คนไทยเสี่ยงถูกล้วงข้อมูล เหตุเพราะใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน
 


คนไทยเสี่ยงถูกล้วงข้อมูล เหตุเพราะใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน


คนไทยเสี่ยงถูกล้วงข้อมูล เหตุเพราะใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ชาวไทย มีความรู้ในการตรวจสอบซอฟต์แวร์เถื่อนในระดับต่ำ ขณะที่กลุ่ม นศ.น่าห่วงดูเป็นแค่ 30.86% ไมโครซอฟท์ ชี้ซอฟต์แวร์ปลอมมีมัลแวร์ติดมาถึง 84% และเป็นช่องโหว่ให้แฮกข้อมูลง่าย...

ผลสำรวจล่าสุดจากสวนดุสิตโพล ร่วมกับ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ที่มีชื่อว่า “ทัศนคติ และความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ของผู้ใช้งานชาวไทย” โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างมีทั้งผู้ที่กำลังจะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ โน้ตบุ๊กเครื่องแรก และกำลังจะเปลี่ยนเครื่องใหม่พบว่า ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ชาวไทย มีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบซอฟต์แวร์เถื่อนอยู่ในระดับต่ำ โดย 55.67% ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่ทราบวิธีการตรวจสอบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าอาชญากร ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบความปลอดภัย และมัลแวร์ที่มักจะมากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อขโมยข้อมูลในเครื่อง หรือ ดักจับรหัสการใช้งานเพื่อแอบอ้างเข้าทำธุรกรรมออนไลน์ทางการเงิน สร้างความเสียหายต่อทั้งผู้ใช้งานทั่วไป และองค์กรธุรกิจ

ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์

ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างจำนวนเพียงไม่ถึงครึ่ง (44.33%) ที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็น เช่น ดูออกว่ากล่องของซีดีหรือ ดีวีดีต้องมีการแพ็กซีลมาอย่างเรียบร้อย มีฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ ตัวหนังสือบนกล่องสะกดถูกต้อง ไม่ใช่เป็นซองพลาสติกใสวางขายตามแหล่งน่าสงสัย แต่เมื่อแยกตามกลุ่มอาชีพแล้ว พบว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งกลับเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบซอฟต์แวร์น้อยที่สุด เพียง 30.86% เท่านั้น ต่ำกว่ากลุ่มอาชีพค้าขาย ที่มีจำนวนร้อยละ 37.93 ส่วนพนักงานบริษัทที่ตรวจสอบเป็นมีจำนวนร้อยละ 51.56

ในยุคสมัยที่หลายคนใช้ชีวิตออนไลน์ และใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการติดต่อ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ในหลายๆ ครั้ง มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว เช่น ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารสำคัญต่างๆ ไว้ในเครื่อง หรือบางคนเก็บไว้กับบริการรับฝากไฟล์ออนไลน์ (Cloud) การปกป้องความเป็นส่วนตัวนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าหากมีการลักลอบเข้าระบบ ผู้ไม่หวังดีสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้ ระบบความปลอดภัยของเครื่องที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนนั้น จะถูกจำกัดลงอย่างมากเนื่องจากซอฟต์แวร์เถื่อน มักจะมีมัลแวร์ติดมาด้วย และในเมืองไทยเอง เครื่องที่ใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนนั้นติดมัลแวร์มากถึง 84%
มัลแวร์ เปิดทางให้ผู้ไม่หวังดี การลักลอบเข้าระบบ

นายนคร เสรีรักษ์ ผู้ก่อตั้ง Privacy Thailand ที่ปรึกษานโยบาย เครือข่ายพลเมืองเน็ต และนักวิชาการอิสระด้าน Freedom of Information and Privacy Protection กล่าวว่า ผู้ใช้งานต้องมองเรื่องความปลอดภัยให้รอบด้าน เพราะว่าโลกทุกวันนี้เชื่อมต่อถึงกันหมดด้วยเครือข่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มผู้ที่จ้องจะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบความ ปลอดภัยในซอฟต์แวร์เถื่อน เพื่อเข้าถึงและนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไปใช้ประโยชน์ โดยสามารถสร้างความเสียหายได้มากทีเดียว

ผู้ก่อตั้ง Privacy Thailand กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาหลายคนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ของข้อมูลส่วนบุคคลในแง่สิทธิในความเป็นส่วนตัว และไม่ได้มองว่าข้อมูลส่วนตัวนั้น เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องเช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆ จึงประมาทในการใช้งาน ซึ่งเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว ความเสียหายอาจจะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเงินหรือมูลค่าทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่บางครั้งอาจทำให้เสียชื่อเสียงด้วย ซึ่งไม่สามารถเรียกกลับคืนได้เลย
ข้อมูลส่วนตัวที่เสี่ยงต่อการถูกขโมย เช่น เลขบัตรเครดิต
 
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กลุ่มตัวอย่าง 73% ทราบดีว่าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มักจะมีมัลแวร์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดี รวมถึงอาชญากรคอมพิวเตอร์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่เก็บไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือไฟล์เอกสารสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มตัวอย่างอีกจำนวนหนึ่งยอมเสี่ยงที่จะเจอเหตุการณ์ดังกล่าว โดยแลกกับความสะดวกเพียงเล็กน้อย โดยร้อยละ 25.28 ให้เหตุผลว่าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หาซื้อได้ง่ายกว่า และมีกลุ่มตัวอย่างอายุ 26-30 ปี จำนวนถึง 1 ใน 4 ที่ตอบว่าเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เปล่าต้องการให้พนักงานลงโปรแกรมให้เลยเพื่อความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า ตนกำลังปล่อยให้เครื่องโดนติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ และอาจนำภัยมาสู่ตัวเองได้โดยไม่รู้

นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นในการปกป้องและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้ระวังตัว จากการดาวน์โหลดหรือซื้อซอฟต์แวร์เถื่อน เพราะว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ติดมัลแวร์ และนำไปสู่การขโมยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสูญหาย และระบบล่มได้ ตัวเลขการสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ มีความเข้าใจถึงอันตรายอยู่บ้าง แต่ยังยอมเสี่ยงโดยแลกกับความสะดวกสบายในการหาซื้อ และคิดว่าอันตรายเหล่านั้นจะไม่เกิดกับตัวเอง แต่ในฐานะที่เราเป็นผู้จัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ ของไมโครซอฟท์ หรือ Microsoft Cybercrime Center ขึ้นมา ทั้งนี้ บอกได้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการโจมตีโดยอาชญากรไซเบอร์ โดยอาศัยช่องโหว่ของซอฟต์แวร์เถื่อนสูงมาก 
 
ทั้งนี้ ในผลการสำรวจยังระบุด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 31.03% ระบุว่า การแก้ปัญหาการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนนั้น ควรจะแก้ด้วยการให้ข้อมูลและปลูกจิตสำนึก เพื่อทำให้ผู้ใช้งานมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น และ 27.49% ระบุว่าควรจะทำให้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์มีวางจำหน่ายกว้างขวาง และหาซื้อง่ายกว่านี้.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.