ธนาคารเงา... ความเสี่ยงเศรษฐกิจจีน
 


ธนาคารเงา... ความเสี่ยงเศรษฐกิจจีน


ธนาคารเงา... ความเสี่ยงเศรษฐกิจจีน

คอลัมน์ แว่นขยายเศรษฐกิจ โดย พิสิทธิ์ พัวพันธ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง [email protected]


ในวันนี้ผมคิดว่า นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเริ่มมีความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว และเป็นห่วงสถานการณ์ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และได้พุ่งเป้าไปที่ความเสี่ยงจากระบบธนาคารเงา หรือที่เรียกกันว่า "Shadow Banking" ในประเทศจีน

โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีข่าวในหนังสือพิมพ์จีนและสื่อต่างประเทศที่มิสู้ดีนักว่า ตราสารทางการเงินที่เป็น Wealth Management Products ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 9-11 ต่อปี และเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Shadow Banking นั้น อาจจะไม่สามารถชำระหนี้เมื่อครบกำหนดอายุให้แก่นักลงทุนผู้ถือตราสารได้

หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า Shadow Banking นั้นคืออะไร ซึ่งผมจะขอสรุปว่า Shadow Banking นี้ หมายถึงกลุ่มองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารตามปกติ แต่มีความเกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุน การจัดการสภาพคล่องและระยะเวลาชำระหนี้ การรับโอนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และการใช้ Financial Leverage ทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังรวมไปถึงธุรกรรมการจัดหาเงินทุนขององค์กรเหล่านี้อีกด้วย

โดยมีตัวอย่าง เช่น องค์กรเฉพาะกิจ (Special Purpose Entities : SPEs) วาณิชธนกิจ (Investment banking) บริษัทประกัน (Insurances) กองทุนรวม (Mutual Funds) และการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ธนาคารเงาจะทำธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่าการทำธุรกรรมของธนาคารในระบบ เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างผ่อนคลายกว่า ธนาคารในระบบบางแห่งจึงอาศัยช่องว่างดังกล่าวในการหาประโยชน์จากข้อจำกัดทางกฎหมาย (Regulatory Arbitrage)

โดยการจัดตั้งธนาคารเงาขึ้นมาคอยทำธุรกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงแทนตนเอง เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสในการนำเงินทุนไปหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการหลบเลี่ยงข้อบังคับ อย่างเช่น การตั้งเงินสำรองตามกฎหมาย (Reserve Requirement) และการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Loan loss Provision) แล้ว ลักษณะความเป็นนิติบุคคลของธนาคารเงา ยังสามารถจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อธนาคารในระบบได้เช่นกัน จึงทำให้ภาคธนาคารเงาสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วตลอดช่วงที่ผ่านมา

ในยามที่ธนาคารในระบบไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพธนาคารเงาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินมากขึ้น เนื่องจากธนาคารเงานั้นเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระดมเงินทุนไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารในระบบอย่างเพียงพอ

จึงนับได้ว่าข้อดีของ Shadow Banking ถือเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจที่ยังขาดโอกาสเมื่อต้องพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารในระบบอีกทั้งยังสร้างทางเลือกให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการได้เลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในส่วนของการลงทุนและการบริหารความเสี่ยง และการเข้ามาแข่งขันของธนาคารเงานั้นยังช่วยกระตุ้นให้ธนาคารในระบบเร่งปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการซึ่งทำให้โดยรวมแล้ว

ผู้เล่นทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์จากการลดลงของต้นทุนการทำธุรกรรมเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาคธนาคารเงานั้นสามารถช่วยเข้ามาเสริมการทำงานของระบบการเงินให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการพึ่งพากลไกการทำงานของธนาคารในระบบเพียงส่วนเดียว

อย่างไรก็ดี ในอีกด้าน Shadow Banking ที่มีการกำกับดูแลที่น้อยกว่าระบบธนาคาร ก็ส่งผลทำให้มีการเก็งกำไรทางการเงินที่เพิ่มขึ้น การจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจีนในวันนี้ และเป็นประเด็นความน่ากังวลของภาคการเงินของจีน และเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนในอนาคตครับ




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.