สรุปคำพิพากษา คดีถ่ายทอดสดบอลโลก 2014
 


สรุปคำพิพากษา คดีถ่ายทอดสดบอลโลก 2014


สรุปคำพิพากษา คดีถ่ายทอดสดบอลโลก 2014

สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางฟรีทีวี ระหว่าง อาร์เอส และ กสทช. ที่คำตัดสินให้กฎมัสต์แฮฟไม่สามารถใช้กับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ได้ แต่กฎมัสต์แฮฟยังมีผลบังคับใช้ต่อไป...

ครั้งที่ ๔๓/๒๕๕๗

วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๓๐ น. ศาลปกครองสูงสุด องค์คณะที่ ๓ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.๔๑๓/๒๕๕๗ หมายเลขแดงที่ อ.๒๑๕/๒๕๕๗

คดีนี้บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี ฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ข้อ ๓ ประกอบกับรายการลำดับที่ ๗ ของภาคผนวก ตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่กำหนดให้การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปเท่านั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนข้อ ๓ ประกอบกับรายการลำดับที่ ๗ ของภาคผนวก ตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลที่ได้ทรงไว้โดยชอบแล้ว ก่อนมีการออกประกาศ ดังเช่นกรณีของผู้ฟ้องคดีนี้ ทั้งนี้ โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีนี้แล้วเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีลักษณะเป็นกฎ จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอน หรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ระหว่างวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ จากสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ ผู้ฟ้องคดีจึงย่อมสามารถนำรายการที่ได้รับสิทธิไปเผยแพร่ได้ในหลายช่องทางที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้ประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกประกาศที่พิพาท มีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจเผยแพร่ในกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อ
ศาลปกครอง

ประเด็นที่สอง ข้อ ๓ ประกอบกับรายการลำดับที่ ๗ ของภาคผนวก ตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่กำหนดให้การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปเท่านั้น เป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจออกประกาศที่พิพาทตามมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง (๖) 
 /แห่งพระราชบัญญัติ...
แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และถึงแม้ว่าประกาศดังกล่าวจะเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่ก็เป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย และประกาศดังกล่าวดำเนินการโดยไม่เกินกว่าความจำเป็นและไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิของผู้ฟ้องคดี

นอกจากนี้ การออกประกาศที่พิพาทมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าประกาศที่พิพาทขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชนได้แต่เพียงผู้เดียว
ในประเทศไทย ซึ่งประกาศที่พิพาทมิได้จำกัดสิทธิของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวแต่อย่างใด แต่หากวิธีการหรือช่องทางการเผยแพร่ดังกล่าวมีบทบัญญัติของกฎหมายใดควบคุม ผู้ฟ้องคดีก็ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยประกาศที่พิพาทมิได้ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีแสวงหาผลประโยชน์หรือเผยแพร่ทางโทรทัศน์ทั้งหมดแต่อย่างใด จึงไม่ใช่กรณีที่ประกาศที่พิพาท
ขัดต่อมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ประกาศที่พิพาทเป็นกฎที่ออกโดยการใช้ดุลพินิจโดยชอบหรือไม่ เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในระหว่างที่มีการพิจารณา 
เพื่อจะออกประกาศที่พิพาท การใช้อำนาจในการออกประกาศที่พิพาทจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อ
ผู้ฟ้องคดีซึ่งมีสิทธิอยู่ก่อนที่จะออกประกาศที่พิพาทด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิหาประโยชน์ในทางพาณิชย์จากการเผยแพร่รายการดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งเป็นบริการโทรทัศน์
ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ อันเป็นกิจการในเครือเดียวกับกิจการของผู้ฟ้องคดีได้

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงสมควรต้องกำหนดบทเฉพาะกาลหรือกำหนดมาตรการชดเชยหรือบรรเทาความเสียหายของผู้ฟ้องคดีที่มีสิทธิอยู่เดิม ซึ่งกรณีการกำหนดมาตรการชดเชยหรือบรรเทาความเสียหายนี้ ตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้เป็นฐานอำนาจในการออกประกาศที่พิพาท ได้บัญญัติไว้ในวรรคสอง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อาจพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุน หรือสนับสนุนหรือส่งเสริมด้วยวิธีการอื่น อันเป็นการชดเชยต่อผู้รับใบอนุญาตที่ได้ดำเนินการ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาผลกระทบต่อ
ผู้ฟ้องคดีก่อนออกประกาศที่พิพาทได้ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีการพิจารณากรณีดังกล่าวก่อนออกประกาศที่พิพาทแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่รายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทางบริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้เผยแพร่ทางบริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ นั้น การได้รับชมรายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายดังกล่าวย่อมเป็นไปตามที่เจ้าของลิขสิทธิ์ในขณะนั้นจะพิจารณา การได้รับชมดังกล่าวจึงไม่ใช่สิทธิที่มีกฎหมายรับรองให้ดำรงอยู่โดยไม่อาจลบล้างได้


ดังนั้น การนำข้อกำหนดตามข้อ ๓ ประกอบกับรายการลำดับที่ ๗ ของภาคผนวกตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่กำหนดให้การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปเท่านั้น มาใช้บังคับกับผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับสิทธิในการแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี ค.ศ. ๒๐๑๔ อยู่แล้ว ในขณะที่ออกประกาศดังกล่าว จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดีและเป็นการกระทำที่
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่อาจนำประกาศดังกล่าวมาใช้บังคับกับผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ได้ แต่ประกาศดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับกรณีอื่นอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอยู่เช่นเดิม

พิพากษาแก้เป็นให้เพิกถอนข้อ ๓ ประกอบกับรายการลำดับที่ ๗ ของภาคผนวกตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยกำหนดเงื่อนไขให้การเพิกถอนมีผลเฉพาะแก่ผู้ฟ้องคดีในการแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี ค.ศ. ๒๐๑๔ เท่านั้น ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ โดยประกาศดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับกรณีอื่นอยู่เช่นเดิม



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.