เที่ยว"ชมพูทวีป"ศรีลังกา ดินแดนพระพุทธเจ้า ทรงเลือก
 


เที่ยว"ชมพูทวีป"ศรีลังกา ดินแดนพระพุทธเจ้า ทรงเลือก


เริ่มภาพชุดทั้งหมด --> จบภาพชุดทั้งหมด --> เริ่มข่าวเกี่ยวเนื่อง --> จบข่าวเกี่ยวเนื่อง --> ใส่แสดงความคิดเห็นท้ายข่าว --> อ่านล่าสุด  คน--> FB COMMENT --> --> END FB COMMENT -->
 เที่ยว

คอลัมน์ บันทึกเดินทาง โดย สักกะ โพธิ




บรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ที่สิคีริยา

ประเทศศรีลังกา หรือ สาธารณรัฐสังคม นิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นเกาะขนาดเล็กด้วยพื้นที่เพียง 65,610 ตร.กม. ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย โดยมีผืนน้ำเป็นพรมแดนคั่นกับอินเดีย ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุด

ศรีลังกาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนชมพูทวีป มี เมืองแคนดี้ เมืองหลวงเก่าเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา เมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระองค์เคยเสด็จมายังเกาะแห่งนี้ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเสด็จไปทรมานยักษ์ ต่อมาเสด็จไปห้ามทัพพญานาค และครั้งสุดท้าย เสด็จพร้อมภิกษุ 500 รูป ประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติ ที่ถูปารามเจดีย์ เมืองอนุราธปุระ

สำหรับผม นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาเยือนศรีลังกา กับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 มี คุณอ๊อด-สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นำทีมศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ พอได้สัมผัสแล้วรู้สึก "ถูกใจ ใช่เลย" เพราะพุทธศาสนิกชนอยู่ในศีลในธรรม ปฏิบัติบูชาที่คนไทยอาจมองว่า "เคร่ง" แต่สำหรับชาวศรีลังกาแล้วถือเป็นเรื่อง "ปกติ" ผู้คนมีแต่รอยยิ้ม

นั่งรถบัสออกจากกรุงโคลัมโบมุ่งหน้าสู่เมืองแคนดี้ ประโยคแรกที่ได้ยินคือ อายุบวร คำทักทายเหมือนสวัสดีของบ้านเรา แม้ระยะทางจะแค่ 112 กม. แต่ด้วยสภาพถนนที่เต็มไปด้วยลูกรังและกฎหมายจำกัดความเร็ว ผมจึงใช้เวลา 4 ชั่วโมงบนรถ ทอดสายตามองแปลงนาแปลงแล้วแปลงเล่ายาวสุดลูกหูลูกตา มีภูเขาซึ่งเขียวขจีไปด้วยต้นไม้เป็นระยะๆ... ดูสบายตา

ระหว่างนั้นยังผ่านเมืองเล็กๆ หลายเมือง ที่เด่นสะดุดตาเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ตามสามแยก สี่แยกต่างๆ เหมาะสมกับตำแหน่งเมืองพุทธเสียจริง เพราะถ้าเป็นบ้านเราคงเป็นพื้นที่ของป้อมตำรวจ (ร้าง)

แท้จริงแล้วแผ่นดินนี้เงียบสงบ ทั้งที่ในเมืองจอแจไปด้วยผู้คน มีแต่รถยนต์สัญจรไปมาบนท้องถนน ไม่มีรถไฟฟ้า ไม่มีรถไฟใต้ดิน หรือทางด่วนลอยฟ้า เพราะมีต้นไม้ครองพื้นที่เต็มเมือง บนท้องถนนยังไร้วี่แวว "พี่วิน" มีเพียงรถคล้ายตุ๊กตุ๊กบ้านเราแต่ขนาดเล็กกว่า เป็นสัมปทานเดียวของศรีลังกา

พระพุทธรูปหินแกะที่ "กัลวิหาร"



ไม่น่าเชื่อว่าเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้จะเคยเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคมตะวันตกหลายชาติ ทั้งโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ

แต่วัฒนธรรมที่ปักหลักในแผ่นดินนี้แทบไม่สั่นคลอน แม้จะมีการย้ายเมืองหลวงมายังโคลัมโบโดยชาวยุโรป



