ถึงคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย...เมื่อลูกน้อยอยากเป็น ทาสแมว !!??
 


ถึงคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย...เมื่อลูกน้อยอยากเป็น ทาสแมว !!??


ถึงคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย...เมื่อลูกน้อยอยากเป็น ทาสแมว !!??

ช่วงนี้พออ่านข่าวสารต่างๆทาง Facebook, กระทู้ทางเว็บต่างๆ หรือข่าวเม้าท์มอยจากบรรดาเพื่อนๆ ป้าสัมผัสได้ว่ากระแสสัตว์เลี้ยงมาแรงมาก ขนาดว่าจากเดิมป้าไม่ได้เลิฟๆเรื่องการเลี้ยงสัตว์เท่าไร (บ้านแคบ) แต่ตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในบรรดาแฟนคลับหลายเจ้ามาก (ศัพท์วัยรุ่นเรียกว่า “ทาส”สินะ) ที่ดังๆ เช่น“ทูนหัวของบ่าว” (งดดราม่า เพราะป้าดูแต่รูปเท่านั้น) ดูไปฟินไป..เห็นแล้วอยากซื้อสัตว์เลี้ยงเพื่อมาเป็นทาสมันบ้าง  วันไหน Admin ไม่อัพรูป ป้าแก่ๆคนนี้แทบจะลงแดงตายกันเลยทีเดียว!! (หมายเหตุ- “ทาสแมว” ในที่นี้ หมายถึง คนที่มีความรักความผูกพันกับแมว และขอใช้คำนี้แทนถึงคนที่รักสัตว์ชนิดอื่นๆด้วย จริงๆป้ารักสัตว์หลายประเภท แต่เห็นช่วงนี้กระแสเห่อน้องแมวกำลังมาแรงมาก ไม่ได้ลำเอียงแต่อย่างใด แต่เพื่อความง่ายในการเข้าใจจ้ะ)
   

เด็กๆหลายคนคงมีความรู้สึกเหมือนป้าที่อยากเลี้ยงสัตว์เลี้ยง บางคนก็ไปขอผู้ปกครองให้ซื้อมาเลี้ยง ปัญหาที่เจอบ่อยมาก คือ ตอนที่เด็กๆฟินกับมันก็ดูแลกอดรัดฟัดเหวี่ยง อีกไม่นานพอเบื่อก็ทิ้ง กลายเป็นผู้ปกครองที่ต้องกลายมาเป็นคนเลี้ยงดูหลัก (บางคนรักมากจนยอมเป็นทาส เช่น ทาสแมว) หรือปัญหาอื่นๆที่เกิดจากการที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้าน


ภาพประกอบโดย หมอแมวน้ำชะลาล่า


คำถามคือ..ถ้าเด็กๆมาขอเลี้ยงสัตว์ ผู้ปกครองควรจะมีหลักในการตัดสินใจอย่างไรดี ว่าจะเลี้ยงหรือไม่เลี้ยง ป้าขอเสนอหลัก 3 ข้อ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ


1.ประเมินว่าการที่เด็กอยากเลี้ยงสัตว์เป็นแค่เพราะกระแสสังคมหรือเปล่า?เนื่องจากการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมย่อมต้องการได้รับการยอมรับจากคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เด็กบางคนจริงๆไม่ได้อยากเลี้ยงอะไรมาก แต่พอกลุ่มเพื่อนเลี้ยงกันหลายคน วันๆคุยกันแต่เรื่องแมวๆๆๆๆๆ (สมมุติว่าเด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อนทาสแมว) เด็กอาจจะรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับกลุ่มน้อยลง เพราะตัวเองไม่ได้เลี้ยงแมว เลยไม่รู้จะเอาเรื่องอะไรไปคุยกับเพื่อนดี เด็กเลยขอผู้ปกครองเลี้ยง เพื่อที่จะมีเรื่องไปคุยกับเพื่อนบ้าง

