อ่าน"งานช่าง"ในมุมนักประวัติศาสตร์ "คุณไม่ได้อยู่ในอดีต หากพยายามย้อนอดีตไปก็ผิดพลาด"
 


อ่าน"งานช่าง"ในมุมนักประวัติศาสตร์ "คุณไม่ได้อยู่ในอดีต หากพยายามย้อนอดีตไปก็ผิดพลาด"


อ่าน

เราเห็นอะไรบ้างเมื่อนั่งมองโบสถ์ในวัดใกล้บ้านสักหนึ่งหลัง ?

คนใกล้ตัวตอบว่า เห็นตัวเองและคนในครอบครัวเดินเข้าไปไหว้พระประธานข้างใน

อีกคนตอบ เห็นเด็กวัดกับเณร กำลังกวาดลานรอบโบสถ์

บางเสียงตอบบอก เห็นความเงียบ สงบ แถมได้กลิ่นธูปเทียน

คุณยายตอบว่า นึกถึงวันทำบุญยกช่อฟ้าเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ไม่มีงานบุญใดมงคลเท่าได้ชักช่อฟ้าขึ้นยอดโบสถ์อีกแล้ว และวันนั้นลูกหลานอยู่กันครบถ้วน


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม

แต่ถ้าถามชายวัย 68 ปี ชื่อ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม" ผู้เป็นทั้งอาจารย์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ศึกษาด้านจิตรกรรมและโบราณคดีไทยมาเกินครึ่งชีวิต จะได้คำตอบอีกแบบ เขาอธิบายฉะฉานว่า มองโบสถ์หลังหนึ่ง เขาเห็น ′ช่อฟ้า′ เป็น ′หางนาค′ เห็น ′ใบระกา′ เป็น ′ครีบนาค′ และเห็น ′หางหงส์′ เป็น ′หัวพญานาค′  พร้อมให้เหตุผลว่า ด้วยข้อมูลความรู้ที่สั่งสมมา ทำให้รู้ว่าคำเรียกชื่อต่างๆ ในงานช่างมีที่มาที่ไป และที่เรียกกันจนคุ้นหูใช่ว่าจะถูกเสมอไป บางคำก็เรียกต่อกันมา จนเป็นคำที่ยอมรับ

อย่างกรณีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ นั้น ในประวัติศาสตร์มีข้อมูลที่สามารถตั้งสันนิษฐานว่า มีชื่อเรียกหรือมาจาก ′หางนาค′ ′ครีบนาค′ และ ′หัวพญานาค′ แต่มาผิดเพื้ยนจากการสร้างโบสถ์แบบล้านนา ที่ทำให้  ′หัวพญานาค′ เป็นเหมือน ′หางหงส์′ จึงเรียกตามกันมาจนคลาดเคลื่อนจนถึงทุกวันนี้

ได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญแล้วจึงพอเห็นภาพว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เคลื่อนย้ายได้เสมอตามการศึกษาและหลักฐานข้อมูลที่มาอ้างอิงสนับสนุน เหมือนที่อาจารย์สันติบอกไว้ว่า ประวัติศาสตร์นั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ

"ถ้าถามว่าทำไมศิลปะอะไรๆ ก็มาจากขอม ทำไมไม่มีของเรา(ไทย) ต้องตอบว่า ที่เรารับมาแล้วปรับเปลี่ยนเป็นของเราก็เก่งมากแล้ว ไม่มีศิลปะที่ไหนหรอกจะเป็นของตัวเองทั้งหมด ต้องมีการรับ ถ่ายทอดกันมา เพราะการถ่ายรับอิทธิพลทางศิลปะเป็นเหมือนลมหายใจของมนุษย์ เหมือนปกติของน้ำ ที่ต้องไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ"


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม เกษียณจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาราว 3 ปี แต่ยังคงศึกษาเรื่องที่ตนคลุกคลีอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งของความรู้เกี่ยวกับงานช่างของอาจารย์ ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่อย่างละเอียด ใน หนังสือ "งานช่าง คำช่างโบราณ" และถูกนำกลับมาพิมพ์ครั้งที่ 2 กับสำนักพิมพ์มติชน




อาจารย์สันติ ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์แยกชิ้นส่วนงานช่างที่ปรากฎอยู่บนภาพถ่ายสถาปัตยกรรมให้เห็นชัดยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่จำแนกงานช่างออกมาให้เห็นเป็น "ชิ้นส่วน" พร้อมคำอธิบายและภาพประกอบที่อ่านง่าย  หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับคนในแวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ในขณะที่สำหรับคนทั่วๆ ไปแล้ว อาจารย์ได้บอกไว้ว่า หากสนใจเรื่องนี้อยู่บ้าง หยิบมาอ่านแล้วคร่าวๆ ให้มีความรู้เบื้องต้นก็ถือติดมือไปวัดใกล้ๆ บ้าน วัดใดก็สามารถมองเห็นงานช่างเหล่านี้ได้เช่นกัน เพราะงานช่างไทยคือศิลปะที่มีต้นขั้วมาจากที่เดียวกัน ที่ต่างไปเป็นอารมณ์ ลีลา ฝีมือของช่างคนนั้นๆ


