Velo Fabric แตกต่างอย่างไร? ในยุคร้านจักรยานครองเมือง
 


Velo Fabric แตกต่างอย่างไร? ในยุคร้านจักรยานครองเมือง


Velo Fabric แตกต่างอย่างไร? ในยุคร้านจักรยานครองเมือง



ปิดมาได้ครึ่งปีแล้ว สำหรับร้านจักรยาน  Velo Fabric ของอดีตวิศวกรไฟฟ้า "ปริพัตร บูรณสิน" ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจ พ่วงดูแลธุรกิจร้านจักรยานย่านประชาชื่น ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากมวลหมู่คนรักจักรยาน เพราะนอกจากจักรยานสวยๆ ให้เลือกหลากหลายแล้ว ร้านนี้ยังมีจุดเด่นที่การให้บริการลูกค้า ที่เจ้าของร้านย้ำว่า อยากจะพูดคุยกับทุกคนที่มาซื้อ เพื่อแนะนำจักรยานที่เหมาะสมที่สุด

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มีโอกาสไปชมร้านจักรยานแห่งนี้ พร้อมกับพูดคุยกับเจ้าของร้าน

ปริพัตร เล่าว่า แรงจูงใจที่ทำให้กลับมาสนใจจักรยาน พาหนะที่คุ้นเคยในวัยเด็ก และ ที่ใช้ขี่ในชีวิตประจำวันตอนไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี คือ เกิดความเครียดในการทำงาน และ สุขภาพที่ทรุดโทรมลง


ปริพัตร บูรณสิน


"เผอิญช่วงหนึ่งมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ฟิต เนื่องจากทำงานแล้วเครียดมาก เดินขึ้นบันไดแค่ 2 ชั้นก็หายใจไม่ออก มีครั้งหนึ่งต้องไปพรีเซนต์งาน โดยสถานที่ประชุมกับห้องเตรียมตัวห่างกันประมาณ 50 เมตร พอวิ่งไปถึงห้อง ถึงกับต้องหยุดยืนเฉยๆ เป็น 10 นาที เพราะหัวใจเต้นเร็วไม่สามารถพรีเซนต์ได้ เลยบอกตัวเองว่าจะใช้ชีวิตอย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นชีวิตที่ไม่สมดุล จึงเริ่มหากิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ และให้คนใกล้ชิดมีส่วนร่วมด้วย นั่นคือ จักรยาน"

ปริพัตร เริ่มปั่นจักรยานกับลูกสาว จากปั่นแถวบ้าน ก็เริ่มออกต่างจังหวัด และชวนพี่น้องเพื่อนฝูงจัดทริป ถึงขั้นตั้งบริษัททัวร์เล็กๆ ชวนเพื่อนฝูง และ ลูกน้องในบริษัท ออกปั่นทั้งต่างจังหวัด และต่างประเทศ ครอบครัวตั้งคำถามว่าทำขนาดนี้ ทำไมไม่ทำธุรกิจไปเลย ซึ่งเรื่องนี้เขาได้เก็บไปคิด กระทั่งตัดสินใจ เปิดเป็นร้านจักรยาน  Velo Fabric ขึ้น แถวย่านประชาชื่น

"ทำสิ่งที่สนุกเหมือนเด็กๆ แต่จริงจังเหมือนผู้ใหญ่"
ปริพัตร บอกปรัชญาที่ยึดถือ



"ตั้งแต่กลับมาปั่นจักรยาน กล่าวได้ว่าการปั่นจักรยาน ให้ความรู้สึกดีๆ หลายประการ  ทั้งมิตรภาพ  เป็นกีฬา ได้ท่องเที่ยวด้วย  แถมยังเร้าใจ เป็นกิจกรรมที่ทำให้อดรีนาลีนหลั่ง ได้ไปหลายสถานที่ที่ไม่เคยไป เพราะหลายที่เข้าไม่ถึงด้วยพาหนะอื่น" ปริพัตร กล่าวด้วยน้ำเสียงสดใส  

เมื่อถามว่า ร้านนี้ สำหรับลูกค้าแบบไหน?

