การกลับมาของละครร้องแห่งปี ′ศรีบูรพา′ บันทึกแห่งอิสรา
 


การกลับมาของละครร้องแห่งปี ′ศรีบูรพา′ บันทึกแห่งอิสรา


 การกลับมาของละครร้องแห่งปี ′ศรีบูรพา′ บันทึกแห่งอิสรา
รับชมข่าว VDO -->

มติชนรายวัน 30 เมษายน 2557



"กรงขังไม่ใช่อุปสรรคแห่งเสรีภาพหรอก แต่จิตใจที่ยอมจำนนต่างหาก ที่ไร้อิสระที่จะเรียกร้องซึ่งความชอบธรรม"

ศรีบูรพา


ลึกเข้าไปในซอยพระนาง ถนนราชวิถี เขตพญาไท แว่วเสียงดนตรีไทยจากบ้านสองชั้นแบบตะวันตกประยุกต์หลังขาว โดดเด่นด้วยจั่วหลังคาที่โค้งลาดชวนมอง บ้านสวนใจกลางกรุงหลังนี้ เป็นบ้านที่ปลูกขึ้นเองสำหรับเป็นเรือนหอของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" กับ ชนิด สายประดิษฐ์ ศรีภรรยา แต่ไม่ถึงปีกลับเงียบเหงาเพราะเจ้าของต้องจากไปต่างแดน อีกทั้งเมื่อกลับมาก็ต้องเข้าไปอยู่ในแดนคุมขังด้วยภัยจากการเมือง 

ภายหลังกุหลาบถึงแก่กรรม สถานการณ์บ้านเมืองค่อยคลี่คลาย บ้านหลังนี้จึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเมื่อบุตรชายและสะใภ้ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิพร้อมต่อเติมบ้านในส่วนปีกด้านซ้าย ซึ่งต่อมากลายเป็นห้องนิทรรศการนักเขียนในปัจจุบัน 

วาณี สายประดิษฐ์ สะใภ้พาเยี่ยมชมภายในบ้านศรีบูรพาเพื่อย้อนอดีตถึงเรื่องราวสมัยที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังมีชีวิตอยู่

"คุณกุหลาบเป็นคนทำงานมากและทำงานหนักมาตลอดชีวิต แม้แต่ช่วงที่ถูกจับท่านก็ยังมีวินัย ส่งต้นฉบับอยู่เนืองๆ โดยฝากไปกับคนที่จะออกไปหาหมอข้างนอก ซึ่งต้องให้ผู้บริหารในเรือนจำเป็นผู้อนุมัติเสียก่อน"

เรื่องราวชีวิตของกุหลาบ เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังได้เห็นถึงความอดทนและมานะพยายาม วาณีเล่าว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถึงแม้จะกำพร้าบิดาตั้งแต่ยังเล็ก ก็ยังสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองและทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ได้

"ท่านบอกเอาไว้ว่า จะใช้ปลายปากกาในการสร้างประโยชน์" วาณีกล่าวด้วยรอยยิ้ม

เปิดบ้านศรีบูรพาคราวนี้ มาร่วมรำลึกไปกับเรื่องราวชีวิตของศรีบูรพากับการกลับมาอีกครั้งของละครร้องเรื่อง "ศรีบูรพา" บันทึกแห่งอิสรา พบกับคณะผู้จัดและนักแสดงนำ ที่เรียงแถวต้อนรับกันอย่างอบอุ่น ทั้งเจ้าบ้าน วาณี สายประดิษฐ์ คณะผู้จัดทำ วุฒิชาติ ชุ่มสนิท หรือบินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนซีไรต์และบรรณาธิการนิตยสาร WRITER ผู้กำกับและประพันธ์บทละครร้อง "ศรีบูรพา" บันทึกแห่งอิสรา ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงคนแรกของประเทศไทยในชุดราชปะแตนขาว โจงกระเบนสีม่วง และนักแสดงหญิง มนทกานติ รังสิพราหมณกุล บรรณาธิการนิตยสาร Madame Figaro รับบทชนิด สายประดิษฐ์ คู่ชีวิตของศรีบูรพา มาต้อนรับในชุดแซคลายดอกไม้สีหวาน