อาจารย์สันติ แสดงทัศนะเกี่ยวกับการศึกษางานช่างว่า "เราไม่มีทางศึกษาลักษณะงานช่างในแบบคนโบราณได้ แต่เราต้องศึกษาลักษณะช่างในแบบคนยุคปัจจุบัน แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติมเอา"

"เราไม่สามารถย้อนอดีตได้ เราทำได้แต่ทำความเข้าใจอดีต ต่อให้คุณเลียนแบบอดีต ก็ไม่มีทางทำได้เหมือน ถึงก็อปปี้ได้ สมมติว่าเหมือนอดีตทุกอย่าง คุณก็ไม่สามารถหยุดอดีตได้ ทัศนะส่วนตัวเห็นว่า เราควรศึกษางานช่างแบบคนสมัยใหม่ คุณไม่ได้อยู่ในอดีต หากพยายามย้อนอดีตไปก็ผิดพลาด  เพราะเราไม่ใช่คนในยุคนั้น จึงต้องศึกษาดูและพัฒนาให้ดีขึ้น หรือจะเรียกอีกอย่างว่า วิวัฒนาการ"

"ช่างในปัจจุบันนี้นับถือช่างในยุคอดีตว่าเป็นครู ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่สามารถพูดได้อีกอย่างคือ ทำให้งานช่างไปไหนไม่ได้  มีงานช่างไทยที่หลุดออกจากกรอบ หรือหลุดโลกออกไปเลยก็มี แต่น้อยมาก อย่างเช่น งานเขียนลายกนก ของอังคาร กัลยาณพงศ์ หรืองานช่างของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แต่ก็มีอยู่น้อยมาก เรียกได้ว่า ช่างสมัยนี้ส่วนใหญ่ติดอยู่ในกรอบโบราณที่สร้างมา"



อาจารย์สันติ ขยายความถึงการศึกษางานช่างว่า ไม่ได้มีแค่เพียง "งานช่างราชธานี" หรือช่างหลวง  แต่ยังมี "งานช่างหัวเมือง" หรืองานช่างพื้นบ้าน ในท้องถิ่นต่างๆ ด้วย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างศึกษางานช่างทั้งสองแบบ โดยไม่ได้มองว่าแบบใดมีค่ามากกว่ากัน เพราะงานช่างทั้ง 2 ประเภท สะท้อนวิถีชีวิตของคนในประวัติศาสตร์ ทั้งชีวิตในวังและชีวิตชาวบ้าน ทำให้เห็นประวัติศาสตร์รอบด้านขึ้น เหมือนมีพระมหากษัตริย์ต้องมีประชาชน มีวังวัดต้องมีบ้านเรือน

"โดยปกติแล้ว งานช่างหลวง จะมีอายุราว 100 ปีขึ้นไป ส่วนงานช่างท้องถิ่นจะมีอายุเก่าแก่ราว 100 ปี งานช่างท้องถิ่นมีเสน่ห์ตรงที่สั่งสมภูมิปัญญากันมาของช่าง สื่อสารแบบตรงๆ ไม่ประณีต แต่สาเหตุที่ทำให้การศึกษางานช่างท้องถิ่นมีจำกัด เพราะคุณภาพของวัสดุที่ใช้ ซึ่งอาจไม่ดีเท่างานช่างหลวงจึงมีอายุสั้นกว่า และเพราะงานช่างท้องถิ่นไม่เหมือนงานในเมืองราชธานีที่มีอายุยาวนานในประวัติศาสตร์ซึ่งมีการทำนุบำรุงให้ยืนนาน"

"งานช่างอิงศาสนาหรือเรียกได้ว่างานช่างเป็นอุปกรณ์ของศาสนา ที่สามารถสื่อความกับผู้คนได้เร็วและง่ายไม่เหมือนกับภาษาในหนังสือ ช่างสามารถวาดภาพพุทธประวัติออกมาอยู่บนฝาผนัง เล่าเรื่องผ่านงานศิลปะที่คนดูสามารถรับรู้ได้ทันที"

ฟังผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอธิบายเกี่ยวกับวิธีคิดของ"งานช่าง" แล้วพลอยให้คิดว่าที่จริงงานช่างไม่ได้ไกลตัวอย่างที่เคยคิด หากแต่ผูกติดอยู่กับวิถีชีวิตและสะท้อนอดีตได้ไม่น้อย

หากแต่ต้องไม่ลืมที่ อ.สันติ พูดไว้อย่างชัดเจนว่า "คุณไม่ได้อยู่ในอดีต หากพยายามย้อนอดีตไปก็ผิดพลาด เพราะเราไม่ใช่คนในยุคนั้น จึงต้องศึกษาดูและพัฒนาให้ดีขึ้น หรือจะเรียกอีกอย่างว่า วิวัฒนาการ"
 




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.