มรดก "รถคันแรก" ดันงบฯคืนเงินคงคลังพุ่ง 212%
 


มรดก "รถคันแรก" ดันงบฯคืนเงินคงคลังพุ่ง 212%


มรดก

ทันทีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคาะกรอบงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2558 ออกมาที่ตัวเลข 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้าจำนวน 50,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2% ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2557 ที่เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 5.2% หรือจำนวน 1.25 แสนล้านบาท



ขณะที่โครงสร้างงบประมาณปี 2558 ประกอบด้วย "รายจ่ายประจำ" จำนวนกว่า 2.026 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนแค่ 0.5% หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท ส่วน "รายจ่ายลงทุน" มีจำนวนกว่า 4.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 17.5% ของวงเงินงบประมาณ ส่วน "รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้" อยู่ที่ 5.57 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2,800 ล้านบาท หรือ 5.4% ชี้ให้เห็นว่า คสช.พยายาม "ควบคุม" รายจ่ายประจำ แต่พยายาม "ให้ความสำคัญ" กับรายจ่ายลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีรายจ่ายอีกรายการที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงมาก คือ "รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง" ซึ่งมีจำนวนกว่า 4.19 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 212% หรือมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 2.85 หมื่นล้านบาท

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดต้องตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังสูงขึ้นถึงขนาดนี้ ?

และหากย้อนไปดูในปีงบประมาณ 2557 จะเห็นว่าตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังทั้งสิ้นกว่า 1.34 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% จากที่ในปีงบประมาณ 2556

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังอธิบายว่า การตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 169 ที่กำหนดว่า หากมีการเบิกใช้เงินคงคลังในปีงบประมาณที่ผ่านมา ต้องตั้งรายจ่ายชดใช้คืนในปีงบประมาณถัดไป โดยให้กำหนดแหล่งรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังใช้จ่ายไปก่อนแล้วด้วย

"หากใช้จ่ายเงินคงคลังไปในปีงบประมาณ2556 จะต้องตั้งชดใช้คืนในปีงบประมาณ 2558 ส่วนที่ใช้ในปีงบประมาณ 2557 ก็จะต้องไปตั้งชดใช้ในปีงบประมาณ 2559"

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การนำเงินคงคลังไปใช้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ทว่าในอดีตก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อนำเงินคงคลังไปใช้แล้ว ก็แค่ต้อง "ชดใช้ในทางบัญชี" เท่านั้น แต่หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกาศใช้ จะต้องมีการชดใช้จริง อย่างปีงบประมาณ 2558 ที่มีการตั้งถึงกว่า 4.19 หมื่นล้านบาทนี้ ทางกรมบัญชีกลางก็จะต้อง "ตั้งเบิก" จากงบประมาณกลับมาคืนในบัญชี "เงินคงคลัง บัญชีที่ 1" ต่อไป ซึ่งจะทำให้เงินรายได้ที่ประมาณการไว้ 2.325 ล้านล้านบาท ถูกกันมาส่วนหนึ่ง

"ปีงบประมาณไหนที่มีการใช้เงินคงคลังมาก ก็จะมีผลทำให้งบประมาณปีถัดไปน้อยลงไปด้วย คือจะไปเบียดบังงบประมาณรายจ่ายทำให้ลดลง"

ทั้งนี้ เงินคงคลังที่ถูกใช้ในปีงบประมาณ 2556 ถูกนำไปใช้จ่ายใน 5 รายการ โดยรายการที่เป็นประเภทเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ รวมถึงรายจ่ายสำหรับปรับวุฒิการศึกษามักจะเป็นรายการที่ตั้งงบฯไว้ไม่พอ ทำให้ต้องใช้เงินคงคลังจ่ายส่วนที่ขาด

อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2556 นั้นมี "รายการพิเศษ" เพิ่มเข้ามา คือการนำไปจ่ายใน "โครงการรถยนต์คันแรก" ซึ่งมีการตั้งงบฯจ่ายคืนผู้ที่ได้รับสิทธิ์แค่ 7,250 ล้านบาท ทำให้ "นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังสมัยนั้น ต้องอนุมัติให้ใช้เงินคงคลังในการจ่าย ในกรอบวงเงินไม่เกิน 31,000 ล้านบาท

สุดท้ายเมื่อ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ไม่อยู่แล้ว เลยเป็นหน้าที่ของ "คสช." ที่ต้องมาตั้งชดใช้คืนนั่นเอง




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.