หนังไทยอยู่ในช่วงขาลง? หรือไม่เคยมีขาขึ้น? ฟังคำตอบจากผู้กำกับคนดัง "เต๋อ นวพล-เก้ง จิระ"
 


หนังไทยอยู่ในช่วงขาลง? หรือไม่เคยมีขาขึ้น? ฟังคำตอบจากผู้กำกับคนดัง "เต๋อ นวพล-เก้ง จิระ"


 หนังไทยอยู่ในช่วงขาลง? หรือไม่เคยมีขาขึ้น? ฟังคำตอบจากผู้กำกับคนดัง
รับชมข่าว VDO -->

จากปรากฎการณ์ภาพยนตร์ "พี่มากพระโขนง" ทำรายได้แตะหลักพันล้านบาท รวมถึงกระแสหนังอิสระที่ได้รับความนิยมอย่างเหนือความคาดหมายในปี พ.ศ. 2556 เวลาล่วงเลยมาถึงปี 2557 หนังไทยกลับถูกตั้งคำถามและถูกวิจารณ์ทั้งเรื่องคุณภาพและรายได้ 

ในงานเสวนา"ภาวะ′ขาลง′ของหนังไทย" ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายจิระ มะลิกุล หรือ "เก้ง" ผู้กำกับภาพยนตร์มากประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นถึงปรากฎการณ์ "พี่มากพระโขนง" ว่า ไม่คาดเดาว่าจะได้เยอะขนาดที่ออกมา จากความรู้สึกส่วนตัวมองว่า "หนังที่ทำเงินมากคือหนังที่คนดูอยากดู" จึงไม่ได้วิเคราะห์อะไรมาก สำหรับสูตรหรือแนวทางที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในแง่รายได้นั้น "เก้ง" เชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ ผู้กำกับแต่ละคนขายความคิดของแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกัน อย่างบรรจง ปิสัญธนะกูล หรือโต้ง ผู้กำกับ "พี่มากพระโขนง" ถือว่าโตมากับเนื้อหากระแสหลัก พ่อของโต้งครองรีโมทอยู่ที่บ้าน การที่อยู่กับความรู้สึกแบบนี้ก็เป็นความรู้สึกนึกคิดที่จะสร้างงานออกมาแบบนี้   


ด้านนายสมเกียรติวิทุรานิชมือเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ แสดงความคิดเห็นว่า "พี่มากพระโขนง" เป็นหนังที่สนุกและชอบหนังเรื่องนี้ แต่ไม่คิดว่าจะทำรายได้ขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าหนังตลกนั้นอารมณ์ร่วมของคนดูเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้หนังมีแรงดึงดูดมากขึ้นโดยอารมณ์ร่วมนี้เรียกคนดูกลุ่มต่างๆให้อยากเข้าไปสนุกร่วมกันจึงทำให้หนังทำรายได้ดี

ในงานยังมี"เต๋อ"นวพลธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับ "36" และ "Mary is Happy Mary is Happy" ให้ความเห็นสอดคล้องกับจิระว่า หนังจะบ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้กำกับซึ่งพี่โต้งเป็นคนตลกอยู่แล้ว เลยไม่แปลกใจที่หนังประสบความสำเร็จ แต่ในอีกด้านคิดว่า ด้วยความที่กระแสหนังทำให้เกิดเป็น "อีเวนท์" มากกว่าการดูหนัง การไปดูซ้ำ ได้มีส่วนร่วมกับบุคคลที่แตกต่างกันเหมือนกับความรู้สึกของกระแสคนที่ไปดูเยอะ คนที่ยังไม่ได้ดูก็เกิดความสงสัย กลายเป็นไปดูเพื่อคลายความสงสัยเป็นการกระตุ้นคนซึ่งข้ามเลยเส้นความบันเทิงไปแล้วอีกด้วย