ตั้งแต่กลุ่มที่อยากจะมีจักรยานคันแรก กลุ่มนี้มีแรงจูงใจต่างกัน คือ ถ้าอยากลอง เริ่มต้นก็จะเป็น "เสือภูเขา" เพราะขี่ง่าย ส่วนกลุ่มที่อยากขี่ไปทำงาน จะเป็น "จักรยานพับ" ล้อเล็ก นำขึ้นบีทีเอสได้ กลุ่มที่ออกกำลังกายก็จะเป็น "ทัวร์ริ่ง" หรือ เสือหมอบ ผมพยายามเสิร์ฟกลุ่มนี้ อยากคุยกับลูกค้าทุกคน เพราะเรามีประสบการณ์ คนที่ขี่จักรยานพฤติกรรมจะเปลี่ยนเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ส่วนกลุ่มที่อยากจริงจัง เราก็มีบริการไม่ว่าจะเป็นเสือภูเขา เสือหมอบ หรือ ทัวร์ริ่ง โดยราคาจักรยานในร้านจะมีตั้งแต่ 1 หมื่นกลางๆ ไปจนถึง 2 แสนบาท



"จากประสบการณ์พบว่า ทำธุรกิจต้องมีความแตกต่าง แต่เราจะทำอย่างไร เพราะจักรยานเป็นสินค้าที่เหมือนกันหมด แต่ผมตั้งใจทำธุรกิจให้เป็น passion ที่มีทั้งความรู้ และ การบริการ ในร้านนี้เราเพิ่ม passion เข้าไป เมื่อลูกค้าเข้ามา เราจะพูดคุยให้ความรู้ มีแกลอรี่ มีความแตกต่างทำให้จักรยานเป็นความรื่นรมย์ ซึ่งความรื่นรมย์เกิดขึ้นตั้งแต่การซื้อจักรยาน รวมถึงการพูดคุยกับช่างถึงการซ่อม เพราะเราอยากทำร้านจักรยานโดยใส่หมวกลูกค้ามองกลับมา ที่ร้านผมจะมีโปรดักท์โร้ดแมพ เซกเมนต์ลูกค้าเป็นใคร สินค้ากลุ่มไหน ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มไหน

มีทั้งบีกินเนอร์ที่เราต้องช่วยเขาคิด อธิบาย ให้คำปรึกษา ดูว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการร้านเรามีหรือไม่ ถ้าไม่มีลูกค้าจะไปที่ไหนได้ ผมก็แนะนำ ถ้าลูกค้ามาไม่ตรงเป้าหมายให้ไปดูที่อื่นได้ ตรงนี้ เราจะให้คำปรึกษาก่อน ซึ่งในเชิงการค้าถ้าลูกค้าซื้อเปลี่ยนจักรยานบ่อยบางร้านแฮปปี้ แต่สังคมจักรยานไม่แฮปปี้ เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้นตลอด ทุกคนจะมองจักรยานเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ผมมองว่าสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดคือให้ความรู้และให้สินค้าที่ตรงกับความต้องการ ถ้าอย่างนี้ทุกคนจะอยู่ได้หมด โดยที่ไม่ต้องหลอกกัน"



แม้ว่าร้านจักรยานจะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ปริพัตร เห็นว่า เป็นตลาดที่ยังโตได้ เป็นยุคที่เรียกว่า Return of the bike culture

