จับมือ′เพื่อนบ้าน′ ที่ทำหนังเหมือนกัน
 


จับมือ′เพื่อนบ้าน′ ที่ทำหนังเหมือนกัน


 จับมือ′เพื่อนบ้าน′ ที่ทำหนังเหมือนกัน
รับชมข่าว VDO -->





Ifan Ismail

ในยุคที่สังคมอาเซียนกำลังขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น สิ่งที่หลายคนกังวลคือ การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งๆ ที่ความจริงของเป้าประสงค์ของการรวมกลุ่มคือการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่างหาก

ด้วยเหตุที่ว่า กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัด โครงการส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์อาเซียน เชิญนักเขียนบทจากประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมเวิร์กช็อป โดยมีโค้ชเป็นผู้กำกับชาวไทยชั้นนำ อาทิ นนทรีย์ นิมิตบุตร, ก้องเกียรติ โขมศิริ, เป็นเอก รัตนเรือง, ยงยุทธ ทองกองทุน, พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ด้วยหวังจะได้บทภาพยนตร์ที่ดี ที่เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวอันเกี่ยวพันกับ 2 ประเทศ

โดย พันธุ์ธัมม์ ที่ควบตำแหน่งประธานโครงการเล่าถึงการเวิร์กช็อปที่เพิ่งจบไปเมื่อไม่กี่วันนี้ว่า จากการหารือกับกระทรวงวัฒนธรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า หากต้องการส่งเสริม ก็ต้องเริ่มที่บทภาพยนตร์ อันเป็นจุดอ่อนอย่างที่สุด

Anysay Keola



และก่อนหน้านั้นก็มีการส่งเสริมการเขียนบทให้คนในบ้านเรา โดยให้ทุนผู้มีความสามารถ 8-9 คน กระทั่งได้บทภาพยนตร์เรื่อง "ตั้งวง" ที่ภายหลังกลายมาเป็นภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ปีล่าสุดมาครอง แถมได้เข้าชิงรางวัลในเทศกาลหนังเบอร์ลินและฮ่องกง

"หนังอาจไม่สำเร็จด้านการตลาด แต่ด้านการเผยแพร่ทั้งในไทยและต่างประเทศถือว่าประสบความสำเร็จสูง" พันธุ์ธัมม์เล่า

Universe Boldoza


คราวนี้คนทำงานจึงขยับมาทำในระดับอาเซียนที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็มีบทภาพยนตร์ 44 เรื่อง จากนักเขียนบทรุ่นใหม่ทั่วอาเซียน ยกเว้นแต่บรูไนที่ยังไม่มีอุตสาหกรรมด้านนี้ส่งมา

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่น่าสนใจ

หากด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงต้องคัดให้เหลือเพียง 5 ซึ่งก็ได้แก่บทของนักเขียนจากประเทศ อินโดนีเซีย, เมียนมาร์, ลาว, สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์

จากนั้นก็นำนักเขียนบทรุ่นใหม่เหล่านั้น มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนทำหนังรุ่นใหญ่ของไทยที่เหมาะกับโปรเจ็กต์ เช่น Sung Koh จากสิงคโปร์ที่เขียนเรื่องการแต่งงานระหว่างหญิงกับหญิง ก็จับคู่กับ ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับ "สตรีเหล็ก"

"สิ่งที่อยากได้ไม่ใช่แค่งาน แต่มุ่งเน้นความร่วมมือของคนทำหนังในอาเซียน"

เพื่อ "แต่ละคนจะได้รู้ว่าสิ่งที่คิดกับข้อเท็จจริงเหมือนกันไหม"

"บางคนทำเรื่องค้ามนุษย์ในไทย เดิมคิดว่าต้องกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่พอรีเสิร์ชเลยรู้ว่ามีการพัฒนาเป็นคาราโอเกะหรือร้านนวด ที่ไม่มีการบังคับ"

ทว่าบทจะถูกพัฒนาเป็นภาพยนตร์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามีนักลงทุนพร้อมจะร่วมลงทุนหรือเปล่า

"ถ้านักลงทุนเห็นความสำคัญ มันก็เติบโตต่อไปได้"

"ซึ่งในฐานะโปรดิวเซอร์ ผมมองว่าเกินครึ่งในนี้น่าสร้างและไม่ขาดทุนแน่นอน"

ขณะเดียวกันในแง่ความคาดหวังตามเป้าประสงค์ก็ได้มาเต็มๆ

หน้า 22 มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 14 เมษายน 2557



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.