โลกมืดใน "เหมืองพลอย" โมซัมบิก เรื่องเล่าจากปากคำนักธุรกิจไทย
 


โลกมืดใน "เหมืองพลอย" โมซัมบิก เรื่องเล่าจากปากคำนักธุรกิจไทย


โลกมืดใน

เล่าเรื่องโดย อุศนา สุวรรณวงค์
[email protected]


มีเรื่องเล่าหลายเรื่องในทริปแอฟริกา แต่มีอยู่เรื่องที่จำไม่มีลืม คิดถึงเมื่อไร ภาพเรื่องเล่านั้นก็วนกลับมาแจ่มชัด เหมือนอยู่ในฉากหนังผจญภัยเรื่องใหม่ ที่สำคัญคือ ตื่นเต้นเหมือนได้ฟังครั้งแรกอยู่เสมอ

คนเล่าเรื่องที่ว่าเป๋็นนายกสมาคมค้าพลอยสี ไทย-โมซัมบิก "พิชิต นิลประภาพร" นักธุรกิจรุ่นแรกที่เข้ามาบุกเบิกทำธุรกิจ "ค้าพลอย" ในโมซัมบิก

คุณพิชิตเข้าทำธุรกิจที่นี่ได้เพียง 4 ปี แกยอมรับว่า ธุรกิจค้าพลอยที่ทำอยู่นี้ อยู่ใน "มุมมืด" ของโลก ว่ากันง่ายๆ คือ มันไม่ถูกกฎหมาย และนักธุรกิจไทยที่เข้ามาที่นี่ต่างเป็น "กองทัพมด" ด้วยกันทั้งนั้น

การเข้ามาขุดหาทรัพย์ใต้ดินที่นี่ เหมือนกับหนังผจญภัยไม่มีผิดเพี้ยน


ภาพไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

คุณพิชิตเล่าว่า เมืองที่มีพลอยซึ่งถือเป็นแหล่งพลอยใหม่ๆ ของแอฟริกา และเป็นที่ฮือฮาเมื่อ 4-5 ปีก่อน คือเมืองมองตาเปซ อยู่ในจังหวัดกาโบ เดกาโด ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของโมซัมบิก มีชายแดนติดกับประเทศแทนซาเนีย ผู้ค้าพลอยชาวไทยที่ทำธุรกิจกันอยู่ในแทนซาเนีย เมื่อ 4-5 ปีก่อนได้ข่าวพลอยแหล่งใหม่กันนี้ ก็พากันเดินทางจากแทนซาเนีย ฝ่าชายแดนเข้าแหล่งขุมทรัพย์กันเป็นยกใหญ่

"เดิมที่ค้าพลอยอยู่แถบแอฟริกา ไปทุกประเทศที่มีพลอย จากแทนซาเนียก็มาแหล่งพลอยใหม่ที่มองตาเปซในโมซัมบิก บุกเข้ามาจากชายแดนแทนซาเนียราว 200 กิโลเมตร มาแบบซาฟารีเลย ลุยเข้าป่า นั่งรถยนต์เข้ามาประมาณ 2 วันจึงถึงบ่อพลอย"


คุณพิชิต เล่าออกรส พร้อมพูดว่า "เหมือนอินเดียน่าโจนส์น่ะคุณ ทุลักทุเลกันแบบนั้น นั่งรถทางลูกรังมากๆ"

"มาเช่าบ้านคนดำในหมู่บ้านอยู่ เวลาอยู่กินก็เผื่อเขาด้วย ตอนหลังๆ ก็เช่าที่ปลูกบ้านของคนไทยรวม 100 กว่าหลัง บ้านเป็นแบบพื้นเมือง สร้างด้วยไม้ไผ่สานเอาดินโปะ แล้วเอาน้ำปูนมาทา ข้อแม้คือเราออกค่าสร้างบ้านให้หลังละ 300,000 บาท ก้อยู่บ้านนั้นไป 4 ปี ไม่มีค่าเช่า หลังจากนั้นก็ยกบ้านให้เขาเลย บางรายทั้งยกบ้านให้และจ่ายค่าเช่าให้ด้วย 3,000-8,000 พันบาท แล้วแต่ทำเล"

กระทั่งทำเลที่คุณพิชิตเล่า ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะบ้านเช่าที่ว่าแพงและทำเลดีที่ว่า ต้องไม่อยู่ติดถนน ต้องเข้าไปในซอกในซอยไว้หลบตำรวจ และเพราะคนในพื้นที่ที่ขุดพลอยมาขายไม่ออกมาเดินถนน

