ป.ป.ช. ติดดาบ สางทุจริต หลอนถึง "ยิ่งลักษณ์" และพวก
 


ป.ป.ช. ติดดาบ สางทุจริต หลอนถึง "ยิ่งลักษณ์" และพวก


ป.ป.ช. ติดดาบ สางทุจริต หลอนถึง

แม้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 พร้อมคณะรัฐมนตรี คณะที่ 60 จะพ้นจากวงจรอำนาจไปเกือบเดือน แต่เธอและพวกยังไม่หมดเคราะห์กรรม เพราะยังติดบ่วงทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

ทั้งที่อดีตนายกฯหญิงถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด พร้อมส่งเรื่องถอดถอนไปยังวุฒิสภา ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค.ไปแล้ว

แต่ก็ยังไม่วายเข้าไปพัวพันกับคดีอาญาที่ "ยิ่งลักษณ์" ยังต้องลุ้นว่าจะโดนส่งฟ้องไปยังอัยการสูงสุด และต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

"วิชา มหาคุณ" กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขยายความถึงชะตากรรมของ "ยิ่งลักษณ์" ที่อยู่ในอุ้งมือของ ป.ป.ช.ว่า

"เป็น คดีที่มีผู้ร้องกล่าวหาความผิดเกี่ยวกับทางอาญามาด้วย คือ เรื่องการละเว้นไม่ดำเนินการหยุดยั้งที่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งมีความผิดทางอาญามาตรา 157 ด้วย เพราะเข้าข่ายปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ ในส่วนนี้จะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ"

"วิชา" แยกแยะความแตกต่างคดีที่ "ยิ่งลักษณ์" ถูกถอดถอน กับถูกส่งฟ้องอัยการสูงสุดและศาลว่า ความแตกต่างระหว่างคดีถอดถอนกับคดีทางอาญาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องของพยานหลักฐานในการชี้มูลแตกต่างกัน แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของการพิจารณาพยานหลักฐาน เพราะในความผิดเรื่องการถอดถอนเป็นเรื่องของผิดจริยธรรม หรือส่อว่าจะมีความผิด

"แต่เรื่องของกระบวนการกระทำผิดทางอาญามันไม่ ใช่เรื่องของการส่อ แต่ต้องเป็นเรื่องของเจตนากระทำผิดทางอาญา จงใจ ที่เรียกว่าประสงค์เห็นผลหรือเล็งเห็นผลแห่งการกระทำนั้นเลยว่าจะเกิดความ เสียหายเกิดขึ้น และปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจน"

"นอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ยังมี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และอดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐถูกร้องการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ขยายการไต่สวนพวกกลุ่มบุคคล รวมถึงบริษัทเอกชนที่ถูกร้องว่าร่วมทุจริตด้วย" นายวิชากล่าว

อย่าง ไรก็ตาม ในระหว่างที่การตรวจสอบทุจริตโครงการรับจำนำข้าวยังอยู่ในชั้นสอบสวนของ ป.ป.ช. "วิชา" ได้เสนอให้มีการแก้กฎหมาย ป.ป.ช.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ควรจำกัดอยู่กับเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริต เนื่อง จากบริษัทที่เข้าดำเนินการร่วมกับรัฐอาจเป็นผู้ร่วมทำการทุจริต จึงควรมีการตรวจสอบอย่างชัดเจน โดยอาจยื่นตรวจสอบว่าบริษัทมีการป้องกัน ตรวจสอบอย่างรอบคอบ หรือระมัดระวังการร่วมทุจริตกับภาครัฐหรือไม่ ภาคเอกชนควรมีส่วนในการรับผิดชอบมากขึ้น

ทั้งนี้ เหตุที่ ป.ป.ช.อยาก "ติดดาบ" ขึ้นมาในจังหวะนี้ เป็นเพราะการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมนักการเมืองจะผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่ง ชาติ (สนช.) ได้ง่ายกว่า ในภาวะปกติที่มีสภาผู้แทนราษฎรมาจาก ส.ส.ที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น หาก คสช.เร่งคลอด สนช.โดยเร็ว อาจเห็น ป.ป.ช.ส่งร่างกฎหมายติดดาบดังกล่าวไปให้ สนช.พิจารณาเพื่อนำมาใช้ตรวจสอบบริษัทเอกชนที่ร่วมทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน ยังมีแรงหนุนจากฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทยอย่าง "น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาสนับสนุนการเพิ่มดาบของ ป.ป.ช.ว่า ตัวอย่างการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ชัดเจนที่สุด และมีผลเสียหายย่อยยับมาแล้ว คือ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่มีตัวหลัก 3 องค์ประกอบที่ว่า คือ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการ และฝ่ายเอกชน ที่การทุจริตเกิดขึ้นได้จนเสียหายมหาศาลหลายแสนล้าน ก็เพราะมีภาคเอกชนเข้ามารับดำเนินการ หรือเป็นตัววิ่งชนงานเพื่อรับดำเนินการแทน

ถือว่าภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการทุจริตจนเกิดความเสียหายมหาศาลขนาดนี้ คือ บรรดาเจ้าของโรงสี โกดังเก็บข้าวเอกชนที่ร่วมโครงการ ทั้งที่ปล่อยให้เกิดการสวมสิทธิ์ ลักลอบนำข้าวออกไปเวียนเทียน หรือข้าวหาย โดยมีข้าราชการบางส่วนหลิ่วตา จึงถือเป็นข้อเสนอที่ดีและควรเร่งนำมาสู่ภาคปฏิบัติให้เร็วที่สุด

เพราะ คิดว่าการแก้ไขกฎหมายนี้คงไม่ยุ่งยาก ถือเป็นการอุดรูรั่วหรือปิดช่องทางของปัญหาที่มองเห็นว่าเกิดขึ้น เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมีประสิทธิภาพและครอบ คลุมมากที่สุด ในการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

แม้จะพ้นจากอำนาจ แต่การตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวยังไม่จบ องคาพยพยิ่งลักษณ์ยังต้องลุ้นยาวถึงฎีกา




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.