นักวิจัยเยอรมนี พบนวัตกรรมใหม่ "เนิร์สอาย" เพื่อดูแลผู้สูงอายุ
 


นักวิจัยเยอรมนี พบนวัตกรรมใหม่ "เนิร์สอาย" เพื่อดูแลผู้สูงอายุ


 นักวิจัยเยอรมนี พบนวัตกรรมใหม่



นักวิจัยจากสถาบัน ฟรอนฮอฟเฟอร์ ในประเทศเยอรมนี พัฒนาระบบวิดีโอเพื่อการติดตามดูแลสำหรับติดตั้งในโรงพยาบาลหรือบ้านที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านการแพทย์ หรือพยาบาล ในขณะที่ปริมาณผู้สูงอายุในแต่ละสังคมมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

"เนิร์สอาย" เป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นเพิ่มเติมมาจากระบบการติดตามตรวจสอบด้วยวิดีโอทั่วๆ ไป เพราะไม่เพียงสามารถตรวจจับได้ว่ามีผู้สูงอายุรายไหนหกล้ม ตกบันได ฯลฯ แล้ว ยังสามารถบ่งชี้ได้ด้วยว่า มีผู้สูงอายุคนไหนตกอยู่ในภาวะกดดันทางจิตใจ หรือเกิดอาการหดหู่ซึมเศร้าหรือไม่

เป้าหมายของ "เนิร์สอาย" ก็เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนและทำให้การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการดูแล และพยาบาลทั้งหลาย ระบบดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีกล้องวิดีโอติดตั้งไว้ตามมุมบ้าน หรือเฉลียงที่ลับตาของสถานที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับภาพป้อนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ จดจำใบหน้า (เฟซ รีคอกนิชั่น) ที่สามารถเปรียบเทียบใบหน้าปกติของผู้สูงอายุกับลักษณะของใบหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดอาการซึมเศร้าหรือหดหู่ ซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ประมวล ประเมินเพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของพนักงานประจำสถานพยาบาลหรือสถานรับดูแลผู้สูงอายุโดยอัตโนมัติ

เมื่อพนักงานหรือพยาบาลได้รับสัญญาณแจ้งเตือน ก็สามารถเข้าถึงภาพวิดีโอดังกล่าวได้ในทันทีเพื่อให้ได้รับรู้ตำแหน่งที่แน่ชัดของผู้สูงอายุรายนั้นว่าอยู่ตรงจุดไหนกันแน่ ก่อนให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนตามความเหมาะสมต่อไป

นายเอริค เครมเปล หัวหน้าโครงการเนิร์สอาย ระบุว่า ปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบวิดีโอดังกล่าวก็คือ ทำอย่างไรถึงสามารถทำให้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวนี้ทำงานร่วมกับระบบวิดีโอวงจรปิดที่มีขายกันอยู่ทั่วไปได้ และติดตามหรือเตือนให้พนักงานได้รับรู้ถึงความผิดปกติในความรู้สึกของผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ในทางเทคนิค ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ไม่ยากนัก ด้วยการใช้กล้องวิดีโอที่ทำงานแบบสเตอริโอ อย่างไรก็ตาม กล้องดังกล่าวมีราคาแพงและจะส่งผลกระทบต่อการยอมรับและนำเอาระบบนี้ไปใช้งาน เนื่องจากต้นทุนในการลงทุนมีสูงเกินไป

ความยุ่งยากประการถัดมา ก็คือปัญหาในเชิงกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัว ซึ่งในประเทศตะวันตกมีความอ่อนไหวมาก จึงจำเป็นต้องมีระบบป้องกันข้อมูลที่อยู่ในระบบในระดับที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ทุกอย่างยังคงเป็นความลับ ข้อมูลจากกล้องวิดีโอทุกตัว ผ่านการวิเคราะห์ประเมินด้วยซอฟต์แวร์พิเศษเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือพยาบาลก็ไม่สามารถขอดูได้ เว้นเสียแต่จะเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นเท่านั้น

ระบบปฏิบัติการเนิร์สอาย ยังคงเป็นระบบต้นแบบที่อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุง นายเครมเปลเชื่อว่า ในอนาคตหากระบบนี้สามารถพัฒนาจนมีประสิทธิภาพ แม่นยำสูงสุด ผู้ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินอาจไม่ใช่พยาบาล หรือบุรุษพยาบาลอีกต่อไป

แต่อาจเป็นหุ่นยนต์พยาบาลก็เป็นได้

 

...........

 

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 24 มีนาคม 2557)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.