ส่องยักษ์หลับ "อินโดนีเซีย" ดันรถต้นทุนต่ำขึ้นฮับอาซียน
 


ส่องยักษ์หลับ "อินโดนีเซีย" ดันรถต้นทุนต่ำขึ้นฮับอาซียน


ส่องยักษ์หลับ

คอลัมน์ ออโต เวิลด์ไวด์



ในตลาดรถยนต์เกิดใหม่ อินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศที่มาแรงที่สุด ด้วยจำนวนประชากรใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ราว 250 ล้านคน ซึ่งยังคงมีรายได้เฉลี่ยต่ำ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเติบโตของรายได้ที่สูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว และมีสภาพเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการในประเทศที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในจาการ์ตาที่ประชาชนอยู่ในฐานะชนชั้นกลางซึ่งมีกำลังซื้อ ในปีที่ผ่านมาจีดีดีเติบโต 5.6%

ปัจจัยเหล่านี้ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติต่างจับจ้องตลาดอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งอยู่ในช่วงเนื้อหอม หลังจากมียอดขายรถยนต์แซงประเทศไทยได้ในปีนี้ และรัฐบาลอินโดนีเซียยังมีโปรแกรมจูงใจนักลงทุนคือ "โลว์คอสต์กรีนคาร์" (Low Cost Green Car - LCGC)

ในปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียมียอดขายรถยนต์ 1.22 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่มียอดขาย 1.11 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 10.2% จากความต้องการรถยนต์นั่งที่มากขึ้น และจากนโยบายการสนับสนุนการผลิตโลว์คอสต์กรีนคาร์ นับตั้งแต่เดือนกันยายนของปีที่แล้ว ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับโครงการอีโคคาร์ในไทย และมีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเช่นกัน

รถในโครงการดังกล่าวมีราคาต่ำกว่า 8,800 ดอลลาร์ หรือราว 280,000 บาท ด้วยเงื่อนไขการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์ 1.0-1.2 ลิตร ที่รัฐบาลได้เสนอข้อจูงใจด้านอัตราภาษีแลกกับข้อกำหนดด้านอัตราการประหยัดน้ำมันของรถในโครงการ โดยหวังว่าจะทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นฮับของอุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน และรักษาเสถียรภาพด้านการเงินของประเทศ หลังจากในปีที่ผ่านมา ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าถึง 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากการที่นักลงทุนนำเงินออกนอกประเทศ

แต่ก็ยังคงมีปัจจัยลบจากการที่รัฐบาลกลางจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็น7.5% จากก่อนหน้านี้ที่ 5.75% บวกกับมาตรการพิจารณาสินเชื่อของไฟแนนซ์ที่เข้มงวด ทำให้ในปีนี้ยอดขายรถยนต์

น่าจะชะลอตัวลง แต่ในไตรมาสแรกมียอดขายอยู่ที่ 328,354 คัน เติบโต 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ก็จะมีรถยนต์ต้นทุนต่ำมาช่วยพยุงยอดขาย ทำให้คนที่ซื้อรถจักรยานยนต์หันมาซื้อรถยนต์ได้ง่ายขึ้น

รถยนต์ต้นทุนต่ำที่เปิดตัวในปีที่ผ่านมา คือโตโยต้า Agya และไดฮัทสุ Ayla โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา รถประเภทดังกล่าวมียอดขายที่ 44,000 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 18% จากยอดขายรถยนต์นั่ง ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งหดตัวลงราว 7.2% ส่วนยอดขายรถบรรทุกและรถบัสเพิ่มขึ้น ส่วนค่ายอื่นที่เข้าร่วม คือฮอนด้า กับรุ่น Brio Satya, ดัทสัน กับรุ่น Go และ Go+ และซูซูกิ กับรุ่น Karimun Wagin R

ซึ่งปัจจุบันทั้งโตโยต้าและไดฮัทสุถือเป็นผู้ครองตลาดรถยนต์รายใหญ่ ทั้ง 2 ค่ายมียอดขายมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งตลาด รวมทั้งมีเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายที่หนาแน่น โดยทั้ง 2 ค่ายได้เริ่มแนะนำรถต้นทุนต่ำในงานจาการ์ตามอเตอร์โชว์ 2012 ที่ผ่านมา และทั้งสองบริษัทยังลงทุนสร้างโรงงานประกอบเครื่องยนต์ในไตรมาสสามของปีที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนี้ยังมีค่ายรถอื่น ๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งเจเนอรัล มอเตอร์ส และโฟล์คสวาเกน ที่อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งรถที่ขายในอินโดนีเซียนั้น ก็น่าจะนำมาทำตลาดประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วย




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.