เมื่อมาถึง วัดเกลานิยา (Kelaniya Temple) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า วัดกัลยาณี ก็เสียใจเป็นอย่างมาก เพราะที่แห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พระตถาคตเคยเสด็จมายังกัลยาณีเจดีย์ ตามคำอาราธนาของพญามณีอักขิกะนาคราช แล้วประทับบนบัลลังก์ทองพร้อมกับแสดงธรรมเทศนา หลังจากนั้นพญานาคจึงร่วมกันสร้างกัลยาณีเจดีย์ครอบบัลลังก์ทองไว้

ที่เสียใจ เพราะมัวแต่ทำภารกิจทางโลก จนพลาดโอกาสทำสมาธิท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อเหลือเกิน

อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะลไป แต่หากมองในแง่ดี ยังมีโอกาสได้รู้เรื่องราวและสถานที่อันเป็นประวัติศาสตร์ในพุทธประวัติของพระอรหันต์ที่เคยมีอยู่จริงในประเทศนี้

เช่นภาพจิตรกรรมด้านในวิหารที่อยู่ใกล้กับกัลยาณีเจดีย์ ซึ่งเล่าเรื่องราวและตำนานความเป็นมาของเมือง หนึ่งในภาพที่น่าสนใจเป็น ตำนานการต้มพระอรหันต์

ตอนที่ไปวัดเกลานิยา ตรงกับวันที่ชาวบ้านนำผ้าเหลืองผืนใหญ่ไปห่มรอบเจดีย์เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า มีหมู่คนตีกลองนำหน้า มังคละ ตามด้วยเครื่องบูชา ดอกไม้ และขบวนของผ้าเหลือง ซึ่งชาวบ้านที่มาสักการะอยู่ก่อนแล้วเมื่อเห็นขบวนดังกล่าวต่างรีบมาขอสัมผัสผ้าเป็นจำนวนมาก แล้วขบวนก็เดินประทักษิณ (เวียนขวา) รอบเจดีย์ ก่อนจะหยุดที่ด้านหน้า สักการะด้วยเครื่องหอมดอกไม้

นอกจากชาวศรีลังกาจะระลึกคุณของพระ

พุทธเจ้าผ่านพิธีผ้าห่มเจดีย์ ยังมีพิธีรดน้ำต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมหากใครไปวัด

เช่นที่ ถูปารามเจดีย์ สถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 และครั้งแรกในแดนลังกาใน พ.ศ.238 โดยพระมหินทเถระ มีพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นองค์ศาสนูปถัมภก สังคายนาอยู่ 10 เดือนจึงแล้วเสร็จ

เจดีย์ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา



สิ่งที่หลงเหลือจนปัจจุบันมีเพียงเจดีย์สีขาวซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2405 เสาหินบางส่วนคงสภาพเดิม บางส่วนโอนเอนไปตามกาลเวลา และซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปรอบเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาภายหลัง

นอกจากพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บรรจุในองค์เจดีย์ ยังมีเครื่องอัฐบริขารของพระพุทธเจ้าในอดีต ได้แก่ ธมกรก (กระบอกกรองน้ำ) ของพระกกุสันโธพุทธเจ้า, ประคตเอวของพระโกนาคมพุทธเจ้า และผ้าสรงน้ำของพระกัสสปพุทธเจ้าบรรจุอยู่

มั่นใจเต็มร้อย ดินแดนแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเลือกแล้วจริงๆ

หากบุญมาวาสนาส่งคงได้มานั่งสมาธิ ปฏิบัติ ธรรมที่ดินแดนนี้แน่นอน



สิ่งที่ห้ามพลาดเมื่อไปเยือนแดนลังกา คือ สักการะพระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียเมื่อ พ.ศ.914 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าศิริเมฆวรรณ ซึ่งต้องหนีจากสงครามและการตรวจค้น โดยซ่อนมาในมวยพระเกศาของพระนางเหมาลาเทวีและจากการเฝ้าอารักขาโดยพระทันตกุมาร จึงเสด็จด้วยความปลอดภัยแล้วอัญเชิญประดิษฐานที่ วัดอภัยคีรี กรุงอนุราธ

