ส่อง "รัฐอัสสัม" แดนภารตะ โอกาสทางธุรกิจที่ไทยยังไม่รู้
 


ส่อง "รัฐอัสสัม" แดนภารตะ โอกาสทางธุรกิจที่ไทยยังไม่รู้


ส่อง

หากพูดถึง "รัฐอัสสัม" ในประเทศอินเดีย ไทยและโลกน่าจะนึกถึงเพียง "ชาอัสสัม" ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเท่านั้น

และเหตุที่ชาอัสสัมโด่งดังก็เพราะเป็นภูมิภาคที่ปลูกชาจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากตอนใต้ของจีนเท่านั้น แต่นอกเหนือจากชาแล้ว อัสสัมยังมีทรัพยากรอื่นๆ ที่น่าสนใจ และมีช่องทางให้ธุรกิจไทยเข้ามาเจาะตลาด



กรมเอเชียใต้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ สถานทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี กระทรวงการต่างประเทศไทย เดินทางสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจของรัฐอัสสัม และรัฐอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ "อีสานอินเดีย" เป็นครั้งแรก


คณะของกระทรวงการต่างประเทศ เข้าพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงรัฐอัสสัม

นางศริกานต์ พลมณี รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ กล่าวว่า "การเยือนรัฐอัสสัม รัฐเมฆาลัย รัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งอยู่ในภูมิภาคอีสานอินเดียในครั้งนี้ เพื่อสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจ ลู่ทางการค้าการลงทุน และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของไทยที่ต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์กับอินเดีย และยังสอดคล้องกับโครงการถนนสามฝ่ายที่เชื่อมโยง 3 ประเทศ คือ ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย ให้เชื่อมถึงกันได้ด้วยคมนาคมทางบก เส้นทางนี้จะเป็นโอกาสในการเดินทางและการค้าที่มีระหว่างกันสูงขึ้น แม้ว่าไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ แต่การมาสำรวจโอกาสในอนาคตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากนี้ โครงการนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอินเดีย ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอีสานอินเดีย จนได้ตั้งกระทรวงพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศอีกด้วย"





โดยชภาพรวมรัฐอัสสัมกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจมีเมือง "กูวาฮาติ" เป็นเมืองใหญ่สุดของรัฐ ที่นี่กำลังเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด มีสนามบินใหม่เอี่ยมใหญ่โตที่เพิ่งเปิดใช้ได้ 1 ปี มองดูแล้วมีแบบแปลนคล้ายสนามบินสุวรรณภูมิของไทย เมื่อได้รับคำตอบว่า บริษัทอิตัลไทยเป็นผู้ประมูลได้และสร้างสนามบินนี้ จึงได้ไขข้อข้องใจ เป็นข้อมูลเบื้องต้นว่า ธุรกิจเอกชนรายใหญ่ของไทยเข้ามาบุกอีสานอินเดียบ้างแล้ว

ที่นี่มีอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่ดำเนินการจำนวน 115 แห่ง และมีอุตสาหกรรมหลายประเภท ทั้งปิโตรเคมี เหล็กและโลหะ ถ่านหิน ยานยนต์ พลาสติก การพิมพ์ ซีเมนต์ สิ่งทอ เป็นต้น

สิ่งสำคัญคือ อุตสาหกรรมขนาดเล็กมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐนี้ มีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนจำนวน 31,235 แห่ง มีการจ้างงาน 153,148 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังสามารถปลูกพืชผลหลากหลาย เช่น กล้วยได้มากถึง 577,148 ตันต่อปี สับปะรด 161,103 ตันต่อปี ขนุน 199,701 ตันต่อปี ฝรั่ง 78,994 ตันต่อปีี เห็นได้ชัดว่า ที่นี่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก





นายสุนทร ยินดีชัยภูมิ อัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี กล่าวว่า การมาหาข้อมูลในพื้นที่ครั้งนี้ ถือเป็นการลงพื้นที่จริงที่จะได้สัมผัสกับบ้านเมือง ผู้คน วัฒนธรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต โดยเห็นได้ชัดว่า อินเดียสนใจด้านการเกษตรของไทย อาทิ ธุรกิจแปรรูปอาหาร เพราะรัฐอัสสัมสามารถปลูกผลไม้ได้คล้ายไทย แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีในการเก็บรักษาหรือแปรรูปผลไม้เหล่านี้เลย

ด้าน นายรูปัม โกสวามี ประธานคณะกรรมการหอการค้ารัฐอัสสัม กล่าวว่า "ในภูมิภาคนี้ของอินเดีย ผลิตภัณฑ์ของไทยที่น่าจะเข้ามาทำตลาดได้คือ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทั้งหลาย เช่น ซอส แยม ลูกกวาด และเนื่องจากรัฐอัสสัมมีผลไม้มากอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเข้ามาลงทุนในด้านการเกษตรและแปรรูปอาหาร โดยขณะนี้เขตอุตสาหกรรมด้านแปรรูปอาหารในรัฐอัสสัมกำลังก่อสร้าง จึงเป็นโอกาสที่ดีของไทย นอกจากนี้ คนที่นี่ยังนิยมของตกแต่งบ้านด้วยของไทย ส่วนเครื่องประดับและอัญมณีนั้น ชาวอินเดียชอบดีไซน์ของไทยเป็นพิเศษ"