สำหรับปรากฎการณ์หนังอิสระของ"เต๋อ"นวพลผู้กำกับหนุ่มยอมรับว่าที่ดูประสบความสำเร็จน่าจะเป็นเรื่องการรับรู้มากกว่าแง่รายได้ ซึ่งจากที่คุยกับผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เขาแนะว่าอาจต้องขายโรง คนดูที่จะดูหนังเราอาจไม่อยู่ในขั้นกระแสหลัก แต่โรงฉายอาจยังตอบสนองกลุ่มคนดูที่ต้องการดูได้ไม่มากเท่าที่ควร และคิดว่าเป็นอีกหน้าที่ของคนทำหนังอิสระที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงกลุ่มคนอย่างใช้เฟซบุ๊ค"

จากกระแสหนัง"พี่มากพระโขนง"ทำให้หลายฝ่ายมองวงการหนังไทยว่ากำลังมีสัญญาณเชิงบวกอย่างไรก็ตาม ปี 2557 ผ่านไปแล้ว 6 เดือนก็ยังไม่มีหนังเรื่องไหนที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และความนิยมอย่างชัดเจน

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

กรณีนี้เต๋อมองว่าเป็นเรื่องจำนวนหนังต่อปีซึ่งเยอะขึ้นมากกว่า เช่น ปีนี้มีจำนวนหนังมากขึ้นแต่หนังที่ประสบความสำเร็จกลับเท่าเดิมจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นช่วงขาลงทั้งที่หนังที่อยู่ในขั้นประสบความสำเร็จก็มีปริมาณใกล้เคียงกันอย่างไรก็ตามเชื่อว่าปีนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นสถานการณ์นี้อีกเมื่อดูจากรายชื่อและจำนวนหนัง

"ส่วนหนึ่งเป็นที่หนังทำง่ายขึ้นด้วยกลายเป็นว่าคุณภาพหนังบางแง่มุมยังไม่ถึงจนทำให้สะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนดูกับคนทำ" 

"ในวงการหนังนอกกระแสอาจไม่มีคนที่เป็นตัวต้นแบบของแนวทางทำหนังแต่ที่เกิดขึ้นจริงๆคือแนวทางการเข้าถึงคนดูสิ่งที่เป็นกระแสคือวิธีการไปถึงคนดูมากกว่าโดยเราไม่ได้คาดหวังในระดับสูงแต่ก็แค่หวังให้เข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างพอสมควรพอทำไปเรื่อยๆก็จะพบว่าหนังสามารถเข้าไปถึงกลุ่มคนมากขึ้น...เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มที่ดี" นวพล กล่าว

ด้าน "เก้ง" จิระ แสดงความคิดเห็นว่า หนังไทยไม่เคยมีขาขึ้น เพียงแต่จะมีช่วงหนึ่งที่ค่าตั๋วยังไม่แพง คนก็ดูหนังอย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่ตอนนี้ค่าตั๋วแพงขึ้น เขาก็เลือกมากขึ้น เลยต้องดูหนังที่อยากดูมากขึ้นไม่ได้ดูกวาดไปเหมือนสมัยก่อน ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติการทำสินค้า แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ วงการเวลานี้ถือว่ายังมีคนที่ยึดอาชีพทำหนังอยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งคนทำหนังอยู่ไม่ได้ถึงจะเป็นช่วงที่น่ากลัวของจริง 

สำหรับมุมมองเรื่องการเป็นต้นแบบของสไตล์หนังที่สร้างกระแสนั้น"เก้ง"กล่าวว่าเมื่อย้อนกลับไปช่วงเริ่มทำหนังแค่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ทำเป็นอาชีพ และพบว่า หนังไทยโกงคนดูอยู่คือ ตัวหนังของทุกประเทศมีต้นทุนขั้นต่ำของมันอยู่ หนังไทยพยายามโกงว่า "ให้มันถูกลงได้กว่าเดิมอีกไหม" และเป็นทุกขบวนการ กลายเป็นว่ามันเป็นอาชีพไม่ได้เลย เราไม่สามารถหาคนเขียนบทที่ดีได้เพราะค่าตอบแทนในการทำตรงนี้น้อยเกินไป เขาหนีไปทำโฆษณา ส่วนตำแหน่งเล็กๆในกองก็พบว่า คนเปลี่ยนหน้าไปหมด หลังถ่ายหนังจบเรื่องเขาก็ตกงาน เขาก็มุ่งจะเขยิบไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า 