คำแนะนำ กรณีที่เด็กมาขอผู้ปกครองเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ควรต้องมีการพูดคุยถึงเหตุผลที่แท้จริง เช่น “ที่หนูอยากเลี้ยงแมว เป็นเพราะอะไรหรอลูก” หากลูกอยากเลี้ยงเพราะคนอื่นเค้าเลี้ยงกันหมดหรือเหตุผลอื่นๆที่บ่งบอกว่าเด็กไม่ได้ต้องการจะเลี้ยงเพราะรักสัตว์ตัวนั้นจริงๆตรงนี้ผู้ปกครองควรพูดคุยเหตุผลกับลูก ให้ข้อมูลกับลูกว่าถ้าเด็กเลี้ยงสัตว์แล้ว ต่อไปเด็กจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงอย่างไร จะมีการเปลี่ยนแปลงในบ้านแบบไหน

โดยเป็นการถามคำถาม เพื่อให้เด็กได้ลองฝึกคิดคำตอบเองก่อน เช่น “ถ้าหนูเลี้ยงแมว แล้วหนูต้องไปทะเล หนูจะให้แมวอยู่ยังไง” เพื่อให้เด็กเห็นว่าการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไม่ใช่การเล่นของเล่น สัตว์เลี้ยงมีชีวิตจิตใจและต้องการการดูแล ซึ่งจะต้องมีกระบวนการอีกหลายอย่างตามมาในการดูแล เช่น อาบน้ำ พาไปฉีดวัคซีน โดยอาศัยความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก หากเด็กยังยืนยันที่จะเลี้ยง ผู้ปกครองควรยืดระยะเวลาที่จะซื้อไปก่อน เช่น “แม่ให้เวลาหนูคิด 1 เดือน แล้วเรามาคุยกันใหม่ว่าพอถึงตอนนั้น หนูจะยังอยากเลี้ยงแมวอีกหรือเปล่า” เพราะเด็กบางคนที่อยากเลี้ยงสัตว์เพราะกระแสสังคม ไม่ได้ตั้งใจจะเลี้ยงจริงจัง เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เด็กอาจจะไปสนใจสิ่งอื่นแทน เช่น อยากได้แก้วหมีบราวน์ของ 7-11 โดยลืมเรื่องของน้องแมวไปเลยก็ได้

2.หากเด็กรักและอยากได้สัตว์เลี้ยงจริงๆ เด็กทราบรายละเอียดของการเลี้ยงสัตว์นั้นหรือยัง? เด็กบางคนรักหมาแมว อยากเลี้ยงมากกก แต่ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดว่าจะต้องมีความรับผิดชอบอะไรตามมา

คำแนะนำ ผู้ปกครองต้องถามความเข้าใจของเด็กว่าการเลี้ยงสัตว์จะต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเด็กไม่รู้ ควรให้เด็กไปค้นคว้าข้อมูลมาก่อน หลังจากนั้นนำมาพูดคุยกับผู้ปกครองแบบถึงลูกถึงคน คือ ให้เด็กเข้าใจสิ่งต่างๆที่จะต้องเกิดขึ้นในการเลี้ยงสัตว์ พูดคุยกันถึงข้อดีข้อเสียในรูปแบบที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก เช่น ในเด็กโต (วัยประถมขึ้นไป) อาจเขียนลิสต์ออกมาเลย ในเด็กเล็ก (วัยอนุบาล) อาจอธิบายผ่านการเล่น เช่น ตุ๊กตา วาดภาพ  โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความเห็น เพื่อตัดสินใจร่วมกัน ในกรณีที่ไม่สามารถให้เลี้ยงสัตว์ได้จริงๆ เช่น บ้านแคบ เด็กป่วยเป็นภูมิแพ้ ผู้ปกครองควรให้เหตุผล และแสดงความเห็นใจ เข้าใจความผิดหวังของเด็ก และเสนอทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าแทน เช่น “แม่เสียใจด้วยที่ไม่สามารถให้หนูเลี้ยงแมวได้ เพราะคอนโดของเราห้ามเลี้ยงสัตว์ หนูคงรู้สึกผิดหวังมาก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะเลี้ยงแมวไม่ได้ แต่แม่ยังพาหนูไปดูไปเล่นกับน้องแมวที่บ้านคุณป้าได้นะจ๊ะ” เด็กบางคนอาจเข้าใจทันที ไม่ฟูมฟาย แต่เด็กบางคนอาจอาละวาด แสดงท่าทีไม่พอใจ ถ้าเด็กแค่ร้องโวยวาย ผู้ปกครองควรให้เด็กไปสงบสติอารมณ์ และยืนยันหนักแน่นกับเด็กด้วยประโยคสั้นๆว่าไม่ได้เพราะอะไร ไม่ต้องพูดซ้ำหลายครั้ง หากเด็กยังไม่หยุด ผู้ปกครองควรเพิกเฉย แล้วแอบดูเป็นระยะว่าเด็กก้าวร้าวมากหรือไม่ ถ้าเด็กถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น หรือทำลายข้าวของ ควรรีบจับตัวให้หยุด พิจารณาส่งปรึกษาจิตแพทย์ เพราะเด็กอาจป่วยเป็นโรคทางจิตเวชบางอย่างที่ทำให้ควบคุมตนเองได้ยาก เช่น สมาธิสั้น

