‘ยุ้ย-นาว’ กับบท ‘น้อย’ ผู้น่าสงสาร เหมือนหรือต่าง...อยู่ที่มุมมอง - เปรียบมวย
 


‘ยุ้ย-นาว’ กับบท ‘น้อย’ ผู้น่าสงสาร เหมือนหรือต่าง...อยู่ที่มุมมอง - เปรียบมวย


‘ยุ้ย-นาว’ กับบท ‘น้อย’ ผู้น่าสงสาร เหมือนหรือต่าง...อยู่ที่มุมมอง - เปรียบมวย

ละครไทย ถ้าเนื้อเรื่องดี บทสนุก จะหยิบมาทำใหม่สักกี่รอบก็ยังสามารถครองใจผู้ชมได้เสมอ เหมือนกับละคร “คมพยาบาท” ทางช่อง 7 ที่ทำกี่รอบต่อกี่รอบก็มีคนติดตาม แม้ใครจะบอกว่าเป็นละครน้ำเน่าก็ตาม เพราะยิ่งเน่า ยิ่งสนุก คนก็ยิ่งดู และสงสารนางเอกอย่าง “น้อย” เป็นที่สุด  วันนี้ “เปรียบมวย” มีโอกาสพูดคุยกับ “น้อย” ใน 2 ยุค คือ ยุ้ย-จีรนันท์ มะโนแจ่ม ผู้รับบทน้อยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน กับ นาว-ทิสานาฏ ศรศึก ผู้รับบท “น้อย” ผู้น่าสงสารในยุคนี้

ละคร “คมพยาบาท” ถือเป็นละครเรื่องแรกในชีวิตของ ยุ้ย-จีรนันท์ มะโนแจ่ม หลังจากที่ลงจากเวทีประกวดสาวดัชชี่ ปี 2000 เพียง 2 สัปดาห์ ก็ได้รับใบสั่งให้เล่นละครรื่องนี้ทันที ทำเอายุ้ยหนักใจตั้งแต่อ่านบท เพราะตัวละครต้องร้องไห้ตลอดเวลา พร้อมกับรับความกดดันมาว่า ละครเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นก่อน ๆ ก็ดังมาก ขืนทำไม่ดีจะเสียชื่อ ในฐานะที่เป็นนักแสดงใหม่เลยเกิดอาการเกร็ง ทำอะไรก็ยากไปหมด แถมต้องมาประชันกับนางเอกระดับ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ ผู้มารับบท “เปีย” ที่ตอนนั้นเริ่มจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ประกอบกับได้ทำงานกับผู้กำกับชั้นครูอย่าง รุจน์ รณภพ ยุ้ยเลยโดนเคี่ยวเข็ญแบบสุด ๆ แต่ก็ได้ผลดี เพราะจากคน  ที่ร้องไห้ไม่เป็น แสดงไม่ได้ เธอก็สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เธอรับบท “น้อย” ได้น่าสงสารแค่ไหน 

เคล็ดลับในการเป็นนางเอกเจ้าน้ำตาของยุ้ยก็คือ ให้แม่ช่วยมากอด สื่อถึงความรักที่มีต่อลูก หรือไม่ก็คิดถึงตากับยาย ก็จะสามารถ ร้องไห้ได้ แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคการแสดงให้กับยุ้ยมาก ๆ ในตอนนั้นคือ การไม่มีสมาธิ เกร็ง และคิดฟุ้งซ่าน แต่พอเวลาผ่านไปได้ฝึกได้พัฒนาฝีมือจนเก่ง ยุ้ยกล้าพูดว่า “ตอนนี้ให้ร้องไห้สัก 10 ฉาก ก็เป็นเรื่องที่สบายมาก” ซึ่งยุ้ยต้องยกความดีให้กับนักแสดงทุกคนที่ร่วมงานด้วยในตอนนั้นที่ช่วยแนะนำสิ่งดี ๆ ให้ 

พอละครดังชีวิตก็เปลี่ยนไป จากเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งก็กลายมาเป็นคนมีชื่อเสียงในชั่วข้ามคืน มีคนรุมขอถ่ายรูปขอลายเซ็นจนแทบตั้งตัวไม่ทัน แถมคนดูก็ยังอินจนถึงขั้นซื้อแมวมาให้เลี้ยง เพราะในเรื่องแมวที่เลี้ยงไว้จะตาย หรือไม่ก็เอาเสื้อผ้ามาให้ เพราะในเรื่องเสื้อผ้าถูกเผา เรียกได้ว่า ละครมีอิทธิพลต่อคนดูมาก ๆ

การที่มาเล่นละครรีเมคนั้น แน่นอนนักแสดงต้องได้รับความกดดันอยู่แล้ว การไปดูละครในเวอร์ชั่นเก่า ๆ ไม่ได้ช่วยอะไร นักแสดงต้องทำความเข้าใจกับบท และเรียนรู้จากผู้กำกับว่าต้องการให้ออกมาแบบไหน ซึ่งยุ้ยเองก็เป็นผู้หนึ่งที่มักจะได้รับบทเดิมจากละครรีเมคเสมอ แม้เวลาผ่านไปแล้ว 10 กว่าปี ละครถูกนำกลับมาทำใหม่ ยุ้ยก็ยังคงประทับใจกับบทบาทที่เคยได้รับเสมอ แต่ถ้าให้กลับไปดูของเดิมที่ตัวเองเล่นไว้ ยุ้ยบอกว่ามองตัวเองแล้วรู้สึกว่าตลกมาก แต่ยุ้ยก็ชื่นชม “น้อย” ในยุคนี้ อย่าง นาว-ทิสานาฏ พร้อมกับชมว่า เล่นได้ดีและเหมาะกับบทบาทมาก เพราะนาวถือเป็นนักแสดงที่เก่งมากคนหนึ่ง และผ่านประสบการณ์งานละครเรื่องอื่นมาบ้างพอสมควร 