จิระ มะลิกุล

"มันคือการให้ความสมดุลระหว่างคนที่ต้องการทำหนังที่อยากทำและทำหนังที่คนอยากดูซึ่งถ้าเราถ่วงสมดุลไม่ได้คนทำหนังก็จะหมดไปในส่วน GTH  คิดว่าไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มกระแสของหนัง แต่พยายามจะทำให้คนอยากทำหนัง ให้เขามีรายได้ ให้มีอาชีพ ซึ่งคิดว่า ผมอยู่จนถึงช่วงเกษียณก็อาจยังไม่มีความหวัง" 

"สำหรับหนังนอกกระแสผมก็ชอบดูและเชียร์อยู่แต่รู้สึกว่า การเช่าโรงเพื่อฉายหนังตัวเองมันเป็นเรื่องเศร้ามาก ไม่มีทางได้เงินคุ้มกับที่ลงแรงไป มันโหดร้าย และก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร คนอย่าง GTH ก็พึ่งโรงหนัง จึงต้องพยายามทำให้หน้าตาหนังเป็นหนังที่คนอยากดู พอทำมากไปก็มีคนไม่ชอบหน้า รู้สึกว่า GTH เป็นผู้ทำลายวงการศิลปะ คำถามคือ จะทำอย่างไรให้สมดุล ระหว่างการทำหนังกับความภูมิใจของคนทำหนังที่จะให้เขาอยู่ต่อไป" จิระ กล่าว

ด้าน สมเกียรติ กล่าวว่า ถือเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะหนังอินดี้มีเยอะขึ้น มีกลุ่มคนให้ความสนใจมากขึ้นแม้รายได้จะไม่เยอะ มีกลุ่มคน มีหนังที่แตกต่าง ขณะที่หนังกระแสหลักคิดว่าคนดูยังอยากดูแต่หนังจะถูกรสนิยมรึเปล่า ในช่วงนี้เองก็เกิดทิศทางแนวทางหนังเกิดขึ้นใหม่ไปด้วย อย่างไรก็ตามต้องดูที่เวลาและจังหวะด้วย

อย่างไรก็ตาม นวพล กลับมองว่า การทำหนังอิสระไม่ได้มีอิสระอย่างที่เข้าใจ แต่มีแนวทางที่ไม่ต่างกับหนังอื่นๆซึ่งจริงๆแล้วก็ทำยากและใช้พลังงานเยอะ แต่ก็อยู่ที่การบริหารของแต่ละกลุ่มไป 

ด้านสมเกียรติ ก็ยอมรับว่า ทำหนังมายาวนานแต่ไม่ได้อยู่นาน และไม่สามารถเรียกตัวเองเป็นคนทำหนังเพราะรายได้ไม่พอและไม่มีงานด้วย โดยเมื่อจะทำหนังก็ต้องทำงานอย่างอื่นแล้วเก็บเงินไว้เพื่อเอามาทำ ยุคนี้ก็ยังต่อสู้ต่อ ในที่สุดแล้วทุนสร้างน้อยลงจริงแต่กินแรงทีมงาน การที่จะอยู่ในวงการได้นานก็อยู่ที่เรื่องใจด้วย จึงต้องหาอาชีพอื่นทำเพื่อได้มีเงิน และเวลาทำหนังก็จะวิ่งวุ่นอยู่เรื่อย 

