกลดอันดับ Tier 3
 


เปิดรายงาน "การค้ามนุษย์" เจ้าหน้าที่ไทยคอร์รัปชั่น ถูกลดอันดับ Tier 3


เปิดรายงาน

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้เผยแพร่รายงานประจำปีเรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report หรือ Tip Report) ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2556 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2557 โดยรายงานฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นภายใต้กฎหมายสหรัฐ Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ กม. TVPA

ปรากฏในปีนี้ ประเทศไทยถูกลดอันดับมาอยู่อันดับต่ำที่สุด หรือจาก Tier 2 Watch List ประเทศที่มีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ ประกอบกับพบเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และไม่มีความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่เพิ่มขึ้น มาเป็นอันดับ Tier 3 หรือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ และไม่มีความพยายามการขจัดค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ



การถูกลดอันดับมาอยู่ใน Tier 3 จะส่งผลให้สหรัฐพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้าได้โดยในรายงาน Tip Report มีสาระสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยถูกลดอันดับลงมาต่ำสุดดังต่อไปนี้

Tip Report ปี 2557


ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านของการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยและประเทศอื่น มีการประเมินว่า มีแรงงานอพยพในไทยราว 2-3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนเมียนมาร์ ขณะที่เหยื่อการค้ามนุษย์ในไทยถูกนำมาใช้แรงงานใน อุตสาหกรรมประมงหรือเกี่ยวข้องกับการประมง, การผลิตเสื้อผ้า, โรงงาน และคนรับใช้ รวมถึงขอทาน

ผู้ชายชาวเมียนมาร์ กัมพูชา และไทย ต่างตกเป็นเหยื่อถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงไทยที่ออกหาปลาในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางคนต้องทำงานอยู่กลางทะเลเป็นเวลาหลายปีโดยได้รับค่าจ้างต่ำมาก หรือต้องทำงาน 18-20 ชั่วโมง/วัน เจ็ดวัน/สัปดาห์ และถูกทำร้ายร่างกาย มีเหยื่อที่ถูกช่วยเหลือพ้นจากเรือประมงไทยเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2556

นอกจากนี้ยังมีรายงานอย่างต่อเนื่องว่า เจ้าหน้าที่พลเรือนและทหารของไทย "คอร์รัปชั่น" ได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบนำชาวโรฮิงยา ที่ต้องการลี้ภัยจากเมียนมาร์และบังกลาเทศ ซึ่งใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อไปยังมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย และบังคับคนกลุ่มนี้ไปเป็นแรงงานบนเรือประมง เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยทำงานกันเป็นกระบวนการในการนำชาวโรฮิงยาออกจากที่คุมขังมาขายให้กับแก๊งลักลอบขนคนเข้าเมืองหรือนายหน้าค้ามนุษย์ส่งคนเหล่านั้นไปยังภาคใต้ของไทย แล้วบังคับให้ทำงานหรือขายต่อ

ผู้อพยพต่างด้าว ชนกลุ่มน้อย และคนไร้รัฐในประเทศไทย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และต้องประสบกับการกระทำมิชอบหลายอย่างที่บ่งบอกถึงการค้ามนุษย์ คนตามที่ราบสูงทางภาคเหนือของไทยมีความเสี่ยงมากที่จะเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ เหยื่อที่เป็นคนไทยถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ และต้องก่อหนี้เพื่อมาจ่ายให้นายหน้า ถูกบังคับขายแรงงานหรือขายบริการทางเพศ ขณะที่รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดในการขจัดการค้ามนุษย์ในภาพรวมเกิดการคอร์รัปชั่นในทุกลำดับขั้นก็เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา

ข้อแนะนำสำหรับไทย


ประเทศไทยต้องวิเคราะห์รายงานที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทั้งหมดในทันทีโดยเฉพาะผ่านทางหน่วยงานอย่าง กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ป.ป.ช., ป.ป.ท. เพื่อส่งฟ้องและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พัฒนาและบังคับใช้กระบวนการระบุตัวเหยื่อ ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิและความปลอดภัยของเหยื่อ ถอนฟ้องหรือยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาทนักวิจัย หรือสื่อมวลชน ซึ่งรายงานเรื่องการค้ามนุษย์

การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจและต่อสู้กับการค้ามนุษย์ อนุญาตให้เหยื่อการค้ามนุษย์วัยผู้ใหญ่ รวมถึงเหยื่อค้าบริการทางเพศได้เดินทาง ทำงาน และอยู่อาศัยนอกศูนย์พักพิง เพิ่มจำนวนล่ามในหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคนต่างด้าว ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพยาน จำกัดการประกันตัวของผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์ เพิ่มความพยายามในการยึดทรัพย์อาชญากรการค้ามนุษย์ และนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเหยื่อ

การดำเนินคดี


ปีที่แล้วมีการสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานต่างด้าวเพียง80 คดี ทั้ง ๆ ที่มีรายงานอย่างต่อเนื่องถึงการค้ามนุษย์ในไทย มีรายงานบางส่วนที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ไทย ทั้งตำรวจและตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเรียกเงิน และการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงชาวเมียนมาร์ที่ถูกจับกุม ในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตลอดจนขายชาวเมียนมาร์ต่อให้กับนายหน้า ในบางกรณีทหารมีส่วนรู้เห็นในการนำชาวโรฮิงยา หรือการหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์โดยเฉพาะชาวโรฮิงยาในภาพรวมทั้งหมด ระบบความยุติธรรมของไทยมีความรวดเร็วในการตัดสินเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรม ส่วนเรื่องค้ามนุษย์จะใช้เวลาการพิจารณาคดีมากกว่า 3 ปี หรือมากกว่านั้น

การป้องกัน


ความพยายามของหน่วยงานรัฐที่จะบ่งชี้อัตลักษณ์และป้องกันการซื้อขายเหยื่อการซื้อขายมนุษย์ยังไม่เพียงพออย่างการช่วยเหลือและจัดหาบริการจากรัฐบาลไทยที่ให้กับเหยื่อจำนวน 744 ชีวิต ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดหาความช่วยเหลือให้กับเหยื่อจำนวน 81 ราย เจ้าหน้าที่ในสถานทูตไทยบางคนไม่ยินดีที่จะช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์

นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายทางเลือกสำหรับผู้ลี้ภัยที่จะช่วยกำจัดการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศทำให้กลุ่มผู้อพยพเข้าเมืองส่วนใหญ่มีความเกรงกลัวต่อผลกระทบที่จะตามมา หากมีการบอกว่าตนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และไม่ยอมที่จะบอกว่าตนเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม เหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ มากกว่า 1 ใน 3 จะเป็นเด็ก ทางรัฐบาลไทยไม่ได้มีการจัดหาบริการหรือความช่วยเหลือสิ่งใดเป็นพิเศษสำหรับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อค้ากาม การฟ้องร้องในคดีการทารุณกรรมทางเพศเด็กชาวต่างชาติใช้เวลานาน ไทยยังไม่มีกระบวนการป้องกันและเยียวยาของรัฐไทยสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ไร้สัญชาติ

การป้องปราม

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันพิธีสาร UN TIP โดยมีการอนุมัติงบประมาณ 6.1 ล้านดอลลาร์ ในการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชนถึงความอันตรายของการค้ามนุษย์ แต่สื่อมวลชนในไทยรายงานว่า รัฐบาลไทยใช้เงินไปประมาณ 400,000 เหรียญไปกับการประชาสัมพันธ์เท่านั้น

กระบวนการทำให้แรงงานอพยพเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง และกฎหมายที่ย่ำแย่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จัดหางานที่ไม่มีใบอนุญาต ทำให้จำนวนของแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลไทยไม่มีความคืบหน้าในการปฏิรูปกฎหมายให้ดีขึ้นในการควบคุมบรรดาบริษัทจัดหางาน และประสบความล้มเหลวในการลดความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์จากชาวเขาในไทย

การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่แข็งขันการสนับสนุนทางด้านบุคลากรและเงินทุนที่ไม่เพียงพอ ตลอดจนความร่วมมือของหน่วยงานราชการที่มากเกินไปและไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นจุดที่ก่อให้เกิดการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังไม่มีการคุ้มกันการส่งเหยื่อกลับประเทศต้นทางด้วย






// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.