(บน) วาณี สายประดิษฐ์ (ล่าง) คณะผู้จัดและนักแสดง



ละครเวทีเรื่องนี้จะถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน เจ้าของผลงาน "ข้างหลังภาพ" บทประพันธ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เล่าถึงแง่มุมชีวิตของศรีบูรพา ผนวกกับบันทึกหน้าสุดท้ายที่เขียนต่อเติมโดยชนิด สายประดิษฐ์ คู่ชีวิต

จากความร่วมมือของนิตยสาร Writer กับคณะละคร "อนันตา" สนับสนุนโดยสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงเกิดละครร้อง "ศรีบูรพา" บันทึกแห่งอิสรา เพื่อระลึกถึงคุณูปการของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ต่อวรรณกรรม สื่อมวลชน และสังคม รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมไทยในภาวการณ์ปัจจุบันที่ศรัทธาหลายด้านเริ่มสั่นคลอน และจริยธรรมสื่อมวลชนถูกถามถึงมากที่สุด

วุฒิชาติ ชุ่มสนิท เล่าถึงความเป็นมาของการจัดละครร้องเรื่องนี้ว่า ละครร้องนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี การจากไปของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา เป็นการริเริ่มทำละครเวทีที่เกี่ยวกับนักเขียนและแวดวงวรรณกรรม ไม่ได้จำกัดกลุ่มคนดูเพียงแค่กลุ่มเล็กๆ อย่างครั้งก่อน และครั้งนี้เพิ่มเติมบทให้มีมุมชีวิตของศรีบูรพามากขึ้น 

"ผมอยากให้ละครร้องเรื่องนี้เข้าไปสู่หลายๆ แวดวง ทั้งการศึกษา วรรณกรรม สื่อสิ่งพิมพ์ ละครเวที และอยากให้เข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปที่สนใจศิลปะและวรรณกรรม เพราะศรีบูรพาเป็นนักเขียนที่เป็นต้นแบบของนักคิด สะท้อนชีวิตที่แม้จะถูกกักขัง แต่ไม่สามารถจองจำความคิดและอิสรภาพได้" บินหลากล่าว 

ขณะที่ประดิษฐ ประสาททอง ผู้กำกับและประพันธ์บทละครร้องเรื่อง "ศรีบูรพา" บันทึกแห่งอิสรา ได้หยิบละครเรื่องนี้มาทำใหม่อีกครั้ง โดยปรับปรุงต่อยอดจากประสบการณ์ครั้งก่อน ให้ภาษาสละสลวยและแฝงด้วยแนวคิด ทั้งต้องอาศัยบทขับร้องที่ภาษาประณีต ทำนองเพลงไพเราะกินใจในยุคสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งถ่ายทอดมาจากแม่ครูสุดจิต ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากคณะละครร้องย่านบางลำพูอีกทอดหนึ่ง

บ้านศรีบูรพา



"ละครร้อง ′ศรีบูรพา′ สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ครั้งแรก (พ.ศ.2548) จัดแสดงในโอกาส 100 ปีชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเน้นเรื่องราวชีวิตในคุก เป็นมุมมองจากคุณกุหลาบออกไปยังโลกภายนอก ครั้งที่ 2 เราจัดกันเองโดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว แสดงกันที่มะขามป้อม สตูดิโอ โดยปรับเป็นมุมมองทางฝั่งของคุณชนิด ศรีภรรยาบ้าง ว่าเธอต้องเผชิญกับอะไรบ้างในระหว่างที่สามีอยู่ในคุก 