"มีลูกศิษย์หลายคนที่บอกอยากทำหนังแบบเรื่องInceptionแต่ถามว่าก่อนที่จะเล่าเรื่องแบบซับซ้อนให้เขียนเล่าเรื่องง่ายๆหนึ่งหน้า หนึ่งเทอมผ่านไปยังเขียนไม่ออก เขียนไม่ถูก ให้เขียนทีเขาเขียนออกมาแบบขั้นตัดต่อเลย นี่คือปัญหาแล้วว่า คนไม่มีเรื่องจะเล่า มีแต่เทคนิกที่จะนำเสนอ" สมเกียรติ กล่าว

สมเกียรติ วิทุรานิช

ส่วนปัญหาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในมุมมองของ "เก้ง" จิระ มองว่า ต้นทุนหนังเป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนไปกว่าเรื่องค่าแรงถูก โดยเรายังใช้ความรู้สึกหนังไทยแบบต่อของ การเช่าไฟก็ยังติดต่อว่า "ขอราคาหนังไทย" ซึ่งส่วนตัวก็พยายามไม่ทำแบบนี้ แต่ก็รู้สึกว่าต้นทุนสูงขึ้น อย่างทีมงานที่เป็นน้องๆที่เรียนหนังมาก็สงสารเขา หนังไทยหากินกับความฝันของเด็กๆ คนจบใหม่เข้ามาโดยไม่เกี่ยงค่าแรง เราก็หากินกับตรงนี้เพราะมันถูก จริงๆแล้วตรงนี้มันบั่นทอนสำหรับคนทำหนัง มันก็กลับมาที่รายได้ของหนังที่เป็นปัจจัยในส่วนโรงหนังในแง่การแบ่งรายได้

"สิ่งที่รู้สึกว่าปัญหาคือเรื่องสายหนังตามความเข้าใจส่วนตัวเป็นระบบที่มีในไทยแห่งเดียวในโลกโดยระบบรายได้จากฉายหนังคือในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจะแบ่งรายได้กัน ส่วนมากจะหารสองหรือใกล้เคียงหารสองแบ่งระหว่างโรงหนังกับเจ้าของหนัง เลยไกลกว่านี้ไปจะมีคนเก็บให้ เรียกว่าสายหนัง รายได้ไม่ใช่หารสอง กลายเป็นรายได้ที่น้อยกว่าความเป็นจริงแล้วแต่การเจรจา ตรงนี้คือจุดที่ไม่ยุติธรรมสำหรับคนทำหนังไทย หนังไทยแย่อยู่แล้วที่พูดภาษาไทยก็ทำให้กลุ่มเป้าหมายลดลง สายหนังเหมือนเด็กเก็บเงินค่าจอดรถข้างถนน ซึ่งเก็บรายได้จากที่ที่ไม่ใช่ของตัวเอง"

"พอเข้าไปดูนามสกุลของที่ทำสายหนังก็ยังเป็นญาติของค่ายหนังถือเป็นความซับซ้อนอีกแบบแต่ทุกวันนี้ก็มีคนพยายามเลิกแล้วแต่สิ่งที่ต่อลมหายใจเขาคือหนังเรื่องพี่มากพระโขนง"

ด้าน "เต๋อ" นวพล กล่าวว่า เรื่องการเงินไม่อาจแยกออกจากหนังได้แม้ว่าจะเป็นหนังอิสระก็ตาม และเชื่อว่าคงต้องเลือกใช้ตามกรณีก็น่าจะเหมาะสมกว่า

เมื่อพูดถึงการเลือกเนื้อหาหนังจากคนดูนำมาสู่มุมมองเรื่องการพัฒนากลุ่มคนดูซึ่งในยุโรปเริ่มมีการพูดถึงบ้างแล้วกรณีนี้"เก้ง"แสดงความคิดเห็นว่า หนังในประเทศต่างๆล้วนเติบโตตามการศึกษาของคนในประเทศ หนังฟ้องเรื่องการศึกษาของคน ในประเทศที่การศึกษาดีเขาสามารถเข้าใจ หนังเกินครึ่งเป็นเรื่องการสื่อสารที่ต้องใช้ระบบความคิด อาศัยการทำความเข้าใจระหว่างภาพและเสียงซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องของการศึกษา อย่างหนังกระแสหลักของฝรั่งเศสก็ล้ำจนเหมือนเป็นหนังอาร์ตในไทยได้เลย คิดว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของการศึกษา คุณภาพโดยรวมของประชากร เขาจะเข้าใจอะไรที่ยากมากขึ้น