จากการสำรวจย่านธุรกิจในเมืองกูวาฮาติ การค้าปลีกมีมากและค่อนข้างคึกคัก แต่ปัจจัยใหญ่ที่อาจเป็นต้นทุนธุรกิจที่นี่คือ การคมนาคมขนส่งที่ยังไม่เป็นระบบนัก ใช้เวลาในการขนส่งและเดินทางในเมืองสูง รัฐบาลอินเดียตระหนักดีถึงอุปสรรคข้อนี้ และกำลังปรับปรุงระบบคมนาคมทางถนนและรางทั่วประเทศครั้งใหญ่มูลค่า 30 ล้านล้านบาท





ในมุมของความสะดวกสบายของผู้เข้ามาทำธุรกิจ รัฐอัสสัมมีโรงแรมอยู่มากพอสมควร ข้อมูลกรมท่องเที่ยวรัฐอัสสัมระบุว่า ปี 2555 โรงแรมและที่พักของรัฐนี้มีผู้เข้ามาใช้บริการราว 65% ปี 2555 นักท่องเที่ยวในประเทศ 4.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.20% จากปีก่อนหน้า ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 17,542 คน เพิ่มขึ้น 13.6% จากปี 2554

อย่างไรก็ตาม นายสุนทร ยินดีชัยภูมิ ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ต้องคำนึงสำหรับผู้ที่จะเข้ามาในอินเดียว่า ที่นี่มีวัฒนธรรมหลายเรื่องที่ต้องเข้ามาเรียนรู้ก่อนเข้ามาทำตลาด ด้านวัฒนธรรมการกิน ชาวอินเดียเป็นมังสวิรัติจำนวนมาก เป็นอีกข้อคำนึงของการนำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารเข้ามา ส่วนการดำเนินการทางธุรกิจที่นี่นั้นค่อนข้างใช้เวลาสูงมีหลายขั้นตอน สังคมที่นี่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ มีทั้งคนที่เป็นเศรษฐีในวรรณะสูง และคนยากจนในวรรณะต่ำกว่า ระบบวรรณะ จึงเป็นอีกเรื่องที่นักธุรกิจต้องเรียนรู้ก่อนเข้ามาทำตลาดหรือลงทุนในอินเดีย



"ถนน 3 ฝ่าย" ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย หนุนศักยภาพ "อีสานอินเดีย"


แผนที่เส้นทาง
ถนน 3 ฝ่าย เชื่อมไทย-เมียนมาร์-อินเดีย (ทั้งบนและล่าง)


โครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมไทย-เมียนมาร์-อินเดียหรือเรียกสั้นๆว่า"โครงการถนน 3 ฝ่าย" เริ่มจากผู้นำของทั้ง 3 ประเทศ เมื่อปี 2545 เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านขนส่ง เพื่อสนับสนุนการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว เริ่มสร้างเส้นทางจากชายแดนไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านเมืองปะกันของเมียนมาร์ ไปออกชายแดนเมียนมาร์ที่ด่านตามู และเข้าเขตอินเดียที่ด่านเมืองมอเรห์ รัฐมณีปุระ


นางรัตติกุล จันทร์สุริยา

นางรัตติกุล จันทร์สุริยา รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า "โครงการนี้เชื่อมโยงกับโครงการเส้นทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมเวียดนาม ลาว ไทย และเมียนมาร์ หรืออีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์" เส้นทางนี้สิ้นสุดที่เมาะลำไย เมืองท่าใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมาร์ ถนนสามฝ่ายจะทำให้ไทยเชื่อมกับเอเชียใต้ได้ ล่าสุด ถนนในเมียนมาร์คืบหน้าไปได้มากพอสมควรแล้ว ด้านถนนที่ไทยดูแลคือ จากแม่สอด เชื่อมเมืองเมียวดี และสิ้นสุดที่ เมืองกอกาเร็กของเมียนมาร์ คิดว่าจะเสร็จตามกำหนดปี 2559 และไทยก็จะเป็นเจ้าภาพการประชุมโครงการนี้ในอีก 2 เดือนด้วย"

นางรัตติกุล เพิ่มเติมว่า "เส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่นี่มีประชากรมาก เป็นตลาดใหญ่ หากหาตลาดเจอและเหมาะกับรสนิยมของผู้คนที่นี่ ในเบื้องต้นต้องมองเรื่องการค้า ส่วนในอนาคตเป็นเรื่องการเข้ามาลงทุนของไทย"




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.