การรับซื้อพลอยดิบที่ชาวบ้านขุดมา ก็ตั้งโต๊ะรับซื้อกันในบ้านเช่าเลย ธุรกิจที่นี่ซื้อขายกันต่อเดือนอย่างต่ำ 1,000 ล้านบาท ช่วงทำรายได้คือฤดูฝน จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10% เหตุเพราะดินที่นี่เป็นทรายไม่กักน้ำ ฝนชะล้างจนดินเป็นหลุมบ่อแล้วก็ทำให้ขุดพลอยง่ายขึ้น ทั้งยังมีน้ำล้างก้อนพลอยด้วย ไม่ต้องทุลักทุเลเดินเท้าขนก้อนพลอยปนดินออกมา เพราะจากที่ขุดมาถึงหมู่บ้านเป็นระยะทางไกลราว 15 กิโลเมตร!!!

ฟังไปพลางจินตนาการภาพธุรกิจค้าพลอยของคนไทยที่มาที่นี่ ดิบและโหดเหมือนเรื่องเล่าในตำนานเก่าแก่ แต่ไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้ผ่านมาแค่ 4-5 ปี และยังคงเป็นอยู่บนหนทางธุรกิจที่นี่



ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

เรื่องเล่าว่าด้วย "ขุมทรัพย์" และ "การค้นพบ" พลอยในโมซัมบิก มีอีกมุมที่น่าสนใจยิ่งกว่า

นักธุรกิจคนไทยที่มาเปิดร้านอาหารไทยที่โมซัมบิก และอยู่มานานนับสิบปี เล่าว่า เป็นที่ทราบกันดีของชาวโมซัมบิกว่า ชาวไทยจำนวนไม่น้อยเข้ามาที่โมซัมบิกเพื่อธุรกิจค้าพลอย การเข้าประเทศโมซัมบิกของชาวไทยจึงถูกจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนที่นำเงินสดติดตัวมาด้วยจำนวนมากๆ

"เคยมีข่าวฮอตมากเที่ยวกับคนไทย เพราะคนไทยฆ่ากันตายที่เพมบา (เมืองใหญ่ที่สุดใน
จังหวัดกาโบ เดกาโด ใกล้แหล่งพลอยมองตาเปซ) มีการโดนปล้น หักหลังกัน โดนจับก็เยอะ เราคนหากินธรรมดากระทบนะ พอเห็นเป็นคนไทยมีเงินคิดว่ามาค้าพลอย ทั้งที่เราเดินทางไปกลับไทย-โมซัมบิกปกติ เราโดนเมื่อปีที่แล้ว ต้องให้โชว์เอกสาร เงิน บัญชีต่างๆ เพราะโดนเหมา คิดว่าเป็นคนไทยแล้วจะเข้ามาค้าพลอย"


ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ฟากนักการทูตไทยที่รู้ข้อมูลเรื่องนี้เล่าว่า สถานทูตไทยไม่มีประจำอยู่ที่โมซัมบิก แต่ที่นี่อยู่ในอาณาบริเวณและความรับผิดชอบของ สถานทูตไทย
ในกรุงพิทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเรื่องวุ่นๆ เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจค้าพลอยของชาวไทยที่นี่มีไม่น้อย บ้างถูกจับ เข้าคุก ร้องเรียนต่างๆ

เรื่องการค้นหาแหล่งพลอยของธุรกิจอัญมณีนั้น เป็นที่รู้กันว่า ไม่ว่ายาก ไกล หรือต้องสมบุกสมบันแค่ไหน ต่างต้องด้นไป เพราะก้อนพลอยดิบเป็นลมหายใจของธุรกิจอัญมณีในกาญจนบุรี

กระทั่ง นักธุรกิจไทยในแทนซาเนีย "ประยูร พงษ์ตระกูล" ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจอัญมณีในแทนซาเนียมานานถึง 32 ปี ก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจนี้ในโมซัมบิกให้ฟังจากประสบการณ์ว่า พ่อค้าพลอยในแทนซาเนีย 80-90% เป็นคนไทย และต่างส่งพลอยก้อนกลับไปเจียรที่กาญจนบุรี แต่ตอนนี้นักธุรกิจไทยที่ค้าพลอยในแทนซาเนียเหลือแค่ 40-50 คน เพราะข้ามชายแดนไปโมซัมบิกกันหมดแล้ว

