เริ่มรณรงค์ สงกรานต์ปลอดภัย มอเตอร์ไซค์งดเหล้า
 


เริ่มรณรงค์ สงกรานต์ปลอดภัย มอเตอร์ไซค์งดเหล้า


เริ่มรณรงค์ สงกรานต์ปลอดภัย มอเตอร์ไซค์งดเหล้า

กรมควบคุมประพฤติร่วมกับ สสส.-สคล. รณรงค์ สงกรานต์ปลอดภัย มอเตอร์ไซค์งดเหล้า หวังกระตุ้นผู้ขับขี่งดดื่ม ปฏิบัติตามกฎหมาย เผย เมาแล้วขับ ยังติดอันดับ 1 สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ขณะกรุงเทพมหานครยังครองแชมป์เมืองนักซิ่ง....

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.57 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทคมหานคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมควบคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม จัดกิจกรรมรณรงค์ "สงกรานต์ปลอดภัย มอเตอร์ไซค์งดเหล้า" เพื่อเชิญชวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและขณะขับขี่หรือซ้อนท้าย รวมถึงตระหนักต่อพฤติกรรมเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การจัดงานรณรงค์ในครั้งนี้ เพื่อสะท้อนปัญหาและมุมมองของการดื่มแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาพร้อมกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาในสงกรานต์นี้ ซึ่งการตั้งด่านเพื่อควบคุมพฤติกรรมเมาแล้วขับ เล่นน้ำ ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็ว ขับรถตัดหน้า ยังถูกปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและในชุมชน จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตระหนักบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงเอาผิดร้านค้าที่ขายสุราให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจะมีความคึกคะนอง ขับขี่เสี่ยงอันตรายและเร่งจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ จากสถิติสงกรานต์ปีที่ผ่านมาช่วงวันที่ 11-17 เมษายน พบผู้กระทำผิดคดี พ.ร.บ.จราจรทางบกที่ศาลสั่งควบคุมประพฤติทั่วประเทศจำนวน 4,862 คดี เป็นคดีเมาแล้วขับ 4,691 คดี โดยจังหวัดที่มีคดี พ.ร.บ.จราจรทางบกมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร 416 คดี นอกจากนี้ ยังพบว่า รถจักรยานยนต์ 78.71 % เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รวมถึง พฤติกรรมการดื่มแล้วขี่และซ้อนท้ายของผู้ใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะของการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ

ขณะที่ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตรายปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทางบก 3,040 ราย และเสียชีวิต 321 ราย ซึ่งการเมาสุราเป็นสาเหตุหลัก และรถจักรยานยนต์ยังเป็นยานพาหนะที่อันตรายมาก 70-80% ของอุบัติเหตุทุกปี โดยจักรยานยนต์มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงมากกว่ารถยนต์สี่ล้อถึง 4 เท่า.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.