เมื่อ (ภาษา) ลาวเปลี่ยนไป เรื่องเล่าสนุกสนานจาก "หรรษาอาเซียน"
 


เมื่อ (ภาษา) ลาวเปลี่ยนไป เรื่องเล่าสนุกสนานจาก "หรรษาอาเซียน"


เมื่อ (ภาษา) ลาวเปลี่ยนไป เรื่องเล่าสนุกสนานจาก

ไม่นานเกินรอ ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะรวมกันเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี หากแต่การศึกษาแต่เพียงภูมิหลังทางเศรษฐกิจอย่างเดียวอาจทำให้ไม่เข้าใจถึงรากเหง้าวิธีคิดและความเป็นมาของแต่ละชาติบ้านใกล้เรือนเคียงประเทศไทย

หนังสือ หรรษาอาเซียน ที่บอกเล่าในมุมมองนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง โดย ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่ง พาไปสัมผัสมุมมองทางวัฒนธรรมสิ่งละอันพันละน้อยตั้งแต่ วิถีชีวิต ศิลปะ ภาษา ที่ถ่ายเทซึ่งกันและกันของประเทศในภูมิภาคอาเซียนผ่านเรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้

อ่านสนุกกระชับ เพลิดเพลินและเห็นภาพในแง่มุมวัฒนธรรมแบบไม่น่าเบื่อ เป็นต้นว่า เมื่อพิเคราะห์ไปถึงภาษาลาวที่เปลี่ยนไปจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวไทยกรุงเทพฯ


มนต์เสน่ห์แห่งเรื่องราว "เล็กๆแต่เอกอุในอาเซียน"ที่จะเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้เราค้นหามิรู้จบ...โดย สำนักพิมพ์มติชน

มีจุดที่เปลี่ยนแปลงทางภาษาลาวอย่างน่าสนใจคือ ด้านศัพท์แสง เช่น ศัพท์ในโรงพยาบาล อย่างห้องคลอดที่ลาวเคยเรียก "ห้องประสูติ" เดี๋ยวนี้กลายเป็น "ห้องคอดบุด" (ห้องคลอดบุตร) "ห้องปาด" ก็เปลี่ยนเป็น "ห้องผ่าตัด" ส่วน "ห้องจกเบิ่ง" ถูกเรียกใหม่ว่า "ห้องกวดภายใน" (ห้องตรวจภายใน) และเชื่อว่าในไม่ช้าการเรียก "คนไข้กะทันหัน" ก็คงถูกเปลี่ยนเป็น "คนไข้ฉุกเฉิน" ส่วน "ห้องมรสุม" คงถูก "ห้องไอซียู" มาแทนที่ และคำว่า "ปี้" เช่น "ปี้ยน" จะเหลือเพียงภาษาพูด เพราะภาษาทางการหันไปใช้ "บัตรโดยสาร" แทนเสียแล้ว

เหมือนอย่างคำว่า "ไดโนเสาร์" เมื่อแรกลาวขุดค้นพบซากฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ นักวิชาการลาวเรียก "กะปอมหลวง" (แปลตรงตัวว่ากิ้งก่ายักษ์) ซึ่งน่ารักและเป็นเอกลักษณ์ดี เพราะต้องไม่ลืมว่าคำ "ไดโนเสาร์" ที่ไทยใช้นั้นไม่ได้บัญญัติใหม่ แต่ประยุกต์มาจาก "ไดโนซอรัส" ในภาษาตะวันตก



ปรากฎว่าระยะหลังคำว่า "กะปอมหลวง" หายไป เพราะทางลาวหันมาใช้ไดโนเสาร์เหมือนกัน อาจด้วยเหตุผลว่าไดโนเสาร์มีหลายชนิดไม่ได้เหมือนกิ้งก่าเสมอไป

ธีรภาพ โลหิตกุล ให้มุมมองว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะภาษาลาวมีเสน่ห์ในตัวเช่นเดียวกับคนลาว คือความเป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งจนเกินงาม ที่สำคัญคือ มีคำลาวมากมายที่ไพเราะกินใจ อย่างคำว่า "ฮักแพง" ซึ่งหมายถึงรักมาก รักอย่างหวงแหน หรือคำว่า "หลงใจ" อันหมายถึงประทับใจ ปลื้มใจ