ปริพัตร เล่าว่า กระแสจักรยานมีมาแต่ไหนแต่ไรไม่เคยหาย ทั่วโลกนิยมจักรยานอยู่แล้ว แต่มีขนาดไม่เท่ากัน โดยยุคทองของจักรยานเกิดขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรยานถูกใช้ในสงคราม พอหลังสงคราม เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัว จักรยานก็บูมขึ้นมา กระทั่งปี 1960 จักรยานเริ่มซบเซา เพราะการเข้ามาแทนที่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ กระทั่งปี 2000 เมืองใหญ่ในยุโรปประสบปัญหาการจราจร ก็เริ่มเปลี่ยนปรัชญาใหม่ มีเนเธอร์แลนด์เป็นต้นแบบ เปลี่ยนจากรถยนต์ส่วนตัวเป็นรถสาธารณะ และ จักรยาน  อีกปัจจัยหนึ่งคือ กระแสโลกร้อน





ปริพัตร เล่าต่อว่า สำหรับเอเชียนั้น สมัยก่อนก็ขี่จักรยานอยู่แล้ว เพราะว่ารถยนต์แพง ไม่เกี่ยวกับกระแสรถติด หรือ โลกร้อน แต่ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาเมืองเหมือนตะวันตก ทิ้งจักรยาน  สร้างถนน ขยายเมือง มีตึกสูง แต่การขนส่งทางสาธารณะขายไม่ทัน ผลก็คือ ปริมาณรถบนถนนในเอเชียเยอะมาก สิ่งที่ตามมาคือ ประเทศในเอเชียประสบปัญหาเดียวกับประเทศยุโรปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ส่วนประเทศไทย ที่เริ่มหันมาขี่จักรยานเมื่อ 5-6 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนเมือง ด้วยเผชิญกับ 3 เรื่อง คือ1.รถติด 2. สุขภาพ 3.กระแสไลฟ์สไตล์ ทำให้คนไทยหันกลับมาขี่จักรยานอีกครั้ง โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ ทำให้เกิดคน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่อยากจะเข้ามาขี่จักรยานใหม่อีกครั้ง 2.กลุ่มคนที่อยากใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน คือ ขี่ไปทำงาน 3.อยากใช้เป็นเครื่องมือเล่นกีฬาจริงจัง ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนเปลี่ยนชนิดจักรยาน ดีมานด์ขยายเต็มที่ คือ จักรยานคันแรกขายได้มากขึ้น และ จักรยานคันที่สองก็ขายได้มากขึ้น Growth  เติบโตขึ้นรวดเร็ว เพราะมีหน้าใหม่เข้ามา และคนที่อัพเกรดตัวเองขึ้นไป



"กลุ่มไลฟ์สไตล์ นี้ทำให้เกิดการบูมของ ฟิกซ์เกียร์ โดยกลุ่มศิลปิน อาร์ตติสท์ นักออกแบบ หรือ เอเจนซี่ กลุ่มนี้ขับเคลื่อนด้วยไลฟ์สไตล์ ส่วนกระแสสุขภาพ จะเป็นวัยกลางคนประมาณ 30 ปลาย ถึง 40 ต้น  ส่วนรถติดทำให้เกิดการบูมของซิตี้ไบค์ หรือ จักรยานพับ คันเล็กๆ"





คุยกันหอมปากหอมคอแล้ว ปริพัตร ถือโอกาสเชิญชวนผู้สนใจขี่จักรยานทั้งที่เริ่มต้น และ จริงจัง มานั่งสนทนาต่อที่ร้านได้ เพราะนอกจากจะมีจักรยานให้เลือกหลากหลายแล้ว ยังมีหนังสือจักรยานดีๆ ให้นั่งอ่านกันเพลินๆ บนชั้นสองของร้านยังมีจักรยานของสะสมแบบที่หาดูไม่ง่ายนัก โดยอนาคต ปริพัตร หวังจะสร้างห้องสมุด พิพิธภัณฑ์เรื่องจักรยาน เพื่อจุดประกายให้กับเด็กรักการเรียนรู้ผ่านจักรยานอีกด้วย

"เพราะความเครียดในสังคมหายไปด้วยเรื่องพวกนี้" ปริพัตร ย้ำ



สนใจเพิ่มเติมที่ Facebook/Velofabric







// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.