กรมสุขภาพจิตเผยผู้ป่วย ไบโพลาร์ สูงกว่า 5 หมื่นราย
 


กรมสุขภาพจิตเผยผู้ป่วย ไบโพลาร์ สูงกว่า 5 หมื่นราย


กรมสุขภาพจิตเผยผู้ป่วย ไบโพลาร์ สูงกว่า 5 หมื่นราย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยข้อมูลผู้ป่วยในสังกัด ปี 56 พบ ไบโพลาร์ ถึงกว่า 5 หมื่นราย จากผู้ป่วยทั้งหมดกว่า 1.5 แสนคน ชี้หากได้รับการรักษาถูกวิธีสามารถหายขาดได้ แนะผู้ป่วยและคนรอบข้างหมั่นสังเกตอาการและดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด...

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ ช่วยกันลดตราบาปทางสังคมที่มีต่อโรคนี้ ซึ่ง โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลก ประมาณ 1-2% และอาจสูงถึง 5% ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ได้ระบุว่า โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายในอัตราที่เท่ากัน มักเริ่มมีอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และมักพบร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตหรือภาวะในทางจิตเวชอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเสพติด ภาวะเครียดหรือโรควิตกกังวล อีกทั้งยังพบว่า โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปอย่างชัดเจน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากรายงานจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการในสถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต ประจำปี 2556 จำนวน 156,663 ราย พบเป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ 52,852 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มารับบริการทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งช่วงอายุที่พบมาก 3 ลำดับแรก ได้แก่ 45-49 ปี รองลงมา 40-44 ปี และ 50-54 ปี ตามลำดับ โดยผู้ป่วยจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในลักษณะที่แตกต่างกันคนละขั้ว เหมือนเป็นคนละคน ได้แก่ มาเนีย (Mania) เช่น อารมณ์ครื้นเครงมากกว่าปกติ รู้สึกว่ามีความสุขมาก พูดจามีอารมณ์ขัน คึกคะนอง ความคิดสร้างสรรค์มากมาย มีโครงการต่างๆ เกินตัว เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น รู้สึกคึกคัก มีกำลังวังชา นอนน้อยกว่าปกติ ใช้จ่ายสิ้นเปลือง มีพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศมากขึ้น เมื่อถูกขัดใจจะหงุดหงิดฉุนเฉียวอย่างรุนแรง อาละวาดก้าวร้าว และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย และ/หรือซึมเศร้า (Depression) ได้แก่ รู้สึกเศร้าสร้อย หดหู่ เบื่อหน่าย ท้อแท้ มองโลกแง่ลบ จิตใจไม่สดชื่น ไม่สนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบทำ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เชื่องช้า เฉื่อยชาลง หรือกระสับกระส่าย ความคิดอ่านช้าลง ลังเลใจ ไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าและอาจมีความคิดอยากตาย หรือพยายามทำร้ายตนเองร่วมด้วย ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวจะต้องคงอยู่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแสดงอาการในขั้วอารมณ์ใด ล้วนจำเป็นต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมทั้งได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง เพราะไบโพลาร์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่ได้รับการเอาใจใส่ ติดตามดูแลอย่างเหมาะสม

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน ตั้งแต่ปัจจัยด้านพันธุกรรม โดยพบว่าเด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า จากการศึกษา พบว่าความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 18, 21, 22 มีความสัมพันธ์กับโรคนี้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ตลอดจนความเครียดหรือการประสบกับวิกฤติชีวิตรุนแรง การติดยาหรือใช้สารเสพติด รวมทั้งปัญหาบุคลิกภาพ ล้วนมีส่วนส่งผลให้เกิดอาการของโรคนี้ได้ ซึ่งการรักษามีทั้งการรักษาด้วยยา เพื่อควบคุมอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งจำเป็นที่จะต้องกินยารักษาต่อเนื่อง การให้คำปรึกษาแนะนำหรือจิตบำบัดที่มุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรมและการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับปัญหาในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งเรื่องธรรมชาติของโรค ปัจจัยเสี่ยง การรักษา วิธีการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการสื่อสารที่มีคุณภาพในครอบครัว เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการรักษา

"ขอแนะนำให้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมคลายเครียด ไม่ใช้ยากระตุ้นหรือสารมึนเมา เช่น เหล้า หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง ทานยาตามแพทย์สั่ง หมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรก และรีบพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก ไม่หยุดยาเอง ที่สำคัญญาติและคนใกล้ชิดต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ ดูแลให้ผู้ป่วยกินยา ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ สังเกตอารมณ์ของผู้ป่วย รีบพาไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย เมื่อผู้ป่วยหาย ก็ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน และไม่หยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว.

 

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.