3. เมื่อตัดสินใจร่วมกันแล้วว่าเด็กอยากเลี้ยงสัตว์จริงๆ และผู้ปกครองพร้อมที่จะให้เลี้ยง

คำแนะนำ ผู้ปกครองควรคุยกับเด็กเรื่องการเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับบริบทของครอบครัว และมีการศึกษานิสัย ความเป็นอยู่ของสัตว์ชนิดนั้น เช่น บ้านอยู่คอนโดเล็ก การเลี้ยงหมาพันธุ์ใหญ่ ที่ต้องใช้พื้นที่มาก อาจจะไม่เหมาะสมเท่าไรนัก หรือครอบครัวรายได้ปานกลาง แต่เด็กอยากเลี้ยงหมาทิเบตัน ราคาหลายสิบล้าน อันนี้ก็ไม่เหมาะสม เมื่อเลือกชนิดสัตว์เลี้ยงได้แล้ว ควรศึกษาให้ดีถึงวิธีการเลี้ยง อุปนิสัย ก่อนที่จะซื้อสัตว์มา เพื่อดูว่าเรารับและดูแลข้อเสียบางอย่างของมันได้หรือเปล่า

ผู้ปกครองต้องมีกติกาชัดเจนว่าเด็กจะต้องรับผิดชอบช่วยเหลืออะไรสัตว์เลี้ยงบ้าง เช่น ให้อาหารน้องหมาเช้า-เย็น พาไปเดินเล่น หากเด็กไม่ทำตามที่ตกลงไว้ ต้องมีมาตรการลงโทษ (ที่ไม่ใช่การตี)เช่น หักค่าขนม, เพิ่มหน้าที่อาบน้ำให้น้องหมาแทนที่ที่จะให้แม่เป็นคนทำในอาทิตย์นั้น เพราะบางทีเด็กแค่ “อยากเล่น” ไม่ได้ “อยากเลี้ยง” ในกรณีนี้จะกลายเป็นว่าหน้าที่ในการดูแลสัตว์เลี้ยงตกเป็นเรื่องของผู้ปกครอง

3 ข้อที่เสนอแนะนี้เป็นหลักการกว้างๆที่น่าจะให้ผู้ปกครองนำไปลองใช้เมื่อ “เมื่อลูกอยากเป็นทาสแมว (หรือทาสสัตว์เลี้ยงอื่นๆ)”

ส่วนรายละเอียดอื่นๆที่มีอีกมากม้ายยยย (เสียงสูงเพราะมันเยอะจริงๆนะ) สามารถติดต่อสอบถามหรือเสนอความคิดเห็นมาได้ที่ [email protected] ค่ะ

วันนี้ขอลาไปเสพภาพสัตว์เลี้ยงน่ารักฟรุ้งฟริ้งมุ้งมิ้งตามเพจต่างๆก่อนนะคะ  แล้วพบกันใหม่ บาย..
                                                                     
“หมอแมวน้ำชะลาล่า”
พ.ญ. ปรานี ปวีณชนา




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.