"ประชาธิปัตย์" คิกออฟหลังยกเลิกกฎอัยการศึก ขน 10 ทีมลุยรากหญ้า เจาะฐานเสียงเพื่อไทย
 


"ประชาธิปัตย์" คิกออฟหลังยกเลิกกฎอัยการศึก ขน 10 ทีมลุยรากหญ้า เจาะฐานเสียงเพื่อไทย



ด้วยอานุภาพของ "กฎอัยการศึก" ทำให้พรรคการเมืองใหญ่-เล็กไม่สามารถ "กระดิกตัว" ทางการเมืองได้ เนื่องจากถูก "กฎเหล็ก" พันธนาการไว้

ก่อนการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พรรคการเมืองถูกมองว่าเป็น "ตัวปัญหา" จนทำให้ "วิกฤตการณ์ทางการเมือง" เดินทางมาถึงวันนี้

ส่งผลให้บางพรรคถึงขั้น "ระส่ำระสาย" บางพรรคกบดาน "ดูเชิง" บางพรรค "สงบเสงี่ยม" รอวัน "ระฆังการเมือง" ดังขึ้นอีกครั้ง

เช่นพรรคเพื่อไทยที่ถูก คสช.ยึดอำนาจ ทำให้ ส.ส.บางคนที่เคยโชว์ลูกฮาร์ดคอร์ แต่พอเห็นทหารเอาจริงกลับกบดานอย่างเงียบ ๆ ไม่แสดงตัว

บางรายถูกเข้าไปในค่ายทหารแล้ว ยังต้องลุ้นด้วยใจระทึกว่าจะถูกคำสั่ง คสช.เรียกไปรายงานตัวซ้ำสองหรือไม่

จนนักการเมืองที่เคยเข้าไปซุกตัวอยู่ในค่ายทหารมาแล้วถึงกับเอ่ยปากว่า "ขยาดกับเกมจิตวิทยาของทหาร" จนต้องออกมาบอกว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาของนักการเมือง

ขณะที่พรรคการเมือง "เก่าแก่" ของเมืองไทยอย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" แม้ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับกองทัพในช่วงก่อนการรัฐประหาร

แต่ในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งบนกระดานการเมือง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยสู่ภาวะ Deadlock ก็ถูก "พิษสง" จากกฎอัยการศึกสั่งให้หยุดวิจารณ์การเมืองเช่นกัน

แม้แต่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ที่ออกมาติติงเรื่องการปฏิรูปตามโรดแมปของ คสช. ซึ่งอาจลามไปแตะเรื่องการนิรโทษกรรมให้แก่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี

ทำให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้า คสช. ไม่พอใจ สั่งให้โทรโข่งประจำ คสช.อย่าง "พ.อ.วินธัย สุวารี" รองโฆษกกองทัพบก ส่งเสียงเตือนอย่างเป็นทางการ

"หัวหน้า คสช.เข้าใจดีว่า คนไทยหลายคนใจร้อนและรักความยุติธรรม ซึ่งทุกอย่างกำลังดำเนินการให้ดีที่สุด เราไม่สามารถแก้ปัญหาที่สะสมมาเป็นสิบ ๆ ปีได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่วัน เว้นแต่เรื่องที่ติดขัดนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาถูกบิดเบือนแต่เราต้องทำให้กฎกติกาเหล่านั้นทำงาน ทำให้ทันสมัยขึ้น ส่วนกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง แกนนำของคู่ขัดแย้งที่กล่าวถึงขอให้ระมัดระวังการกล่าวหา คสช.ในลักษณะที่ไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่น เพราะเรากำลังทำงานที่ทุกคนทำมาหลายสิบปีแล้วไม่สำเร็จให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ใครที่มีส่วนร่วมในการบริหารราชการในอดีตถือว่าต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น"

เมื่อบรรดาพรรคการเมืองถูกสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองโดยเด็ดขาด จึงทำให้นักการเมืองไม่ว่ามืออาชีพ ไม่มืออาชีพก็พลอยถูกพันธนาการด้วยคำสั่ง คสช.ไปด้วยทั้งสิ้น

หากแต่ในความสงบนิ่งนั้น "พรรคประชาธิปัตย์" ได้รวมหัว-ร่วมร่างอีเวนต์ การเมือง โดยจะ "คิกออฟ" ทันทีหลัง คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกที่คาดว่าในเดือน ส.ค.-ก.ย.เป็นอีเวนต์ที่ปั้นขึ้นเพื่อกระชากฐานคะแนนต่างจังหวัดทั้งในภาคกลาง-อีสาน โดยเฉพาะฐานคะแนนของพรรคเพื่อไทย