ด้านสมเกียรติ กล่าวว่า ตอนช่วงเรียนวรรณคดี อาจารย์ไม่ได้สอนให้วิเคราะห์ ไม่เปรียบเปรยเนื้อหากับสังคม แต่สอนตามตัวอักษร จนวันหนึ่งเราไปเจอบทวิเคราะห์ของอาจารย์ชื่อดัง มันเปิดโลกทัศน์ให้เรา การที่ใครจะเปิดโลกทัศน์ได้ก็จะขนานไปกับเรื่องระบบการศึกษา ถ้าเราไม่วิเคราะห์ หนังก็จะเป็นไปในแนวทางแบบนั้น และจะโทษคนทำอย่างเดียวก็ไม่ได้

ด้าน "เต๋อ" นวพล กล่าวว่า เรื่องความหลากหลายแต่ละคนมีแนวทางของตัวเอง ส่วนตัวมองว่าถ้าหนังทำออกมาตรงลักษณะของคนสร้างก็ถือว่าปกติ แต่ปัญหาตอนนี้คือทุกคนเรียกร้องความหลากหลาย แต่คนต่างๆก็ไม่ทำออกมา อย่างการทำหนังแนวเขย่าขวัญ หรือสืบสวนก็ถือว่ายาก แต่ละคนก็ไม่ทำออกมา ซึ่งจริงๆแล้วรู้สึกว่า ไม่ว่าจะทำลักษณะไหนแต่ละคนต้องพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด

"ที่สุดแล้วคนในโลกนิยมหนังกระแสหลักที่สนุกหนังอินดี้ก็อยู่ในพื้นที่เล็กไม่เคนมีหนังอินดี้ที่เมนสตรีมของประเทศนั้นเพียงแต่มีโอกาสที่จะทำรายได้เรื่อยๆ ส่วนหนึ่งถ้ารัฐบาลมาช่วยก็อาจลดต้นทุนได้"



ในงานยังมีการเชิญชวนชาวไทยร่วมเสนอชื่อภาพยนตร์เพื่อคัดเลือกขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติโดยนายสมเกียรติกล่าวว่าถือเป็นเรื่องดี จากที่ไทยยังขาดการศึกษาเรื่องรากของตัวเอง และคิดว่าการขึ้นทะเบียนจะช่วยให้เรามีข้อมูลเพื่อศึกษาได้

ด้านนวพล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เก็บข้อมูลน้อยมาก เมื่อมีคนริเริ่มสิ่งเหล่านี้ คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเวลามีคนต้องการค้นก็จะพบได้ง่าย และอาจทำให้หนังเก่าๆกลับมาได้รับความสนใจ ทำให้หนังยังมีชีวิตอยู่ได้เรื่อยๆ โดยมองว่าน่าจะเก็บภาพวีดีโอเก่าๆที่ถ่ายบรรยากาศหรือสถานการณ์ต่างๆในไทย

ขณะที่จิระกล่าวว่าในมุมมองคนทำหนังถือเป็นหนี้หอภาพยนตร์ แค่หอภาพยนตร์เอาฟิล์มหนังของผู้สร้างไปเก็บไว้ก็ถือว่าดีใจมากแล้ว โดยเสนอว่าน่าจะเก็บฟิล์มหนังที่ออกอากาศในช่องฟรีทีวีสมัยก่อนร่วมด้วยโดยผู้ที่สนใจสามารถร่วมเสนอชื่อภาพยนตร์ไทยผ่านทางเว็บไซต์หอภาพยนตร์www.fapot.org ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2557



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.