มหากาพย์ "เฮียฮ้อ" ถล่มประตู (รายได้) พรุน
 


มหากาพย์ "เฮียฮ้อ" ถล่มประตู (รายได้) พรุน


มหากาพย์

แม้ "อาร์เอส" ในนามบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอลโลกปี 2014 แต่ผู้เดียวในประเทศไทย จะเป็นฝ่ายมีชัยเหนือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

เดิมทีอาร์เอสจะถ่ายทอดสดเพียง 22 คู่ ผ่านฟรีทีวีช่อง 7 และช่อง 8 ไม่ต้องถ่ายทอดครบทุกแมตช์ ตามประกาศ กสทช. แต่ท้ายที่สุด คอบอลคนไทยกลับ "ส้มหล่น" โชคดีเกินคาด เมื่อ กสทช.มีมติอนุมัติเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 427 ล้านบาท ให้แก่อาร์เอส เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมฟุตบอลโลกได้ครบ 64 คู่ผ่านฟรีทีวี 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 8

โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้ตัดสินกรณีนี้ไปแล้วว่า ประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือ Must Have ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 5 มกราคม 2556 ไม่สามารถบังคับใช้ได้กับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ได้ เพราะประกาศออกมาหลังจากที่อาร์เอสซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาแล้ว

ผลจากการชนะคดีนั้น ทำให้อาร์เอสเดินหน้าขายกล่องรับสัญญาณ "บอลโลก" ได้อีกครั้ง หลังเบรกไว้ก่อนหน้านี้เพื่อรอคำตัดสินของศาลปกครอง ปัจจุบันมียอดขายกล่องไปแล้ว 3 แสนกล่อง จากเป้าหมายต้องไม่ต่ำกว่า 1 ล้านกล่อง

ขณะเดียวกัน อาร์เอสเร่งเครื่องขายลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก "ช่องเวิลด์คัพชาแนล" ให้ "ทรูวิชั่นส์" ไปเผยแพร่ครบทุกแมตช์ โดยที่ "พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ยืนยันผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า หลังจากเจรจาเพื่อจะเพิ่มช่องทางการรับชมผ่านทรูวิชั่นส์มาพักใหญ่ ได้ข้อสรุปแล้วว่า อาร์เอสอนุญาตสิทธิ์การออกอากาศช่องบอลโลกให้กับทรูวิชั่นส์

นี่อาจจะเป็นกรณีศึกษา และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในแง่ของการบริหารลิขสิทธิ์กีฬาระดับโลก ซึ่งอาจจะต่างจากกรณีการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรปี 2012 ภายใต้การบริหารลิขสิทธิ์ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยที่ครั้งนั้นผู้บริโภครับชมได้ครบทุกคู่ผ่านฟรีทีวีระบบแอนะล็อกเท่านั้น ส่วนจานดาวเทียม-เคเบิลทีวีที่มีคิดเป็นสัดส่วน 70% ของครัวเรือนทั่วประเทศ ตกอยู่ในภาวะ "จอดำ" ทั่วประเทศ

สิ่งที่แกรมมี่ได้กลับมาครั้งนั้น คือ การแจ้งเกิดกล่องรับสัญญาณ "จีเอ็มเอ็ม แซท" ก่อนจะต่อยอดสู่ธุรกิจเพย์ทีวี

รายงานข่าวจาก กสทช.ระบุว่า จากบทเรียนสำคัญดังกล่าว ทำให้ กสทช.ต้องมีการหารือเจรจากับอาร์เอสมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ "จอดำ" ขึ้นซ้ำสอง แต่อาจจะด้วยเงื่อนไขที่แตกต่าง สุดท้ายจึงทำให้เรื่องไปจบลงที่ศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโมเดลการขายกล่องบอลโลกของอาร์เอสที่รับชมฟุตบอลโลกได้ 64 คู่จะพบว่า นอกจากการรับชมฟุตบอลโลกตลอดระยะเวลา 1 เดือนเต็ม (12 มิถุนายน-13 กรกฎาคม) ผู้ซื้อก็ยังจะได้ชมฟุตบอลลาลีกา สเปน อีก 1 ฤดูกาล และเมื่อฟุตบอลโลกจบลง ลาลีกาจบลง หลังจากนั้นก็เป็นแค่กล่องทั่ว ๆ ไปที่รับสัญญาณที่รับชมช่องรายการได้ตามปกติ

สำหรับรายละเอียดของการบริหารรายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ "พรพรรณ" เคยกล่าวว่า แม้บริษัทไม่ได้จำหน่ายกล่อง "บอลโลก" ก็ไม่กระทบต่อรายได้การบริหารลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกที่วางเป้ารายได้ไว้ 650 ล้านบาทในปีนี้ แต่อาจจะทำให้รายได้จากการขายกล่องหายไป 100-200 ล้านบาท และแผนธุรกิจที่วางไว้ไม่ได้รวมรายได้จากการขายกล่องดาวเทียมเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ รายได้ส่วนหนึ่งจะมาจาก 2 ส่วนหลัก โดย 80% มาจากโฆษณาจากการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี คือ ช่อง 7 และช่อง 8 ประมาณ 80% ซึ่งมีสปอนเซอร์หลัก 5 ราย ได้แก่ กลุ่มโคคา-โคลา เครื่องดื่มช้าง เอไอเอส ปตท. และ โตโยต้า อีก 20% มาจากการบริหารลิขสิทธิ์อื่น ๆ เช่น การขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดบอลโลกความคมชัดสูง (เอชดี) ให้แก่พีเอสไอ ภายใต้กล่อง "พีเอสไอ โอทู" ซึ่งตั้งเป้าจะมียอดขาย 1 ล้านกล่อง ซึ่งเปิดตัวไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อน

ถือเป็นการวางแผนโมเดลธุรกิจมาอย่างดี หลังจากที่อาร์เอสเคยมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาจากการบริหารลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรป 2008 ซึ่งครั้งนั้นว่ากันว่าขาดทุนมากกว่า 300 ล้านบาท แต่การบาดเจ็บในครั้งนั้นไม่ได้ทำให้อาร์เอสถอดใจ แต่ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อสู้รอบใหม่ ก่อนกระโดดเข้าสู่สนามนี้อีกครั้งในปี 2553 กับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2010 โดยทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ไป 500 กว่าล้านบาท เฉพาะการถ่ายทอดสด พร้อมถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีช่อง 3 และช่อง 7 รวม 64 คู่ แบบไม่มีโฆษณาคั่น ทั้งยังทุ่มจัดกิจกรรมออนกราวนด์แบบกระหึ่มเมือง ปรากฏว่าฟุตบอลโลกครั้งนั้นทำให้อาร์เอสกลับมามีกำไรสูงถึง 316 ล้านบาท

สำหรับการเดินเกมล่าสุดที่อาร์เอสเปิดโอกาสให้ กสทช.นำการแข่งขันไปถ่ายทอดสดครบทุกคู่ผ่านฟรีทีวี โดยแลกกับเงินที่ได้มาอีก 429 ล้านบาท ไม่เพียงจะทำให้เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ รู้สึกฟินแล้ว สำหรับสปอนเซอร์ 5 รายหลักก็ถือว่ามีกำไร ในแง่ของจำนวนผู้ชมจะเพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาล นั่นหมายถึงผู้บริโภคจะรับรู้แบรนด์ของตัวเองมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

งานนี้นอกจากคนไทยจะมีความสุขกันถ้วนหน้า แต่สุขใดเล่าจะเท่า "เฮียฮ้อ"




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.