ลงทุนในธนาคารลาว ทางเลือกใหม่ก่อนเข้า AEC
 


ลงทุนในธนาคารลาว ทางเลือกใหม่ก่อนเข้า AEC


ลงทุนในธนาคารลาว ทางเลือกใหม่ก่อนเข้า AEC

คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง



นับแต่ปี 2012 สปป.ลาวได้ปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุน เปิดให้มีเสรีทางการธนาคารมากขึ้น ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติภาคการเงินการธนาคารเข้ามาลงทุนเปิดสาขาหรือร่วมก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในลาวจำนวนมากเช่น ธนาคาร ANZ ของออสเตรเลีย ธนาคาร ICBC ของจีน ธนาคารมารุอิของญี่ปุ่น ธนาคาร Maybank ของมาเลเซีย ธนาคารกรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และกรุงศรีอยุธยา หรือธนาคารร่วมทุนลาว-เวียดนาม และธนาคารรร่วมทุนลาว-ฝรั่งเศส เป็นต้น รวมถึงการขยายตัวของธนาคารท้องถิ่นของลาวเอง เช่น ธนาคารพงสะหวัน ธนาคารเอสที และรัฐวิสาหกิจธนาคารนำเข้า-ส่งออก (BCEL) สำนักงานใหญ่สร้างใหม่ต่างตั้งเรียงรายตามแนวถนนล้านช้างก่อนถึงประตูชัย

กลุ่มทุนธนาคารต่างๆ เหล่านี้ เข้ามาระดมทุนพร้อมกับการลงทุนในการก่อสร้างต่างๆ ทั้งสาธารณูปโภค เขื่อน โรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ การสัมปทานเหมืองแร่และป่าไม้ อุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่ออาศัยช่องว่างของสิทธิพิเศษการสนับสนุนประเทศด้อยพัฒนาของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาในการส่งออก จึงต้องการเงินทุนจำนวนมาก เนื่องจากลาวมีอันดับเครดิตเรตติ้งค่อนข้างต่ำ ยังไม่สามารถขายพันธบัตรเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยต่ำและระยะการกู้เงินระยะยาว (Long-term Bond) ได้



ด้วยเหตุนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากในลาวจึงมีอัตราค่อนข้างสูง คือ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 3.5% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำราย 3-36 เดือน ตั้งแต่ 6-12.5% แม้แต่บัญชีกระแสรายวันที่มีเงินผ่านเข้าออกจำนวนมากยังให้ดอกเบี้ย 2-4% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 16-19% ต่อปี

ถ้าดูแค่อัตราดอกเบี้ยก็อาจทำให้ตาลุกวาวขนเงินไปฝากกินดอกเบี้ยเป็นเสือนอนกินในลาวได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การนำเงินไปฝากกินส่วนต่างดอกเบี้ย หรือ อาร์บิเทรจ (Arbitrage) ในลาว ยังมีความเสี่ยงและเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดอยู่พอสมควร ได้แก่

1. การฝากเงินใน สปป.ลาว สำหรับคนต่างชาติ ส่วนมากยังต้องการใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หรือใบรับรองการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศในการขอเปิดบัญชี อย่างไรก็ดี มีธนาคารบางแห่งอนุญาตให้ใช้พาสปอร์ตเปิดบัญชีได้ แต่ต้องมีถิ่นพำนักเป็นที่อยู่ในลาวที่ชัดเจน

2. ความเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงิน เนื่องจากเงินกีบไม่ใช่เงินตราสกุลหลักของโลก และภาครัฐเป็นสังคมนิยม ยังควบคุมธนาคารและค่าเงินด้วยตนเอง ดังนั้นอาจเกิดเหตุการณ์รัฐสั่งลดค่าเงินกีบ เหมือนที่รัฐบาลเวียดนามลดค่าเงินด่องถึงสองครั้งในปีเดียวมาก่อน อย่างไรก็ดี หลายธนาคารมีทางเลือกในการเปิดบัญชีเงินฝากสกุลบาทและดอลลาร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงินซึ่งให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า ประมาณ 6-9% ต่อปี อีกประการหนึ่งคือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินกีบมีแนวโน้มอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2012 1 บาทเท่ากับ 265-268 กีบ แต่ปีนี้ เงินบาท 1 บาทเท่ากับ 245-248 กีบ ความผันผวนของค่าเงินจึงเป็นได้ทั้งทางที่ขาดทุนหรือกำไร

3. ความเสี่ยงด้านกฎหมายและภาษีในการถ่ายโอนดอกผลคืนออกนอกประเทศ แม้ว่าดอกเบี้ยเงินฝากหลายประเภทจะได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายว่าด้วยส่วยสาอากอน มาตรา 57(9) แต่การนำเงินตราแลกเปลี่ยนกลับเป็นเงินบาทหรือดอลลาร์แล้วนำออกนอกประเทศจำนวนมาก ต้องแจ้งต่อธนาคารแห่งชาติลาวก่อน

4. ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาว ซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่อปีค่อนข้างสูง ประมาณ 5-6% หากจะลงทุนอยู่ลาวเพื่อทำกิจการและกินใช้ในลาว อัตราดอกเบี้ยอาจจะชนะอัตราเงินเฟ้อไม่มาก

หากประเมินความเสี่ยงและยอมรับได้ การเข้าไปลงทุนในธนาคารลาว ทั้งการฝากเงินหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของลาว และการถดถอยของไทย ก้าวสู่การลงทุนในอาเซียนอย่างไม่ยากในระดับบุคคล ท่านที่ต้องการลงทุนอาจขอคำปรึกษาได้จากสำนักงานธนาคารต่างๆ ในกรุงเวียงจัน หรือส่งอีเมล์ถามผู้เขียนได้ที่ [email protected]


ที่มา นสพ.มติชน




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.