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า พัฒนาการทางภาษาของลาว นอกจากเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแล้ว ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะ "นักท่องเที่ยวไทยกรุงเทพฯ" ก็ทรงอิทธิพลไม่น้อย นั่นหมายความว่าผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือมีกำลังซื้อ มีการศึกษาสูง ถือตนเองเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ทรงอำนาจในการใช้ภาษาด้วย ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเช่นนี้มานานแล้ว

อาทิ เมื่อไทยลุ่มเจ้าพระยาเติบโตมาจนกระทั่งมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางอำนาจ ศูนย์กลางความเจริญ ก็ยึดเอาสำเนียงกรุงเทพฯ ภาษากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางความถูกต้องด้วย ใครสำเนียงไม่เหมือนก็ว่าเขา "เหน่อ"



ภาษาสำเนียงไทยกรุงเทพฯแผ่อิทธิพลข้ามโขงจากการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงที่เติบโตเรื่อยๆ ก็มีการเอาภาษาที่ต่างกับตัวเป็นเรื่องตลก โดยลืมไปว่าคำในภาษาพื้นถิ่นของชาติหนึ่งอาจไปตรงกับคำตลกหรือคำหยาบในอีกภาษาหนึ่งเป็นธรรมดา เช่น ถ้าคนไทยกรุงเทพฯพูดคำว่า "ซื้อของ" คนลาวเขาก็ขำ เพราะ "ของ" ในภาษาลาวเป็นสแลงคล้ายคำว่า "ของลับ" เพราะการไป "ซื้อของ" ในสำนวนลาว อาจหมายถึงการไปซื้อบริการทางเพศก็ได้

เรื่องแบบนี้หากมองอย่างเข้าใจก็ดีไป แต่ถ้านำไปใช้เพื่อเยาะเย้ยถากถางกันก็อาจนำมาซึ่งความบาดหมางและทะเลาะเบาะแว้งกันได้ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของความถูกต้อง เคารพศักดิ์ศรีกันและกัน และยึดหลักเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้แม้ "ไทยจะบ่ฮู้ซาว ลาวไม่รู้ยี่สิบ" ก็จะไม่เป็นปัญหาเลย

นี่คือเรื่องราวเบื้องต้นเล็กๆน้อยๆหยิบพอมาเล่าเป็นน้ำจิ้มในหนังสือ "หรรษาอาเซียน" ที่จะมาร่วมให้คำอธิบายคำถาม อาทิ

ทำไมมีสัตว์ประหลาดคล้ายไดโนเสาร์ ปรากฎในลายแกะสลักหินที่ปราสาทตาพรหม?

ชาวพม่าใช้รถพวงมาลัยขวา แล้วทำไมยังขับรถเลนขวา ช่างน่าอันตราย?

เที่ยวบิน DD4212 ของนกแอร์ เทคออฟจากสนามบินแม่สอด 09.45 น. แต่ทำไมแลนดิ้งสนามบินมะละแหม่ง 09.40 น.?



จริงหรือ คนแต่ง "ซินเดอเรลล่า" ลอกพล็อตเรื่องมาจาก "ปลาบู่ทอง"?

พระเจ้า! ถ้าโปรตุเกสไม่นำมะลาะกอกับพริกขี้หนูมาปลูกแล้วสาวๆจะมี "ส้มตำ" กินมั้ย?

"สิเรียมพม่า" กับ "สิเรียมไทย" ต่างกันตรงไหน ใครสวยกว่ากัน?

พิลึกทหารพม่ายกเลิกแบงก์ 50 กับ 100 จัต แล้วออก 45 กับ 90 จัตไปทำไม?

เป็นตัวอย่างสารพันปัญหาชวนหรรษาของชาวอาเซียน รู้ไว้ใช่ว่าก่อนเราจะหลอมรวมเป็นประชาคมเดียวกัน 




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.