“มันยุคใครยุคมันว่ากันไม่ได้เลยจริง ๆ ไม่อยากเปรียบเทียบ การแสดงออกมันไม่เหมือนกัน ยุ้ยว่าเป็นกำลังใจดีกว่า ซึ่งทุกคนก็ทำเต็มที่อยู่แล้ว ยุ้ยเองจะเข้าใจความรู้สึกนี้ เพราะตัวยุ้ยเองเจอละครรีเมคดัง ๆ มามาก แต่ละครรีเมคมันก็ท้าทายความสามารถ ที่ผ่านมายุ้ยทำเต็มที่แล้ว ผลจะออกมายังไงก็ต้องยอมรับให้ได้เท่านั้นเอง” 

แม้ใครจะขนานนามว่า “คมพยาบาท” เป็นละครน้ำเน่าก็ไม่ผิดนัก แต่ตราบใดที่ทำออกมาแล้วคนชอบ สามารถสร้างความสนุกให้คนดูได้ควบคู่กับข้อคิด ก็ถือว่าละครเรื่องนั้นได้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แล้ว  

ตอนที่มารับบท “น้อย” ครั้งแรก นาว-ทิสานาฏ ศรศึก ทำเอาเจ้าตัวกดดันไม่น้อย เนื่องจากเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าทำมาดังทุกเวอร์ชั่น แต่พอได้มาศึกษาบท และทำความเข้าใจ ก็ไม่ใช่เรื่องยากกับการรับบทนางเอกเจ้าน้ำตาเท่าไหร่ เพราะว่านาวผ่านการเล่นละครมาหลายเรื่องแล้ว ซึ่งแต่ละเรื่องก็มักได้รับบทที่น่าสงสาร โดนกระทำ เจ้าน้ำตา ไม่ต่างจากบทน้อยเท่าไหร่นัก 

เทคนิคการเรียกน้ำตาของนาวก็เพียงแค่เล่นไปตามบทให้อิน แต่สำหรับบท “น้อย” นั้น นาวบอกว่า “ความยากอยู่ตรงที่ต้องรู้สึกจริง ๆ ถึงแสดงออกมาได้ ต้องรู้สึกว่าน่าสงสารมาก ๆ ต้องคิดไว้เสมอว่าน้อยเป็นเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ แล้วน้าเย็นก็ข่มเหงมาตั้งแต่เด็ก โดนเปียคอยแกล้ง” แต่ถึงจะเล่นบทเศร้าแค่ไหน ร้องไห้หนักเพียงใด ทุกอย่างก็ต้องอยู่แค่ในฉาก พอหลุดจากฉากนั้น ก็ต้องเป็น “นาว” ไม่ใช่เป็น “น้อย” 

สิ่งที่ทำให้เกิดความกดดันมากที่สุดในการเล่นละครรีเมคนั้น ก็คือ การเปรียบเทียบ เพราะคนดูเวอร์ชั่นเก่าก็มักจะติดตา จำได้ ยิ่งเป็นละครที่ดังมาก ๆ ยิ่งมีข้อเปรียบเทียบเยอะ ทำไมไม่เหมือนของเก่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ ตัวละครเดียวกัน คนทุกคนจะเล่นออกมาได้เหมือนกัน ถ้าหากเก็บเอามาคิด ก็จะไม่เกิดผลดีต่อการทำงาน ฉะนั้นจึงต้องปล่อยวาง และเป็นตัวละครตัวนั้นตามการตีความของนักแสดงคนนั้น  ๆ เนื้อเรื่องเนื้อหาก็จะเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย น้อยในยุคนี้ก็จะสู้คนมากขึ้น แต่ถ้าเลือกได้นาวก็อยากเล่นละครที่ยังไม่เคยมีใครเล่นมาก่อน เพราะจะได้ไม่ต้องมามีคำถามว่า ทำไมไม่เหมือนของเก่า 

“ถึงคนจะมองเป็นละครน้ำเน่า แต่คนดูชอบนะ คนดูชอบอะไรที่มันตบตีแย่งชิง มันดูสนุกดี มันก็สอนด้วยนะ เรื่องนี้จะให้ข้อคิดว่า ความแค้น ความพยาบาท มันจบไม่สวย ซึ่งถ้าเราไม่แค้น ไม่อาฆาตขนาดนั้น ชีวิตน้าเย็นกับเปียคงจะดีกว่านี้ มันคงจะมีความสุข เพราะว่าทุกวันนี้น้าเย็นก็ไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่เขาแค้น สิ่งที่เขาทำอยู่เลยนะ เขาแค่จะเอาชนะ”

แต่ใช่ว่านาวเองจะเล่นเป็นแต่บทเศร้าเคล้าน้ำตาอย่างเดียวเท่านั้น บทแก่น ๆ ก็อยากเล่น เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงในบทที่ต่างออกไปเท่านั้น 

บทละครทุกฉากทุกตอน ไม่ว่าจะ “น้ำเน่า” หรือ “น้ำดี” ต่างก็สามารถให้สิ่งที่ดี และสร้างความสุขให้กับผู้ชมได้ทั้งนั้น เพียงแค่ ’ดูละครแล้วย้อนดูตัว“ เพราะละครทุกเรื่องต้องแฝงข้อคิดเอาไว้ เพื่อสอนสังคมเสมอ และอย่าลืมว่า ’ชีวิตจริง...บางครั้งเน่ายิ่งกว่าละคร“ ซะอีก.

มยุรี วนะสุขสถิตย์



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.