พบดนตรีบำบัดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนในผู้ป่วยเด็ก
 


พบดนตรีบำบัดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนในผู้ป่วยเด็ก


 พบดนตรีบำบัดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนในผู้ป่วยเด็ก

น.ส.สุเนตรา แก้ววิเชียร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงผลการวิจัย R2R เรื่อง ผลของดนตรีบำบัดต่อประสิทธิภาพการนอนและการตอบสนองทางสรีระของผู้ป่วยเด็กวิกฤต ว่า เด็กที่ป่วยหนักและต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต จะมีปัจจัยรบกวนที่ส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้เด็กนอนหลับไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพการนอนลดลง 

จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยเด็กในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤต รพ.เด็ก สามารถนอนหลับเฉลี่ย 27.6 นาที และมีผลการเปลี่ยนแปลงต่อสรีระ วิธีการที่ใช้บ่อยในการดูแลคือการให้ยานอนหลับหรือยาแก้ปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ หรืออาจเป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ปัจจุบันมีการศึกษาว่าการใช้ดนตรีบำบัดกับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย และเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ ปรับสมดุลร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมการฟื้นตัวจากโรค แต่ที่ผ่านมายังมีการศึกษาเรื่องนี้ในผู้ป่วยเด็กวิกฤตน้อยมาก

น.ส.สุเนตรา กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้จึงต้องการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการนอนและการเปลี่ยนแปลงทางสรีระต่างๆ ของร่างกายของผู้ป่วยเด็กวิกฤตที่ได้รับและไม่ได้รับดนตรีบำบัด ในระยะของการหย่าเครื่องช่วยหายใจ ในผู้ป่วยเด็ก 30 ราย แบ่งโดยวิธีจับฉลาก โดยบันทึกระยะเวลาการนอนหลับ และการตอบสนองของสรีระคือ อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต และความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดทุกๆ 15 นาที จนครบ 60 นาที

น.ส.สุเนตรา กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการฟังดนตรีบำบัดมีระยะเวลาในการนอนหลับเฉลี่ยมากกว่า โดยค่าเฉลี่ยการนอนหลับของกลุ่มที่ได้รับดนตรีบำบัดอยู่ที่ 64 นาที ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ฟังอยู่ที่ 46.8 นาที 

นอกจากนี้ ส่งผลให้มีการลดลงในภาพรวมของัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต และเพิ่มขึ้นของความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ดังนั้น หากมีการนำดนตรีบำบัดมาใช้ในผู้ป่วยเด็กวิกฤตที่อยู่ในระยะหย่าเครื่องช่วยหายใจ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนได้



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.