′นิ้วล็อก′ภัยใกล้ตัวไม่ควรมองข้าม เตือนอย่าหิ้วของหนักเกินไป
 


′นิ้วล็อก′ภัยใกล้ตัวไม่ควรมองข้าม เตือนอย่าหิ้วของหนักเกินไป


 ′นิ้วล็อก′ภัยใกล้ตัวไม่ควรมองข้าม เตือนอย่าหิ้วของหนักเกินไป

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า โรคนิ้วล็อกเป็นความผิดปกติ ของนิ้วมือที่มีการสะดุดหรือล็อก ไม่สามารถกำหรือเหยียดนิ้วมือได้เป็นปกติ   พบในเพศหญิงร้อยละ 80  และพบในเพศชายร้อยละ 20   โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป   อาจเป็นเพราะผู้หญิงใช้มือทำงานซ้ำๆ มากกว่าผู้ชาย เช่น หิ้วถุงหนักๆ  บิดผ้า ซักผ้า กวาดบ้าน  ถูบ้าน สับหมู สับไก่ และมีพฤติกรรมเหล่านี้เป็นระยะเวลานานๆ  รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น

อาการของโรคนิ้วล็อก  คือ ในระยะแรกจะมีอาการปวดบริเวณ โคนนิ้วมือ กำมือไม่ถนัด หรือกำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน  เวลางอที่จะเหยียดนิ้วมือมักจะได้ยินเสียงดังกึก  ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อก คือ เวลางอนิ้วจะเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน ซึ่งอาจเป็นเพียงนิ้วเดียว หรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้ บางรายอาจรุนแรงถึงนิ้วบวมชา ติดแข็งจนไม่สามารถใช้งานได้

สำหรับวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อกมีหลายวิธี  ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค การรักษาในระยะแรก คือ การพักการใช้งานของมือ  ไม่ใช้งานรุนแรง การรับประทานยาต้านการอักเสบ  การทำกายภาพบำบัด ช่วยลดการอักเสบและการติดยึดของเส้นเอ็นกับปลอกเอ็น แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงขึ้นอาจจะรักษาด้วยการใช้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณปลอกเอ็น สเตียรอยด์มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ ลดการบวมของเส้นเอ็นและปลอกเอ็น  ทำให้อาการดีขึ้นได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และจะสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะหายจากอาการนิ้วล็อกหลังจากการฉีดยาเข็มที่หนึ่ง  ส่วนอีกร้อยละ 25 จะหายหลังจากการฉีดยาเข็มที่สอง ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง  ในกรณีที่นิ้วล็อกติดรุนแรงหรือพังผืดหนามากฉีดยาจะไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัด
                
ข้อแนะนำสำหรับวิธีหลีกเลี่ยงโรคนิ้วล็อก คือ ไม่หิ้วของหนักเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทน เพื่อลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ หากเป็นช่างที่ต้องใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้นุ่มขึ้นและทำขนาดที่จับให้เหมาะสมกับการใช้งาน  

สำหรับผู้ที่ต้องใช้มือทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ  ควรพักการใช้มือเป็นระยะๆ  และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง ไม่ควรขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น   ถ้าข้อนิ้วฝืดตอนเช้าหรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือกำแบเบาๆ ในน้ำ จะทำให้ข้อนิ้วฝืดลดลง  ฉะนั้นโรคนิ้วล็อกสามารถป้องกันและรักษาให้หายได้  ถ้ารู้จักวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.