พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ "สถาปนิกยุคเออีซีต้องทั้งรับและรุก"
 


พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ "สถาปนิกยุคเออีซีต้องทั้งรับและรุก"


พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ

31 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีอย่างเป็นทางการ "สถาปนิก" เป็น 1 ใน 7 วิชาชีพที่จะเปิดเสรีรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

"พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่เข้ามานั่งในตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อจาก "สมิตร โอบายะวาทย์" ที่หมดวาระเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "พิชัย" ได้รับเลือกเข้ามานั่งเก้าอี้นายกสมาคมในวาระปี 2557-2559 ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเปิดเออีซี เพราะเขามีทั้งประสบการณ์การทำงานในบริษัทออกแบบชั้นนำของมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และการนำพาบริษัท A49 ออกสู่ตลาดใหม่ ๆ ทั้งในอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอินเดียจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯคนล่าสุด เพื่อเปิดวิสัยทัศน์และฉายภาพทางเลือก-ทางรอดของสถาปนิกไทยในยุคเออีซีเปิดประเด็นด้วยคำถามที่สถาปนิกทุกคนอยากรู้ว่าเปิดเออีซีแล้วสถาปนิกไทยจะอยู่อย่างไรต่อเรื่องนี้ "พิชัย" มองว่าสถานะของสถาปนิกไทยหลังการเปิดเออีซีต้องมีบทบาททั้งในเชิงรับและเชิงรุก

การตั้งรับสถาปนิกต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องยากเพราะความสามารถของสถาปนิกไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอยู่แล้ว ทั้งยังมีข้อได้เปรียบเรื่องราคา ความรับผิดชอบ และการบริการที่รวดเร็วและต่อเนื่องเพราะอยู่ใกล้ลูกค้ามากกว่า แต่เรื่องยากสำหรับการรับมือคือทัศนคติของลูกค้าคนไทยที่ยังนิยมใช้สถาปนิกต่างชาติและมองไม่เห็นคุณค่าของสถาปนิกไทย!

"ผมเชื่อว่าสถาปนิกไทยหลายคนมีฝีมือไม่ด้อยไปกว่าสถาปนิกต่างชาติ แต่คนไทยยังติดค่านิยมว่าของนอกต้องดีกว่า แม้แต่เรื่องสถาปนิกก็เหมือนกัน สถาปนิกไทยจึงได้งานโครงการขนาดใหญ่ของบริษัทอสังหาฯชั้นนำไม่มาก"

นอกจากนี้ สมาคมยังต้องทำงานร่วมกับสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งวิศวกรรมสถานฯ สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาฯ และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์สำคัญ และต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับสมาคมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เพื่อเปิดโอกาสใหม่ ๆ

"พิชัย" ระบุว่า ในเชิงรุก สถาปนิกไทยต้องกล้าที่จะเปิดตลาดใหม่ ๆ เริ่มจากอาเซียนเป็นอันดับแรก ต้องยกระดับคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อให้แข่งขันกับสถาปนิกต่างชาติได้

"เรื่องที่ยังต้องปรับหลักๆ เป็นเรื่องของภาษาและการนำเสนอผลงาน สถาปนิกไทยจำเป็นต้องมีทักษะทางภาษาเพื่ออธิบายและโน้มน้าวให้ลูกค้าเข้าใจคอนเซ็ปต์ หากไม่สามารถนำเสนอให้ลูกค้ารู้ถึงข้อดีได้ก็ไม่มีความหมาย นอกจากนี้ยังต้องปรับเรื่องการจัดการในเชิงธุรกิจเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเป็นมืออาชีพ"

ทั้งยังต้องเตรียมความพร้อมสถาปนิกไทยให้เป็นสถาปนิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการผลิตสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงยกระดับให้มีมาตรฐานในระดับสากล

ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ เขาใช้มาตรฐาน ISO เป็นตัวชี้วัดมาตรฐานของสถาปนิก แต่ประเทศไทยอาจไม่ต้องทำถึงขั้นนั้น แต่ต้องจัดกิจกรรมหรือสัมมนาระดมความคิดและต่อยอดการทำงานให้มีการพัฒนาด้านวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

การเปิดเออีซีแม้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ก็เป็นไปแบบมี "เงื่อนไข" สถาปนิกที่มีความพร้อมและมีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องเท่านั้นที่จะลงแข่งในสนามเออีซีได้

การเข้ารับอบรมสัมมนาสม่ำเสมอเพื่อเก็บคะแนนการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (พวต.) เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยการันตีว่าสถาปนิกมีการลับคมอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับคนที่ต้องการเป็นสถาปนิกอาเซียนตามข้อตกลงของสภาสถาปนิกอาเซียน เพราะหากไม่มีคะแนน พวต.สะสมตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับใบประกอบวิชาชีพสถาปนิกอาเซียน

ด้านการรุกเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคควรร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนท้องถิ่น เนื่องจากจะสร้างความได้เปรียบในด้านข้อมูลพื้นฐาน เช่น ระบบกฎหมายและกลไกบริหารของท้องถิ่น สภาพตลาด วัฒนธรรมและความนิยมของผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งช่วยให้การเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศนั้น ๆ สะดวกขึ้น

นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การเปิดเออีซีเปรียบเสมือนกับดาบ 2 คม ในแง่หนึ่งก็จะช่วยยกระดับการแข่งขันของสถาปนิกไทยและเปิดตลาดใหม่ให้กว้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดภาวะสมองไหล

"ผมพูดได้เลยว่าสถาปนิกไทยเป็นที่ต้องการในต่างประเทศมีสถาปนิกกว่าพันคนที่ทำงานอยู่ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และสถาปนิกรุ่นใหม่ก็เดินแถวไปทำงานในต่างประเทศเยอะมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องการเปิดประสบการณ์ใหม่ หรือค่าตอบแทนที่สูงกว่าในเมืองไทย ตอนนี้เริ่มมีปัญหาสมองไหลแล้ว"

เรื่องอัตราค่าตอบแทน ค่าบริการที่เป็นมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันค่าแบบของไทยถือว่าต่ำที่สุดในโลก โดยเฉพาะตลาดงานราชการ เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย ค่าแบบอยู่ที่ 6-8% ในขณะที่ค่าแบบของไทยอยู่ที่ 1.75% เท่านั้น

เรื่องนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้สมาคมได้ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อแก้ไขระเบียบการจัดซื้อ-จัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเสนอมาตรฐานใหม่ที่จะขอปรับแบบขั้นบันไดไปแล้ว คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

อย่างไรก็ตามสมาคมคาดหวังว่าสถาปนิก รุ่นใหม่ที่ออกไปหาประสบการณ์ในต่างแดนจะกลับมาช่วยพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันยุคเออีซี


ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.