วิเคราะห์ คะแนนโอเน็ต เหตุใดยังย่ำแย่??
 


วิเคราะห์ คะแนนโอเน็ต เหตุใดยังย่ำแย่??


วิเคราะห์ คะแนนโอเน็ต เหตุใดยังย่ำแย่??

ประกาศผลเรียบร้อยแล้ว สำหรับผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ทั้ง 3 ระดับชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 ประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งคะแนนเฉลี่ยทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ยังคงทำให้หลายฝ่าย "หนักใจ" ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา...

คะแนนโอเน็ตชั้น ป.6 วิชาภาษาอังกฤษมีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด 33.82 คะแนน และชั้น ม.3 และ ม.6 มีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ต่ำที่สุด คือ 24.45 และ 20.48 คะแนน ตามลำดับ ขณะเดียวกับทั้ง 3 ระดับชั้น ป.6, ม.3 และ ม. มีคะแนนเฉลี่ยในวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาสูงสุด คือ 61.69, 58.30 และ 62.03 คะแนน ส่วนรายวิชาอื่นๆ มีวิชาเฉลี่ยไม่ถึงครึ่ง

ล่าสุด หลังจากที่คะแนนโอเน็ตชั้น ม.6 ประกาศแล้ว ดร.กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า จะต้องยอมรับผลคะแนน และเตรียมตั้งทีมวิเคราะห์ผลสอบ เพื่อหาว่า เด็กกลุ่มที่ทำคะแนนได้ต่ำในแต่ละวิชาอยู่ที่ไหน เพราะเด็กไม่ได้อ่อนหมดทุกวิชาทั้งประเทศ จากนั้นจึงค่อยแก้ปัญหาเด็กกลุ่มที่เรียนอ่อนในแต่ละวิชา โดยต้องจัดกระบวนการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และในอนาคต หากเป็นไปได้อาจต้องมีการทำข้อสอบพรีเทสต์ก่อนที่จะมีการสอบจริง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ต้องการเพิ่มผลคะแนนโอเน็ตให้ได้ปีละ 3%

โดยก่อนหน้านี้ นักวิชาการในแวดวงการศึกษาต่างแสดงความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลคะแนนโอเน็ตถึงสาเหตุผลคะแนนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า คะแนนที่ออกมานั้น สะท้อนปัญหา 2 ประเด็น คือ 1. ปัญหาของคุณภาพของครูที่ไม่ตรงสาย 2.ปัญหาการออกข้อสอบที่ไม่ตรงกับหลักสูตรภาระหนักจึงตกไปอยู่ที่เด็ก และผู้ปกครองที่ต้องหันหน้าเข้าสถาบันกวดวิชา

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความเบื่อหน่ายที่เด็กต้องสอบติดต่อกัน รวมถึงเรื่องของการขาดแรงจูงใจในการสอบ ที่นักวิชาการระบุว่า การสอบโอเน็ต เป็นการสอบแข่งขันของเด็กในเมือง มากกว่าเด็กในพื้นที่ต่างจังหวัด

วิเคราะห์สาเหตุ "คะแนนโอเน็ตตกต่ำ"

ความชัดเจนในเรื่องนี้ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์สาเหตุ และไขปมของปัญหากับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุหลากหลาย

สิ่งแรก คือ "คุณภาพของครู" ซึ่งในปัจจุบันพบว่า การผลิตครูเฉพาะสาย เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นสาขาที่ขาดแคลน ทำให้ต้องนำครูจากสาขาอื่นมาทดแทน

"คนที่สอนด้านวิชานี้ ควรจะเป็นคนที่จบด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ว่าโรงเรียนจำนวนมากขาดครู ทั้งประถมและมัธยม เพราะมันเรียนยาก จบยาก ซึ่งก็เป็นผลที่มาจากระบบการศึกษาที่มาตั้งแต่ต้น เพราะสายที่การศึกษาบ้านเราหนักไปทางสังคม มากกว่าวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์" รศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

นอกจากนี้ นโยบายที่จะให้ผลคะแนนโอเน็ตสูงขึ้น 50% ทุกวิชา และพยายามจะให้ครู เปลี่ยนบทบาทในการสอนความรู้ความจำมาสอนเชิงวิเคราะห์ ยิ่งทำให้ประเทศไทย "หลงทาง"

 

 

ประเด็นต่อมา "ข้อสอบสวนทางหลักสูตร"​ โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่มีลักษณะของข้อสอบเชิงวิเคราะห์ เป็นเหตุเป็นผล และตรรกะ ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะ ขณะที่การสอนในประเทศไทย "เน้นการท่องจำ" ขณะที่ข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นข้อสอบแบบคิดวิเคราะห์ ข้อมูลข่าวสาร เพราะฉะนั้น การสอนกับการสอบวัดไม่สัมพันธ์กัน ทำให้คะแนนออกมาแค่ประมาณ 20-30%

"ต้องมานั่งคุยกันว่า ถ้าข้อสอบให้คิดวิเคราะห์ หลักสูตรการสอนก็ต้องเลิกสอนแบบจำ หันมาสอนแบบโครงงาน เรียนรู้นอกห้องเรียน" รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ปัญหาเขาน้อยกว่าเราเยอะ เพราะระบบครูของเขาเป็นระบบปิด ที่ผลิตอย่างเข้มข้นด้วยคุณภาพ แต่ของเราเป็นการผลิตครูแบบเปิด ที่เน้นปริมาณ ที่ใครก็ได้มาเรียนครู เพราะฉะนั้นการที่จะเรียนให้ง่าย ให้จบคือการเรียนในสายสังคม เพราะฉะนั้นการผลิตครูของเราด้อยคุณภาพ และไร้การควบคุม และไม่มีมิติการเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา เป็นระบบผลิตครูแบบธุรกิจ

สอนตามหลัก 4C พาเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21

รศ.ดร.สมพงษ์ เล่าให้ฟังต่อว่า ประเทศเอเชียมีการเตรียมปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อพาเด็กไปสู่ศตวรรษที่ 21 แต่ประเทศไทยยังอยู่ในยุค 19 ที่เด็กยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น

ทั้งนี้ การสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์นั้น เรียกว่า 4C  คือ Critical Thinking การคิดวิเคราะห์ Communication การสื่อสาร Collaboration การร่วมมือ และ Creativity ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงต้องสอนทักษะชีวิตและอาชีพ ทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ แต่ประเทศยังไม่มีซักซี ดังนั้น ปัญหาเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยยังจมปลักอยู่กับที่

ทางออกการศึกษาไทยอยู่ตรงไหน?

รศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า หากมีแค่การประชุม มีนโยบายจากส่วนกลาง แต่ไม่ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และสื่อการสอน อีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี เราก็ยังมีคะแนนที่ตกต่ำแบบนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ ว่าคะแนนมันไม่ดี เกิดจากสาเหตุใด และจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ดูเหมือนว่า "คุณภาพครู"​ และ "หลักสูตรการสอน" ยังเป็นปัญหาหลักที่สั่นสะเทือนวงการศึกษาอยู่เสมอ เพราะหลักสูตร และระบบการเรียนการสอน ต้องเอื้อให้นักเรียนทำข้อสอบวัดผลได้ดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงทำคะแนนได้ดีเท่านั้น แต่มันจะสามารถเป็นกระจกสะท้อนมาตรฐาน และข้อบกพร่องของการศึกษาไทยได้ว่าเป็นอย่างไร และควรพัฒนาปรับปรุงอะไรบ้างในอนาคต ไม่ใช่เพียงวนแก้ไขเฉพาะปัญหาเดิมเช่นทุกวันนี้.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.