ปุระเป็นแห่งแรก

ไม่ว่าสภาพบ้านเมืองจะเป็นเช่นไร พระเขี้ยวแก้วจะถูกอัญเชิญไปทุกหนทุกแห่งเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พสกนิกรและกองทหาร ปัจจุบันประดิษฐานที่เมืองแคนดี้

แรงศรัทธาไม่ใช่มีในชาวลังกาเท่านั้น ยังหมายรวมถึงชาวพุทธทั่วโลก แม้การเข้าไปสักการะจะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องฝ่าด่านคนจำนวนมาก

รอคิวกันเป็นวันๆ แต่ความเมื่อยนั้นหายเป็นปลิดทิ้งเมื่อได้เข้าไปสักการะ แม้นานไม่เกิน 2 นาทีก็ตาม สักการะเสร็จแล้วออกมาก็เห็นท้องฟ้ามืดสนิท มีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าแลบเป็นระยะ ภาพที่ปรากฏตรงหน้าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้มากโข ...

ท้องฟ้าเหนือพระเขี้ยวแก้ว มีเมฆลอยเป็นวงกลมโดยรอบอย่างชัดเจน

ก่อนนั่งเครื่องกลับ หันไปมองรอยยิ้มของไกด์หนุ่ม ที่ส่งผ่านความจริงใจ

เชิญชวนให้ไปเยือนศรีลังกาอีกครั้ง

ต้มพระอรหันต์

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเจ้ากัลยาณิยติสสะ ครองเมืองกัลยาณี ณ ลังกาทวีป ระหว่างพุทธศักราช 237-238 ทรงมีพระอนุชาเป็นอุปราชเคยศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระกัลยาณิยะเถระ จึงมีลายมือคล้ายพระเถระ ต่อมาพระอนุชาเกิดความสิเน่หาในพระมเหสีของพระเชษฐาธิราช เมื่อความทราบถึงพระองค์ พระอนุชาจึงเสด็จหนีไป แล้วรับสั่งให้ชายคนหนึ่งปลอมตัวเป็นพระภิกษุในสำนักพระเถระติดตามพระเถระเข้าวัง พร้อมแอบซ่อนสาส์นรัก (จดหมายรัก) ไปเฝ้าพระมเหสี เมื่อพระภิกษุตัวปลอมฉันภัตตาหารแล้วลุกขึ้น ได้แอบโยนสาส์นรักให้พระมเหสี แต่บังเอิญพระราชาทอดพระเนตรเห็น และเข้าใจว่าเป็นสาส์นของพระเถระ จึงรับสั่งให้จับพระเถรโยนใส่กระทะน้ำมันที่เดือดพล่าน

ขณะที่พระเถระถูกโยนลงกระทะ มีแก้วอินทนิลผุดขึ้นมาจากน้ำมันเป็นที่นั่งรองรับ พระเถระรูปนั้นได้เจริญวิปัสสนาจนบรรลุอรหัตผล เพื่อได้พิจารณากรรมเก่าของตนจึงทราบว่าในชาติก่อนเคยเป็นเด็กเลี้ยววัวและได้โยนแมลงวันตัวหนึ่งลงไปในน้ำนมที่เดือดพล่าน ครั้งนี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกรรมได้ ท่านจึงกล่าวคาถาเพื่อสั่งสอนเวไนยสัตว์มิให้มัวเมาประมาท ก่อนที่จะปรินิพพาน จากนั้น พระราชารับสั่งให้ประหารชีวิตพระเถระและบุรุษนั้นเสียแล้วให้โยนศพทิ้งทะเล

ต่อมา พุทธศาสนิกชนจึงสร้างวิหารเพื่อเป็นอนุสรณ์ รำลึกถึงพระเถระผู้เป็นอรหันต์ ณ สถานที่ตั้งกระทะน้ำมัน และจากการที่ท่านกล่าวคาถาในกระทะน้ำมัน วิหารจึงมีชื่อว่า เตลกฏาหคาถา แปลว่า บทร้อยกรองที่กล่าวในกระทะน้ำมัน

หน้า 13 มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2557

Start ADS Google Adsense 468x60-->





mc_468x60_slot1_other -->


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.