คนที่นำร่องออกไปคนแรก คือ "กรณ์ จาติกวณิช" คณะกรรมการนโยบายพรรค ที่โพสต์ความเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Korn Chatikavanij" ซึ่งเป็นภาพ "กรณ์" ใส่กางเกงขายาว-เสื้อแขนยาวสีขาว ผูกผ้าขาวม้าลงพื้นที่ไร่นา ลบภาพ "หนุ่มนักเรียนนอก" เพื่อซื้อใจพี่ป้าน้าอา

โดย "อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"-"ขุนพล" ด้านเศรษฐกิจของพรรค ได้พยายามคิดค้นสูตรประชานิยมฉบับประชาธิปัตย์ออกมาวางขายก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารนโยบายประชานิยมรูปแบบประชาธิปัตย์ ที่จะถูกหว่านลงไปให้ชาวบ้านได้เห็นภาพนั้น "ไม่ใช่แค่ทำได้จริง" อย่างเดียว แต่กระบวนการสำคัญคือทดสอบความเป็นไปได้ของนโยบาย ทดสอบจากนักวิชาการ ทดสอบนโยบายหนี้สาธารณะ แต่ละนโยบายมีความเชื่อมโยงกัน

"กรณ์" ยัง "ชี้ช่อง" การบริหารนโยบายประชานิยมไม่ให้พรรคการเมืองทุกพรรคสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ถ้าจะมีประชานิยมเอางบประมาณที่ต้องใช้มาไว้ในกรอบวงเงินงบประมาณปกติ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบโดย ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน และต้องคำนวณออกมาให้ชัดว่านโยบายที่เสนอต่อประชาชนใช้งบฯเท่าไหร่

ดังนั้น พลันที่ คสช.ไฟเขียวให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้ "พรรคประชาธิปัตย์" จะจัดโปรแกรม "เดินสาย" ทัวร์ต่างจังหวัด "พบปะประชาชน" วางกลยุทธ์ในการลงพื้นที่ด้วย "โมบายทีม" จำนวน 10 ชุด เพื่อให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย เรื่องของการมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ ยังใช้เวทีนี้ "โฆษณา" นโยบายของพรรคทั้งอดีต-อนาคต โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสมาชิกพรรคร่วม 2 ล้านคนในพื้นที่ภาคใต้ก่อนเป็นอันดับแรก

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ยังมี "ภารกิจลับ" ในการ "พิชิตชัย" เลือกตั้งครั้งหน้า หลังจากไม่เคยสัมผัสกับคำว่า "ชัยชนะ" บนสนามการเลือกตั้งมาเป็นเวลากว่า 21 ปี โดยมีพื้นที่ "สีแดง" อย่างภาคอีสานอยู่ใน "ลายแทง" ด้วย

เป้าหมายเพื่อ "ลบภาพลักษณ์" ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโจมตี-แทงใจดำอยู่เสมอว่า เป็นพรรคของอำมาตย์-พรรคคนกรุงบวกคนใต้ ไม่ชอบคนอีสาน เกลียดคนเหนือ

นอกจากเตรียมแผนหาเสียง ชิงฐานคะแนนจากขั้วตรงข้ามแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็เตรียมยกเครื่องภายในพรรคใหมโดย "กษิต ภิรมย์" อดีต รมว.ต่างประเทศ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายพรรคได้เปรียบเทียบว่า พรรคก็เหมือนกับโรงพยาบาลที่ต้องแยกออกจากกันระหว่างเรื่องของการรักษาคนไข้กับการบริหารจัดการ เพราะต้องนำเอา "มืออาชีพเฉพาะทาง" มาบริหาร เพราะฉะนั้น ควรต้องมี "มืออาชีพ" หรือคนที่จะสามารถเข้ามาทำงานเต็มเวลาได้ แต่ต้องไม่ใช่ ส.ส.มามีตำแหน่ง โดย ส.ส.ควรไปทำงานการเมืองภายนอกพรรค