มาครั้งนี้เรานำสองมุมมองนั้นมาผสานกัน สะท้อนไปมาระหว่างสามีที่จดบันทึกในคุก สลับไปที่ภรรยานั่งอ่านบันทึกอยู่นอกคุก แต่จะเป็นคนละช่วงเวลากัน มีการขยายฉากให้คนดูสามารถปะติดปะต่อได้อย่างไม่ตกหล่น"
ประดิษฐเล่าถึงความน่าสนใจในส่วนเทคนิคที่เพิ่มขึ้นมา

ในส่วนของเนื้อหาได้พบมุมประหลาดน่าสนใจจากการอ่านนิตยสาร Writer ประดิษฐจึงปรับบทให้มีมิติขึ้น เพื่อให้คนในรุ่นปัจจุบันจับต้องได้ เข้าถึงได้ มิใช่มองว่าคุณกุหลาบเป็นเพียงต้นแบบ ที่มองจากมุมมองของคนดูที่อยู่นอกเวที แต่ให้ผู้ชมเข้าถึงเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละครมากขึ้น 

"ผมเลือกที่จะทำละครที่สามารถเป็นสื่อเย็นที่จะทำให้ผู้คนนิ่งขบคิดไตร่ตรอง เลือกหยิบจับสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาสานต่อ เพราะสื่อในปัจจุบันอาจทำให้คนคุ้นชินกับการปลุกเร้า ความเชื่อมามาก" ประดิษฐกล่าวถึงความตั้งใจของตัวเอง

ประดิษฐเผยถึงความประทับใจในสำนวนภาษาที่ลุ่มลึกและความคิดของศรีบูรพาที่มองโลกด้วยความหวังเสมอ มองเห็นถึงแสงสว่างอันริบหรี่ท่ามกลางความมืดมนของชีวิต 

ช่วงเวลาที่ถูกจำกัดอิสรภาพจึงถูกเลือกมาใช้เป็นบทแสดงในละครร้อง ระยะเวลา 4 กว่าปี (2495-2500) ที่ศรีบูรพาต้องจำคุกนั้น สะท้อนให้เห็นแง่มุมที่ว่า แม้ตัวจะถูกกักขัง แต่อิสรภาพทางความคิดไม่ได้ถูกจำกัดไปด้วย ต้นฉบับงานเขียนต่างๆ ก็ยังคงตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะอยู่เสมอ ทั้งหมดนั้นก็ได้รับการเกื้อหนุนจากภรรยาสุดที่รัก ชนิด สายประดิษฐ์ 

มนทกานติ รังสิพราหมณกุล บรรณาธิการนิตยสาร Madam Figaro ผู้รับบทชนิด สายประดิษฐ์ คู่ชีวิตของศรีบูรพา แสดงความเห็นถึงชีวิตของตัวละครที่เธอได้รับเลือกว่า ชนิดเป็นคู่ชีวิตและเพื่อนชีวิตของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เธอเป็นลูกศิษย์วิชาการแปล หลังจากนั้นจึงเริ่มเข้ามาสู่การเป็นคู่ชีวิต 

"เมื่อคุณกุหลาบต้องประสบภัยติดคุกตะราง เธอก็เป็นที่ปรึกษาและที่พึ่งได้อย่างดี ช่วยลำเลียงต้นฉบับออกมาสู่โลกภายนอก กล่าวได้ว่าความเข้มแข็งและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของชนิด สายประดิษฐ์ สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนไม่ใช่เฉพาะแต่หญิงสาวด้วยกันเท่านั้น สำหรับเรื่องราวของคุณกุหลาบยังทำให้เราเรียนรู้ ว่าต้องรู้จักเปิดใจรับฟังความเห็นต่างอย่างรอบด้าน และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่ได้ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว" มนทกานติกล่าวทิ้งท้าย

ละครร้องเรื่อง "ศรีบูรพา" บันทึกแห่งอิสรา จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 สิงหาคม ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ เวลา 19.00 น. วันเสาร์ เวลา 16.00 น. และ 19.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 16.00 น. แล้วพบกัน



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.