คุณประยูรเล่าว่า การค้นพบแหล่งพลอยแดงที่เมืองมองตาเปซเกิดปัญหามาก เพราะว่าเมืองนั้นอยู่ห่างจากรัฐบาลกลางกว่า 2,000 กิโลเมตร ไม่มีเจ้าหน้าที่ และข้าราชการเข้ามาควบคุมอย่างเพียงพอ และยังมีนักธุรกิจบางกลุ่มที่ไม่ได้ทำตามกระบวนการที่ถูกต้อง

หากว่าไป ภูมิศาสตร์ของโมซัมบิกก็เอื้อให้เกิดปัญหาในประเทศมากพอควร เพราะตอนเหนือของประเทศเป็นหุบเขา ยังไม่มีถนนเข้าถึง โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนา และพื้นที่บรอเวณนั้นต่างมี "ทรัพย์ในดิน" มหาศาลซ่อนอยู่

 


ห้องวิจัยเกี่ยวกับอัญมณีในมหาวิทยาลัยในเมืองมาปูโต (ทั้งบนและล่าง)



ไม่ใช่แค่พลอย แต่ยังอุดมด้วยทองคำ แร่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลโมซัมบิกกำลังหาวิธีจัดการกับทรัพยากรอันมากมายของตนอยู่เช่นกัน

ในฐานะคนคลุกวงในธุรกิจค้าพลอย คุณประยูร บอกว่า อนาคตธุรกิจพลอยต้องมาที่แอฟริกา เพราะพม่าไม่มีแล้ว ส่วนออสเตรเลียก็มีกฎเกณฑ์เหมืองที่เข้มงวดมาก นักธุรกิจไทยจึงยึดแหล่งซััพพลายที่นี่เป็นหลัก
และพากันหลั่งไหลเข้าไปในโมซัมบิก

โมซัมบิกร่ำรวยพลอยมากแค่ไหน เห็นได้จาก ตอนไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในมาปูโต ที่ทำวิจัยเรื่องพลอยสีต่างๆ ในประเทศ เขาก็เอาเศษพลอยมาเรียงเป็นรูปวิว ทิวทัศน์ วิถีชีวิต และหญิงสาวแอฟริกัน โดยขายในราคาไม่สูงเลย หากเทียบกับการเจียระไนทีละเม็ด แล้วไปวางขายในตู้แถวกาญจนบุรี

ที่นั่นมีข้อมูลและทำการวิจัยเกี่ยวกับพลอยต่างๆ แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีการเจียระไน และ "สกัด" เอามูลค่าของพลอยเหล่านี้ออกมาเพื่อเรียกรายได้เข้าประเทศ จึงเป็นช่องของนักธุรกิจพลอยที่เข้ามาที่นี่ชัดเจนมากๆ


พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาในมาปูโตมีทรัพยากรจำนวนมาก
จัดวางแสดงหินที่สามารถเจียระไนเป็นอัญมณีทั้งด้านใน และบนสนามหญ้าด้านนอกตัวพิพิธภัณฑ์


1 ใน 3 ชิ้นของพลอยดิบตระกูลทับทิมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขุดพบในโมซัมบิก

ตอนเดินทางไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ในเมืองหลวงมาปูโต ก็ตื่นตากับพลอยเนื้ออ่อนดิบตระกูลทับทิมก้อนโตในตู้ ที่เขาเล่าว่า เป็น 1 ใน 3 ก้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ขุดพบที่นี่ อีก 2 ก้อนใหญ่ที่เหลือก็ขุดพบที่นี่เช่นกัน แต่ถูกรัฐบาลชาติอื่นซื้อไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีพลอยดิบอีกก้อน ที่ชาวยุโรปต่างฮือฮา เดินทางมาชมถึงพิพิธภัณฑ์นี้ เพราะมีรูปร่างเหมือนแมวหรือมีชื่อเรียกว่า "The Cat" เจ้าพลอยก้อนนี้โด่งดัง ถึงขนาดเจ้าหน้าที่ที่พิพิธภัณฑ์เล่าว่า ไม่ว่าใครมาก็ต้องขอถ่ายรูปกับเจ้าพลอยก้อนนี้ทั้งนั้น

เพราะทรัพย์สมบัติมหาศาลที่โมซัมบิกครอบครองนี่เอง เราถึงได้ฟังเรื่องเล่าน่าตื่นเต้นราวกับ "อินเดียน่าโจนส์" เรื่องนี้

หมายเหตุ :
เรื่องเล่าจากทริปการเดินทางไปทำข่าวอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เยือนโมซัมบิก-แทนซาเนีย-ยูกันดา ช่วงวันที่28 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2556




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.