"กษิต" บอกถึงปัญหาโครงสร้างของพรรคที่เป็นอยู่ขณะนี้ว่า "ถ้าจะเอา ส.ส.ทั้งหมดหรือนักการเมืองมานั่งเป็นบอร์ดมูลนิธิคงไม่มีเวลา ดังนั้น จึงต้องนำคนที่มีความเป็นมืออาชีพ หรืออดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ที่จะไม่ลงเลือกตั้ง ไม่มาเป็นนักการเมือง ก็ต้องมารันกันใหม่ เพราะมันต้องแยกออกจากกัน"

หากจะให้ ส.ส.มาควบในตำแหน่งทางการเมือง และยังจะมานั่งถ่างขาเป็นคณะกรรมการในมูลนิธิไปด้วยมันก็จะเละเทะไปหมด แต่ที่ผ่านมา ส.ส.หนึ่งคนไม่รู้กี่ตำแหน่ง "กษิต" จึงย้ำว่า "เราต้องทำตัวเป็น Professional Organization" ที่เขากล้าออกหน้าขนาดนี้เพราะ "ผมเป็นคนพูดเรื่องนี้ในพรรคมากที่สุด ซึ่งในพรรคก็มีกระแสตอบรับเริ่มดีขึ้น แต่ในเรื่องความฉับพลัน รวดเร็ว ในเรื่องที่จะปฏิรูปโครงสร้างของพรรคมันต้องเร็วกว่านี้ และเป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะเรายังไม่ต้องไปหาเสียง เพราะฉะนั้น การปฏิรูปพรรคขณะนี้จึงมีความสำคัญ"

ทั้งนี้ พิมพ์เขียวที่จะถูกนำมาใช้เป็นหลักในการปฏิรูปภายในพรรค จะเป็นนโยบายที่ผสมผสานระหว่าง 4 พิมพ์เขียว ได้แก่ พิมพ์เขียวของพรรคเอง บัญญัติ 7 ประการที่เป็นโรดแมปทางออกประเทศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พิมพ์เขียวปฏิรูปสมัย นายอานันท์ ปันยารชุน และ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เพื่อกลั่นออกเป็นนโยบายของพรรค อาทิ กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น-นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

"เมื่อเราเป็นเซียนการเมืองเรื่องการปฏิรูปเราก็จะเป็นพรรคแรกที่ต้องพูดให้ชัดว่า เราจะแก้ตรงไหน เพื่อบอกกับประชาชนว่าเรามีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปอย่างไร และมีนโยบายหลัก ๆ อะไร ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยต้องไปว่ากันเมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง"

ส่วนจะ "ฟื้น" นโยบาย "รัฐสวัสดิการ" กลับมาอีกหรือไม่นั้น "กษิต" ถอดบทเรียนที่ผ่านมาว่าจะต้องตีความคำว่า สวัสดิการกันใหม่ เพราะในยุโรปขณะนี้เขาก็ยกเลิกความเป็นสวัสดิการแล้ว เพราะมันนำไปสู่ความเสียหาย จะเป็นสวัสดิการได้ประชาชนต้องจ่ายเงินด้วย ต้องรับผิดชอบด้วย

ก่อนที่จะทิ้งท้ายถึง "จุดยืน" แนวนโยบายของพรรคว่า "เราจะไม่เอาเรื่องประชานิยมเลย เราต้องเข้มแข็งด้วยจิตใจและอุดมการณ์ เพราะเราเป็นเสรีประชาธิปไตย เราต้องเอาคนเป็นที่ตั้ง และคนต้องเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง และรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยคนต้องไม่ไปแบมือขอเงินรัฐ ผมไม่ต้องการให้คนไทยเป็นง่อย"

แม้เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ยาวนานที่สุดในเมืองไทยร่วม 70 ปี

แม้เป็นพรรคการเมืองที่ครองเสียงคนชั้นกลางถึงคนระดับบน ได้คะแนนใน กทม.นับล้านคะแนน

แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยสำเร็จเลยในรอบทศวรรษกว่า คือ การชนะเลือกตั้ง จนถูกค่อนขอดจากคู่แข่งการเมืองว่า "ไม่เคยชนะเลือกตั้ง" ไม่ว่าคู่แข่งการเมืองจะเปลี่ยนหน้า-เปลี่ยนตาไปแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้น ต้องจับตาดูการ "ยกเครื่อง" พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งปฏิรูปโครงสร้างภายในพรรค และปฏิรูปหลัง คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก คืนความสุขให้นักการเมืองว่า พรรคประชาธิปัตย์จะชิงเสียงคนต่างจังหวัดมาได้สำเร็จหรือไม่




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.